เราไม่ได้อ้วนอยู่คนเดียว เมื่อความอ้วนมาพร้อมกับโรคระบาด

เราไม่ได้อ้วนอยู่คนเดียว เมื่อความอ้วนมาพร้อมกับโรคระบาด

ทุกคนพูดเหมือนกันหมด “หมู่นี้อ้วนขึ้นอะ”

 

จริงๆ ไม่มีอะไรแปลกที่เราจะอ้วนขึ้นอันเป็นผลกระทบทางอ้อมของภาวะโรคระบาดในตอนนี้ บทสนทนาที่เราได้ยินบ่อยๆ คือหมู่นี้อ้วนขึ้นอะ เสียงบ่นที่มาพร้อมกับอาการทั้งกางเกงที่คับขึ้น น้ำหนักบนตาชั่งที่ค่อยๆ เพิ่ม เพื่อนฝูงครอบครัวที่บ่นกันทุกวัน ไปจนถึงถ้าเราออกไปข้างนอกเราก็จะเริ่มเห็นว่าผู้คนมีอาการท้วมขึ้นกันบ้าง

 

หลังจากโควิดเริ่มซา หลายประเทศเช่นอังกฤษและสหรัฐฯ เองก็เริ่มมีรายงานปัญหาด้านสุขภาพอันเป็นประเด็นต่อเนื่องก็คือ ประชาชนมีภาวะอ้วนมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยรายงานตัวเลขเรื่องการอ้วนขึ้นจากการล็อกดาวน์หรือโรคระบาดดูจะเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั่วโลกและเป็นประเด็นที่เมืองใหญ่ทั้งหลายต้องจัดการดูแลสุขภาพของประชากรต่อไป

ที่อังกฤษมีรายงานว่า 40% หรือเกือบครึ่งของประชากรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นราว 3 กิโลกรัม ในขณะที่รายงานเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน (APA) รายงานตัวเลขใกล้เคียงกับอังกฤษ คือ พบว่าประชากรผู้ใหญ่ราว 42% ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่ทางอเมริกาค่อนข้างขึ้นหนักกว่าหน่อยคือน้ำหนักพุ่งเฉลี่ย 29 ปอนด์ หรือราว 13 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะพอสมควร แน่นอนว่าภาวะอ้วนอาจสัมพันธ์กับความรุนแรงของอาการหากติดโควิดและอาจนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่นๆ โดยนอกจากความอ้วนในผู้ใหญ่แล้ว ในเด็กเองก็มีรายงานภาวะอ้วนอันเกิดจากการเรียนออนไลน์และการเข้าไม่ถึงอาหารสุขภาพด้วยเช่นกัน

ก่อนอื่นต้องบอกว่าความอ้วนอาจเป็นเรื่องน่ากังวล แต่เวลาที่เรานึกถึงการ ‘ลดความอ้วน’ เราอาจจะมีความรู้สึกรุนแรงกับตัวเอง มีความพยายามในการลดเพราะลึกๆ คิดว่าเรานี่มันไม่ได้เรื่อง แต่ในจุดนี้ ท่ามกลางการระบาดของโลกและภาวะอ้วนนั้นถือเป็นผลกระทบที่เราเองบอบช้ำจากโลกและโรคระบาด ดังนั้น เราอาจจะคำนึงเรื่องความอ้วน แต่ก็เป็นช่วงเวลาไม่ต้องโหดร้ายกับตัวเองนัก ค่อยเป็นค่อยไป ดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพเพื่อรอวันโรคซาและกลับออกไปใช้ชีวิตอีกครั้ง

 

 

 

ติดอยู่กับบ้าน ความเครียด และกางเกงหลวมๆ สาเหตุเบื้องต้นของรอบพุง

จริงๆ เรื่องความอ้วน การอ้วนขึ้นเป็นเรื่องที่เราพอรู้แหละเนอะ ทำงานอยู่บ้าน ออกไปไหนไม่ได้ นั่งๆ นอนๆ ไปตู้เย็นบ้าง หน้าจอบ้าง แต่อันที่จริงนอกจากข้อจำกัดทางกายภาพแล้ว ภาวะล็อกดาวน์ยังส่งผลต่ออารมณ์ ต่อความเครียด และความเครียดก็ทำให้พฤติกรรมการกินของเราเปลี่ยนไป ของที่ดีต่อใจก็มักไม่ค่อยดีกับสุขภาพของเราเท่าไหร่ทั้งมันทอด ขนมหวาน โดนัท ชาไข่มุก การบริโภคน้ำตาลเป็นกระบวนการพื้นฐานที่ร่างกายใช้รับมือกับความเครียดอย่างรวดเร็ว

