ลดความอ้วนจะเป็นเรื่องกล้วยๆ? นักวิจัยพบเทคนิคลดความอ้วนใหม่ ให้เหงื่อไหลออกมาเป็นไขมัน
. มีคำกล่าวกันว่า “ความจำเป็นนั้นเป็นต้นกำเนิดแห่งนวัตกรรม” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้ามาดูในโลกของการรักษาโรคด้วยยา สิ่งที่ “ปฏิวัติ” สุขภาพของมนุษย์ครั้งแล้วครั้งเล่ามันเกิดจากความบังเอิญทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการพบ “ยาปฏิชีวนะ” จากการบังเอิญพบว่า “เชื้อรา” มีฤทธิ์ในการต้าน “เชื้อแบคทีเรีย” หรือการค้นพบ “ไวอะกรา” จากการพยายามพัฒนายาลดความดัน . และล่าสุด “เหตุบังเอิญ” ก็ดูจะทำให้มนุษย์ค้นพบยาใหม่ ที่แก้ปัญหาร่วมสมัยสุดคลาสสิคอย่าง “ความอ้วน” . การลดความอ้วนไม่ใช่เรื่องง่าย . แม้ว่า “ความอ้วน” จะเป็นปัญหาใหญ่ของปัจจุบัน แต่การลดความอ้วนก็เป็นเรื่องยากลำบาก และมันไม่ได้มีวิธีง่ายๆ วิธีเดียว มิเช่นนั้นพวกสูตรลดความอ้วนเป็นสิบๆ ก็คงไม่สามารถยืนยงคงกระพันมาได้ถึงตอนนี้ หรือกระทั่ง “ยาลดความอ้วน” ถ้ามันมีตัวเดียวและได้ผลเน้นๆ มันก็คงจะมีแค่นั้น แต่ยิ่งผ่านวันเวลา ยาลดความอ้วนตัวใหม่ก็โผล่มาเรื่อยๆ . ปัญหาคือมัน “ไม่มี” หรือให้ตรงกว่าคือมัน “ไม่มีวิธีง่ายๆ” ในการลดความอ้วน . เพราะแม้ว่าทุกคนจะรู้ว่าการลดความอ้วนในทางวิทยาศาสตร์ก็แค่บีบให้ร่างกายเอาไขมันมาใช้ ยังไงก็ผอม แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ใช่ง่ายๆ และการทำแบบนั้น ถ้าทำซี้ซั้ว ก็มีความเสี่ยงจะทำให้ร่างกายรวน และมันไม่มียาอะไรที่วิทยาศาสตร์รับรองว่าจะช่วยในการทำให้ร่างกายเอาไขมันมาใช้เพิ่มขึ้นด้วย และมันก็ต้องกลับไปที่การ “ควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม” หรือถึงที่สุด ก็อาจต้องผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ . แต่แล้ว “ความบังเอิญ” ก็เกิดขึ้น . หลั่งไขมันทางรูขุมขน การค้นพบยาลดความอ้วนแบบใหม่ . เรื่องมีอยู่ว่า นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง กำลังพัฒนายาโรคเบาหวาน และพวกเขามีสมมติฐานว่าถ้าฉีดโปรตีนตัวหนึ่งเข้าไปในร่างกายมนุษย์ มันจะไปช่วยบรรเทาความเสียหายจากเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ ซึ่งก็แน่นอน นี่อยู่ในขั้นทดลอง และพวกเขาก็ทดลองในหนูเพื่อจะหาผลของการฉีดโปรตีนที่ว่าในระดับพื้นฐานก่อนจะไปทดลองในมนุษย์ . แต่พวกเขาก็ต้องประหลาดใจ ที่พวกหนูทดลองได้รับยาไปแล้วตัวเปียกชุ่มแบบเหงื่อออกท่วม ซึ่งเขาก็งงว่า ทำไมพวกหนูถึงเปียก เพราะหนูไม่เหมือนคน พวกมันไม่มี “เหงื่อ” ออกทางรูขุมขนในภาวะปกติ เพราะมันระบายความร้อนออกทางอื่น
