เปลือกตากระตุก อาจไม่ใช่แค่ความรำคาญ

เปลือกตากระตุก อาจไม่ใช่แค่ความรำคาญ

เวลาที่รู้สึกว่าเปลือกตากระตุกหลายคนมักไม่คิดอะไร เพราะเป็นไม่นานก็หาย ซึ่งเปลือกตากระตุกสามารถบอกโรคได้เช่นกัน จึงควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากกระตุกถี่เกินไปบ่อยเกินไปอาจบอกความผิดปกติที่ไม่คาดคิดได้ 

รู้จักเปลือกตากระตุก

อาการเปลือกตากระตุก (Eyelid Twitching) เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อเปลือกตาเกิดการเกร็งกระตุก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง ส่วนใหญ่จะเป็นที่เปลือกตาบน มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง และหากมีการกระตุกของส่วนอื่น ๆ บนใบหน้า อาจเป็นสัญญาณบอกโรคได้


เปลือกตากระตุกบอกความผิดปกติ

อาการเปลือกตากระตุกสามารถแยกออกเป็นโรคที่มีอาการแสดงและสาเหตุแตกต่างกันออกไป ได้แก่

  • กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น (Eyelid Myokymia)
  • กล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก (Blepharospasm) 
  • กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm) 

กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น

กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น (Eyelid Myokymia) คือ ภาวะที่เปลือกตามีอาการเต้นหรือกระตุก เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยมีอาการเต้นหรือกระตุกเฉพาะบริเวณเปลือกตา ส่วนมากจะเป็นเพียงข้างเดียว พบว่าเกิดกับเปลือกตาล่างบ่อยกว่าเปลือกตาบน อาการมักเป็นสั้น ๆ และหายเองได้ในเวลาไม่กี่วินาทีหรือเป็นชั่วโมง แต่บางครั้งอาจมีอาการนานหลายสัปดาห์ได้

สาเหตุของโรค

สาเหตุของกล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้กล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น อาทิ

  • ความเหนื่อยล้า
  • ความเครียด
  • ความวิตกกังวล
  • การดื่มคาเฟอีน
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การออกกำลังกาย
  • การสูบบุหรี่
  • อาการระคายเคืองตา
  • แสงจ้า
  • ลมหรือมลภาวะทางอากาศ
  • ยาบางชนิด เช่น Topiramate, Clozapine, Gold Salts, Flunarizine ฯลฯ

นอกจากนี้โรคทางระบบประสาทบางอย่างอาจทำให้เกิดภาวะเปลือกตากระตุกได้ แต่ส่วนใหญ่จะมีอาการทางระบบประสาทอื่นร่วมด้วย เช่น Demyelinating Diseases, Autoimmune Disease, Brainstem Pathology ฯลฯ

อาการต้องพบแพทย์

ส่วนใหญ่แล้วกล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่นมักจะหายได้เองถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว 

  • ตาเขม่นไม่หายเป็นเวลานาน 2 – 3 สัปดาห์
  • ตาเขม่น ทำให้ลืมตายากหรือตาปิด
  • มีการกระตุกบริเวณอื่นของใบหน้าหรือร่างกายร่วมด้วย
  • ตาแดงหรือมีขี้ตา
  • เปลือกตาตก

รักษากล้ามเนื้อเปลือกตาเขม่น

  • ส่วนมากสามารถหายเองได้ โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ 
  • หากเป็นมากจนรบกวนชีวิตประจำวันหรือนานเกิน 3 เดือน อาจพิจารณาให้รักษาด้วยการฉีด Botulinum Toxin

 

 

กล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก

กล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก (Blepharospasm) คือ ภาวะที่กล้ามเนื้อเปลือกตาหดตัวผิดปกติ ทำให้กะพริบตาบ่อยขึ้น หลับตาทั้งสองข้างโดยไม่ได้ตั้งใจ มักเริ่มจากอาการกล้ามเนื้อเปลือกตากระตุกเล็กน้อย และอาการค่อย ๆ เป็นมากขึ้น จนอาจรบกวนการมองเห็น เนื่องจากไม่สามารถลืมตาได้ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักพบในช่วงอายุ 40 – 60 ปี

สาเหตุของโรค

สาเหตุกล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุกยังไม่ทราบแน่ชัด อาจมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรมในบางรายอาจมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานผิดปกติของสมองส่วน Basal Ganglia 