ในรายงานฉบับละเอียดของมหาวิทยาลัย King’s College นอกจากจะพบว่าคนเกือบครึ่ง (48%) ของกลุ่มตัวอย่างกว่าสองพันคนรายงานว่าตัวเองน้ำหนักขึ้นในช่วงล็อกดาวน์ โดยกลุ่มตัวอย่างระบุว่าพวกเขารู้สึกกังวลและรู้สึกดาวน์มากกว่าปกติ 29% รายงานว่าตัวเองดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น

ประเด็นหนึ่งของโควิดคือทำให้เราเห็นปัญหาที่เคยแฝงอยู่ชัดเจนมากขึ้น ความอ้วนเองก็สัมพันธ์กับประเด็นเรื่องสุขภาพ และในอาการอ้วนขึ้นช่วงโควิดนั้นในรายงานของสมาคมจิตแพทย์อเมริกันระบุว่า กลุ่มคนที่ค่อนข้างเปราะบางหรือเป็นกลุ่มชายขอบของสังคม เช่น กลุ่มคนผิวดำ กลุ่มลาตินอเมริกัน และกลุ่มที่มากจากชุมชนผู้มีรายได้น้อยมีแนวโน้มอ้วนขึ้นมากกว่า สาเหตุคือคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า มีความเครียดสูงกว่า เข้าถึงอาหารที่ดียากกว่า มีแนวโน้มจะได้รับอาหารที่ไม่ดีกับสุขภาพ เช่น junk food ในขณะที่อาหารสุขภาพเช่นผักผลไม้สดนั้นหายากและมีราคาแพง คนกลุ่มนี้มักเป็นบุคลากรที่ยังต้องทำงานอยู่ ต้องทำงานมากขึ้น รวมทั้งชุมชนที่อาศัยนั้นกลับมีพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะน้อยกว่า

นอกจากการอยู่บ้าน กินอาหารแก้เครียดแล้ว การอยู่บ้านเป็นหลักทำให้เรามักจะใส่เสื้อผ้าหลวมๆ กางเกงเอวยืด รวมถึงการแต่งตัวออกไปนอกบ้านที่น้อยลง พอแต่งอีกทีก็ใส่ไม่ได้แล้ว ถึงจุดนั้นหลายคนก็ปล่อยเลยตามเลย ใส่กางเกงยืดออกจากบ้านเป็นหลักไปซะเลย

 

 

 

ใจดีกับตัวเอง ค่อยเป็นค่อยไป และมองไปสู่อนาคต

หมู่นี้อ้วนขึ้นนะ เป็นคำที่แบบร้าวราน ส่วนหนึ่งคือความอ้วนมันมีรอยแผลและอคติบางอย่างที่แม้แต่เราเองก็รับความรอยแผลนั้นเอาไว้ เวลาใครทักเราว่าอ้วน หรือเรารู้สึกว่าเราอ้วนขึ้น นัยนึงมักมากับนัยว่าทำไมแกปล่อยตัว ไม่ดูแลตัวเอง ไปทำอะไรมา เอาแต่กิน ทำไมไม่ออกกำลังกาย

ในความรู้สึกผิดนั้น เวลาที่เราอยากจจะจัดการกับความอ้วนจึงมักมีลักษณะเหมือนกับการกลับไปแก้ไขข้อผิดพลาด—คือความอ่อนยวบของชีวิต รวมถึงภาพของความผอม ความสุขภาพที่รายล้อมเราผ่านสื่อ คนผอมเป๊ะเขากินน้ำแร่ กินอะไรนิดๆ หน่อยๆ กินสลัดผัก อกไก่ เขาไม่กินโดนัท ไก่ทอด ชานมกัน เขามีวินัย ดังนั้นการลดน้ำหนักหลายครั้งจึงมีจุดมุ่งหมายที่ค่อนข้างเป็นเชิงลบ ต้องกินให้น้อยลง ต้องวิ่งให้เยอะขึ้น

ซึ่งผลที่ได้มักจะไปทางตรงกันข้าม ยิ่งเฆี่ยนตีตัวเองก็ยิ่งแย่ ยิ่งไดเอตยิ่งอยาก ยิ่งฝืนตัวเองออกกำลังยิ่งทรมาน หรืออาจจะทำให้ร่างกายบาดเจ็บ

ดังนั้นในจุดนี้การปรับมุมมองต่อร่างกาย ต่อสุขภาพ จึงเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ โดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ต้องโอบกอดตัวเองก่อนว่า ชีวิตเรามันเปลี่ยนหนักมาก เราเจอความเครียด เราอาจจะไม่ต้องไปโฟกัสเรื่องตัวเลขบนตาชั่ง แต่กลับมาดูว่า โอเค มันล็อกดาวน์ พฤติกรรมเราเปลี่ยน เรากำลังเครียดนะ และเราก็ค่อยๆ ปรับวิธีการใช้ชีวิตเพื่อไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้น เตรียมร่างกายไว้ในวันที่ชีวิตปกติกลับมา เราจะต้องกลับไปเฉิดฉายอีกครั้ง