ดังนั้นสิ่งที่เห็น มันไม่ใช่ “เหงื่อ” แน่ๆ . ทีนี้พอไปลองจับดู พบว่าไอ้สิ่งที่ดูเหมือน “เหงื่อ” ของหนูกลับมีเนื้อสัมผัสมันๆ เขาก็สงสัยว่าไอ้มันๆ นี่คืออะไร เลยเอาสารมันๆ ที่ว่าไปทดสอบ ซึ่งผลก็ออกมาว่า สารมันๆ นี่ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจาก “ไขมัน” และมันคือไขมันจากตัวพวกหนูเอง . และที่งงกว่านั้นก็คือ พวกหนูที่ได้รับสารไป มันผอมลง คือมันกลายเป็นว่าพวกหนูหลั่งน้ำมันออกมา และมันทำให้ไขมันที่สะสมในส่วนต่างๆ ของร่างกายถูกขับออกมาทางรูขุมขนจำนวนมาก จนกระทั่งหนู “ผอม” ในที่สุด . กล่าวอีกแบบ นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ค้นพบ “ยาลดความอ้วน” ที่น่าจะใช้ได้จริงโดยบังเอิญ . อวสานยาลดความอ้วนแบบเก่าๆ . จากการวิจัยเพิ่ม พบว่าโปรตีนตัวที่ว่านั้น เอาจริงๆ มันไปกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก่อน . คือรูขุมขนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมาก แม้ว่ามันจะไม่มี “เหงื่อ” แบบมนุษย์ แต่รูขุมขนมันสามารถหลั่ง “ไขมัน” ออกมาได้ ซึ่งไขมันที่ว่านี้ หลักๆ มันคือส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ที่เอาไว้ป้องกัน “เชื้อโรค” หรือเอาไว้ผลักดันพวกเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายทางรูขุมขนออกไป และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไม “ขน” ของพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมถึงมี “ความมัน” . นี่คือกลไกพื้นฐาน โปรตีนที่พวกนักวิทยาศาสตร์ทดลองฉีดไปในหนูจริงๆ คือมันไปกระตุ้นการหลั่งไขมันได้หนักขึ้นมากๆ เท่านั้นเอง . และพอหนักขึ้นถึงขั้น มันก็บีบให้ร่างกายเอาไขมันจากส่วนต่างๆ มาใช้ทำงานในระบบภูมิคุ้มกัน และผลสุดท้ายก็คือ ไขมันทั้งร่างกายของหนูก็ลดลง . การค้นพบนี้น่าตื่นเต้นมาก เพราะถ้าโปรตีนตัวนี้ใช้ได้ผลอย่างเดียวกับหนู มันก็แทบจะหมายความว่าเราได้ค้นพบ “ยาลดความอ้วน” แบบ “ตัวเดียวจบ” ระดับปิดตำนาน “ยาลดความอ้วน” สารพัดในประวัติศาสตร์ที่ประสิทธิภาพต่ำกว่า ไม่ได้ต่างจากการเกิดขึ้นของ “ไวอะกรา” นั้นทำให้มนุษย์เลิกค้นหาตำรับสมุนไพรอะไรที่จะฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศเลย เพราะยาตัวนี้ตัวเดียวจบ ได้ผลชัดเจนกว่ายาแผนโบราณใดๆ . แต่ก็นั่นแหละครับ เรื่องนี้ยังอีกไกล เพราะปกติ การทดลองยา เขาทดลองกันเป็นสิบปีกว่าจะเอาออกมาใช้จริงได้ . แต่ “เหตุบังเอิญ” ที่ว่านี้ ก็เรียกได้ว่าน่าสนใจจริงๆ เพราะนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของมนุษยชาติที่พยายามจะพัฒนามารักษาโรคหนึ่งแต่ล้มเหลว สุดท้ายมันดันสามารถไปรักษาอีกโรคได้ อ้างอิง: IFLS. Scientists Accidentally Discover Weight Loss Therapy After Mice Start Sweating Fat From Their Skin. https://bit.ly/3jTb696 . #Fat #Skin #BrandThink #CreateaBetterTomorrow
ที่มา : @brandthink.me https://www.instagram.com/p/CgoeC9aPpdo/
|