ปัจจัยกระตุ้นโรค 

ปัจจัยที่อาจกระตุ้นกล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก ได้แก่

  • อุบัติเหตุที่ศีรษะหรือใบหน้า
  • ประวัติครอบครัวที่มีโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น Dystonia, Tremor ฯลฯ
  • Reflex Blepharospasm จากโรคทางตา เช่น ตาแห้งเปลือกตาอักเสบตาอักเสบภาวะไวต่อแสง ฯลฯ
  • มีสิ่งระคายเคืองเยื่อหุ้มสมอง 
  • ภาวะเครียด
  • ผลจากยา เช่น กลุ่มยารักษาโรคพาร์กินสัน ฯลฯ
  • การสูบบุหรี่
  • พบได้ในโรคการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น  เช่น Tardive Dyskinesia, Generalized Dystonia, Wilson Disease, และ Parkinsonian Syndromes 

รักษากล้ามเนื้อเปลือกตาเกร็งกระตุก

  • รักษาปัจจัยที่กระตุ้น Reflex Blepharospasm ได้แก่ การใช้น้ำตาเทียมการรักษาเปลือกตาอักเสบการใช้แว่นตาดำ โดยเฉพาะชนิด FL-41 ฯลฯ
  • กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ กลุ่มยานอนหลับ
  • การฉีด Botulinum Toxin  มักให้ผลการรักษาที่ดี 
  • การผ่าตัด เฉพาะในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการฉีด Botulinum Toxin 

 

กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก

กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก (Hemifacial Spasm) คือ ภาวะที่มีการกระตุกของกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก มักพบในช่วงอายุ 50 – 60 ปี และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อาการมักเริ่มที่เปลือกตาก่อนแล้วค่อย ๆ เป็นมากขึ้น โดยมีอาการกระตุกที่แก้มและริมฝีปากด้านเดียวกัน อาการกระตุกนี้ไม่สามารถควบคุมได้ เมื่อโรครุนแรงขึ้นจะมีอาการกระตุกเกือบตลอดเวลา อาจพบอาการกระตุกขอบใบหน้าอีกฝั่งได้ แต่พบน้อยมาก และจะมีอาการกระตุกไม่พร้อมกัน 

ปัจจัยกระตุ้นโรค

อาการใบหน้ากระตุกอาจถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยต่าง ๆ อาทิเช่น 

  • การเคลื่อนไหวใบหน้า
  • ความวิตกกังวล
  • ความเครียด
  • ความเหนื่อยล้า
  • ฯลฯ

ประเภทของโรค

กล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. Primary Hemifacial Spasm คือ การที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 โดนกดทับจากเส้นเลือดบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดความผิดปกติของการควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและเปลือกตา
  2. Secondary Hemifacial Spasm พบได้น้อยกว่า Primary Hemifacial Spasm บางครั้งอาจไม่ทราบสาเหตุ และพบว่าบางรายมีประวัติครอบครัวร่วมด้วย โดยอาจเกิดจาก
    • เส้นเลือดแข็งตัว (Atherosclerosis)
    • เส้นเลือดผิดปกติ (Arteriovenous Malformation)
    • เส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm)
    • เนื้องอกของต่อมน้ำลาย
    • เนื้องอกที่บริเวณ Cerebellopontine Angle
    • การบาดเจ็บของเส้นประสาทคู่ที่ 7
    • รอยโรคของก้านสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทอักเสบ และ Bell’s Palsy

ตรวจวินิจฉัยโรค

  • ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  • การตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจสมองและเส้นประสาทสมองด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ฯลฯ

รักษากล้ามเนื้อใบหน้าเกร็งกระตุกครึ่งซีก

  • กลุ่มยากันชัก อาจช่วยลดอาการได้บ้างในบางราย
  • การฉีด Botulinum Toxin 
  • การผ่าตัด Microvascular Decompression ในกรณีที่มีเส้นเลือดกดทับเส้นประสาท

 

แม้อาการเปลือกตากระตุกสามารถหายได้เอง แต่อย่านิ่งนอนใจ หากมีอาการเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน มีอาการผิดปกติของดวงตาที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็ว

 

 

ที่มา : https://www.bangkokhospital.com/content/eyelid-twitching

 

 

Visitors: 1,409,241