ประเด็นเรื่องสุขภาพในแง่การควบคุมน้ำหนักมีหลักไม่กี่ข้อ การกินและออกกำลังกาย นักโภชนาการเช่น Priya Tew แนะนำผ่าน BBC ว่าการปรับมุมมองเชิงลบเช่นการพยายามอดอาหารบางประเภท เช่นการตั้งมั่นว่าจะไม่กินขนมเค้ก อาจจะทำให้เรายิ่งอยากกินเค้ก เราอาจอดเค้กได้แต่สุดท้ายความอยากก็ทำให้เรากลับไปกินอย่างอื่นแทนเค้กอยู่ดี ดังนั้นจากการอด จึงแนะนำให้มองในเรื่องการเพิ่ม เช่นเราอาจจะบอกว่าเราอยากสุขภาพดีขึ้น เราจะเพิ่มผักลงในมื้ออาหาร คัดเลือกผลไม้ที่ดีที่น้ำตาลน้อยเพิ่มขึ้น กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนและโปรตีนเยอะขึ้น ในที่สุดเราก็จะกินของอ้วนๆ น้อยลงโดยปริยายนั่นเอง

ส่วนการออกกำลังกาย เราอาจจะแค่ปรับตารางชีวิต ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเราอาจจะใช้เกณฑ์พื้นๆ เช่นการนับก้าวว่าเดินให้ถึงหมื่นก้าว อาจจะปรับเวลาออกไปเดินออกกำลังกายรับแสงแดดเช้าเย็นเบาๆ เน้นทำงานบ้านหรือกิจกรรมที่ได้เหงื่อบ้างทีละเล็กละน้อย

 

 

เด็กๆ กับปัญหาความอ้วน และเมืองที่มองเห็นก่อน

ในขณะที่บ้านเรายังคงมีปัญหาว่าจะหยุดเรียนไหม และเด็กๆ ยังไม่มีวี่แววจะได้กลับไปโรงเรียน ในหลายประเทศที่รายงานปัญหาเรื่องภาวะอ้วนก็มีรายงานและข้อกังวลเพิ่มเติมว่า ภาวะอ้วนนั้นกำลังเกิดขึ้นกับเด็กๆ ด้วย ที่อังกฤษมีความกังวลว่าภาวะอ้วนในเด็กกำลังกลายเป็นวิกฤติ และอาจทำให้เกิดผลทางสุขภาพและทางสังคมตามมา ในขณะที่ตัวเลขจากการสำรวจเคสในเครือข่ายโรงพยาบาลเด็กของเมืองฟิลาเดลเฟียก็พบว่ามีตัวเลขกลุ่มภาวะโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้นจาก 13.7% เป็น 15.4% และพบว่ากลุ่มลาตินอเมริกันและคนผิวดำและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มอ้วนขึ้นมากที่สุด

แน่นอนว่าการหยุดเรียนหรือการเรียนออนไลน์ส่งผลกับสุขภาพทั้งกายและใจของเด็ก เด็กๆ เสียโอกาสในการทำกิจกรรมทางร่างกายอย่างที่เคยทำในโรงเรียน ไม่ได้ออกไปเล่นอย่างที่เคย และรวมถึงความเครียดที่เด็กๆ เองก็เผชิญกับภาวะเครียดไม่ต่างกับผู้ใหญ่ และบางครั้งรุนแรงกว่าเพราะหลายครั้งเราอาจมองข้ามเครื่องความเครียดในเด็กไป

 

นอกจากเรื่องกิจกรรมแล้ว ในหลายประเทศ โรงเรียนมักเป็นพื้นที่สำคัญที่เด็กๆ จะได้รับการส่งเสริมด้านสุขภาพ หนึ่งในนั้นคือเด็กๆ จะได้รับอาหารที่ดีกับสุขภาพที่โรงเรียน ในทางกลับกันเมื่อเด็กๆ ต้องอยู่บ้าน ผู้ปกครองโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้น้อย หรือบางครอบครัวผู้ปกครองไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ทำให้เด็กๆ ไม่ได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และนำมาซึ่งภาวะอ้วนในท้ายที่สุด

ในหลายเมืองใหญ่เมื่อมีการล็อกดาวน์ เมืองเหล่านั้นก็มองเห็นว่าการล็อกดาวน์ส่งผลในประเด็นเล็กๆ เช่นการเข้าถึงอาหารที่ดีของเด็กๆ และเมืองก็มีหน้าที่อุดรอยรั่วนั้นๆ ที่ยุโรปมีโครงการร่วมซึ่งผู้เข้าร่วมเป็นเมืองใหญ่ทั่วโลกกว่า 200 เมืองเข้าร่วมในข้อตกลงชื่อ Milan Urban Food Policy Pact คือเป็นข้อตกลงว่าทุกเมืองจะส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร

