ยิ่งรถติดยิ่งซึมเศร้า?การศึกษาใหม่ชี้ เชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าด้วย

ยิ่งรถติดยิ่งซึมเศร้า? ใช้เวลาเดินทางไปทำงานนานๆ ไม่ได้ส่งผลเสียแค่สุขภาพกาย การศึกษาใหม่ชี้ เชื่อมโยงกับภาวะซึมเศร้าด้วย

รุ่งเช้าวันจันทร์ ตกเย็นวันศุกร์ คล้ายจะเป็นเวลาทองของการจราจรที่ติดขัด รถยนต์หนาแน่นในหลายพื้นที่ ทำให้การเดินทางแต่ละวันช่างยาวนานเสียเหลือเกิน จนส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ใช้ชีวิตวุ่นวาย แทบจะไม่มีเวลาออกกำลังกาย น้ำหนักเกิน นอนหลับไม่มีคุณภาพ

ขณะที่จากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า การนั่งอยู่ในรถยนต์ ส่งผลต่อความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งไม่ได้เกิดจากความหงุดหงิด ทว่ามีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศที่สูดดมเข้าไป

ทว่าการศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Transport & Health นำโดย ดร.อี ดง-วุก (Dr. Lee Dong-wook) ศาสตราจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอินฮา ได้พบความเชื่อมโยงระหว่าง ‘การเดินทาง’ กับ ‘สุขภาพจิต’ ด้วย

เขาได้ทำการศึกษาดังกล่าว โดยสำรวจกับชาวเกาหลีใต้จำนวนมากกว่า 23,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี มาร่วมกันตอบคำถามตามดัชนีความเป็นอยู่ที่ดีขององค์การอนามัยโลก (WHO) จากนั้นจะมีทีมนักวิจัยมาวัดผลโดยการให้คะแนนสุขภาพจิต 

ผลปรากฏว่า คนที่เดินทางไป-กลับจากที่ทำงานยาวนานกว่า 1 ชั่วโมง มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตที่ไม่ดี หรือมีภาวะซึมเศร้า ‘มากกว่า’ คนที่เดินทางน้อยกว่า 30 นาที ถึง 16 เปอร์เซ็นต์

แม้การศึกษานี้จะไม่แสดงสาเหตุและผลกระทบที่ชัดเจน แต่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเดินทางกับสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับผู้ชายโสด ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก และทำงานเป็นเวลานานๆ ขณะเดียวกันการเดินทางนานๆ มีความสัมพันธ์อย่างมากกับกลุ่มผู้หญิงที่มีรายได้น้อย คนทำงานเป็นกะ และคนที่มีลูก

ทีมวิจัยกล่าวว่า เมื่อมีเวลาว่างน้อยลง ทำให้ผู้คนอาจไม่มีเวลาผ่อนคลายความเครียด และต่อสู้กับความเหนื่อยล้าทางร่างกาย จากการพักผ่อนที่เพียงพอ จากการทำงานอดิเรก ทำกิจกรรมอื่นๆ ตลอดจนการออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเหตุที่อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม การสำรวจข้างต้นแม้จะวิเคราะห์จากอายุ ชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์ รวมถึงอาชีพ การทำงานเป็นกะ อันถือเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตแต่ละคนแล้ว ทว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายอย่างสำหรับอาการซึมเศร้า เช่น ประวัติและสถานการณ์ครอบครัว ที่ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาร่วม อีกทั้งไม่ได้ระบุรูปแบบการเดินทางของพวกเขาที่ชัดเจนไว้ด้วย 

จึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนต่อไป เนื่องจากผลการศึกษาในปี 2018​ ที่ทำการสำรวจผู้คนจำนวนเกือบ 4,500 คน ในสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางจากขับรถ มาเป็นการขี่จักรยานหรือการเดิน สามารถช่วยเรื่องสุขภาพจิตของพวกเขาให้ดีขึ้นได้

แท้จริงแล้วยังคงมีข้อดีบางประการที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินทางระยะไกล เช่น บางคนอธิบายว่าการเดินทางกลับบ้านอันแสนไกล ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการปิดคอมพิวเตอร์ หรือได้เลิกงาน สุดท้ายนี้ทางทีมวิจัยก็ได้กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า “การลดเวลาและลดระยะทางในการเดินทาง อาจช่วยปรับสภาพจิตและสุขภาพใจของพวกเราได้”

อ้างอิง

 

ที่มา : https://www.brandthink.me/content/trafficjam-mental-health

 

Visitors: 1,409,246