ในทุกๆ ปีทางภาคีเมืองก็จะมีการประชุมกันแล้วก็ให้รางวัล เหมือนแนะนำว่านี่คือแนวทางการจัดการอาหารที่ดีนะ ล่าสุดก็ว่าด้วยการรับมือกับโควิดเป็นหลักว่าแต่ละเมืองดูแลเรื่องอาหารและสุขภาวะของผู้คนในช่วงโรคระบาดยังไง ที่น่าสนใจคือมีหลายเมืองที่ได้รับการยกเป็นกรณีศึกษา พุ่งเป้าไปที่ประเด็นอาหารของเด็กๆ ในช่วงล็อกดาวน์ หลายเมืองมองเห็นปัญหาตั้งแต่ช่วงต้นของการปิดเมืองว่าเด็ก โดยเฉพาะครอบครัวที่มีรายได้น้อยจะมีปัญหากับการเข้าถึงอาหารสุขภาพ

 

เรื่องการมองสถานการณ์นี้ไม่ต้องมองไปไหนไกล กรุงโซลเป็นเมืองที่มองเห็นปัญหาเรื่องการขาดอาหารและวัตถุดิบที่อย่างรวดเร็ว ทางเทศบาลกรุงโซลเห็นว่าล็อกดาวน์แล้วจะเข้าถึงอาหารที่ดียาก ดังนั้นโซลเลยจัดกล่องอาหารสุขภาพพวกผักผลไม้วัตถุดิบสดๆ ส่งถึงบ้านโดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางต่างๆ โดยสำหรับเด็กๆ กรุงโซลพบว่าเด็กๆ ที่มาจากครอบครัวยากจนมีแนวโน้มจะกินผลไม้น้อยกว่าเด็กทั่วๆ ไป ทางเมืองก็อยากส่งเสริมการกินผลไม้ ในช่วงโรคระบาดเมืองจะส่งกล่องผลไม้ตัดแต่งให้กับเด็กๆ โดยจะส่งให้สัปดาห์ละสองครั้งเพื่อให้เด็กๆ ได้กินผลไม้สดเพิ่มขึ้น

นอกจากโซลแล้วเมืองเช่นเซี่ยงไฮ้ก็ทำ โดยในยุโรปเองเช่นที่ริกาเมืองหลวงของลัตเวียก็พบว่าการล็อกดาวน์ทำให้ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อวัตถุดิบที่ดีกับสุขภาพลูกๆ ได้ ทางภาครัฐก็จะจัดการสนับสนุนอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ ผ่านโครงการ Meal cards for school children คือเมืองจะมีการ์ดให้ ซึ่งทางภาครัฐจะเติมเงินอุดหนุนให้เป็นรายเดือน โดยบัตรนั้นก็สามารถแตะจ่ายของที่ซูเปอร์มาเก็ตได้ทันที

 

Meal Card for Schoolchildren จากลัตเวีย , ภาพจาก : milanurbanfoodpolicypact.org

 

สุดท้ายอย่าลืมว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แม้ว่าเราอาจจะยังไม่แน่ใจว่ามันจะผ่านไปในเร็ววันนี้ แต่มันต้องผ่านไปแน่นอน ความอ้วนจึงเป็นอีกหนึ่งผลกระทบของความยากลำบากที่เราเจอมา และความอ้วนนี้ก็เกี่ยวข้องกับคำแนะนำที่เราได้ยินบ่อยที่สุดแต่ทำได้ยากที่สุด คือเข้าใจความรู้ของตัวเอง เข้าใจความเครียด ความเศร้าซึมและการโหยหาความอบอุ่นที่เราทดแทนด้วยน้ำตาย รวมถึงการใจดีกับตัวเอง เราไม่ได้ผิดพลาดขนาดนั้น ได้เวลามองไปข้างหน้า เราจะแข็งแรงขึ้น กินให้ดีขึ้น เดินให้เยอะอีกหน่อย ใจเย็นๆ อย่าเฆี่ยนตีตัวเองนัก โลกเฆี่ยวตีเรามากพอแล้ว

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

www.apa.org

www.bbc.co.uk

www.premierhealth.com

www.nbcnews.com

www.publicnewsservice.org

www.health.com

www.thelancet.com

www.milanurbanfoodpolicypact.org

 

Illustration by Krittaporn Tochan

ที่มา : thematter
https://thematter.co/science-tech/health/weight_gain_pandemic_and_how_to_cure_them/152360



Visitors: 1,409,249