การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ

การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพ

หลายท่านมักจะได้ยิน หรือได้รับคำถามเรื่องเข้ารับการตรวจสุขภาพกันมาบ้าง แม้ว่าเรื่องการตรวจสุขภาพจะมีมานานแล้ว แต่ยังมีอีกหลายคนที่ไม่กล้า หรือไม่ทราบว่า ทำไมต้องตรวจ หรือตรวจแล้วได้ประโยชน์อะไร หากอยากจะไปตรวจจะต้องทำอย่างไร

การตรวจสุขภาพมีเป้าหมายสำคัญ คือการค้นหาโรคที่ซ่อนอยู่ในตัวเราโดยที่เรายังไม่มีอาการผิดปกติ และค้นหาพฤติกรรมเสี่ยง หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เพื่อหาแนวทางป้องกันและรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

เรื่องควรรู้ ก่อนตรวจสุขภาพ

  • การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่แท้จริง เพราะมีโรคหลายชนิดที่เกิดขึ้นแล้ว แต่กลับไม่แสดงอาการ กลายเป็นภัยเงียบสร้างความเสียหายให้แก่ร่างกายของเรา หากได้รับการตรวจค้นตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เมื่อพบก็จะทำให้การรักษาง่ายขึ้น อีกทั้งมีโอกาสหายขาดได้
  • การตรวจสุขภาพ ต้องตรวจให้เหมาะสมกับตัวเรา เริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยเน้นเรื่องการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมถึงตรวจการเจริญเติบโตและพัฒนาการว่าสมวัย หรือไม่ เพื่อป้องกันความผิดปกติต่างๆ ที่สำคัญการตรวจสุขภาพตั้งแต่เด็กจะทำให้แพทย์ได้ตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดกับเด็ก และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที เมื่อก้าวเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยเจริญพันธุ์ ก็จะมีการตรวจเฉพาะทางเพิ่มขึ้น เช่นโรคทาง นรีเวช สุขภาพหัวใจ และเมื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ การตรวจสุขภาพก็จะเน้นเรื่องของความเสื่อม เพื่อชะลอความเสื่อมนั้นๆ พร้อมทั้งเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจากความเสื่อมถอยของร่างกาย
  • ตรวจสุขภาพประจำปีไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปีเสมอไป แม้จะบอกว่าคุณควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกๆ ปี แต่ในความเป็นจริงการตรวจสุขภาพไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี แต่ควรเป็นการตรวจตามระยะ ตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  • การตรวจสุขภาพที่ดีควรให้ข้อมูลแพทย์อย่างละเอียด หลายท่านมักเข้าใจผิดว่าการตรวจสุขภาพ คือ การค้นหาโรคโดยตรวจทางห้องแล็บปฏิบัติการ และมุ่งเน้นการรักษา หรือการรับประทานยาเพื่อป้องกันโรคเท่านั้น จึงละเลยการดูแลสุขภาพของตนเอง แท้จริงแล้วการตรวจสุขภาพที่ถูกต้อง คือการให้ความสำคัญกับข้อมูล การซักประวัติของแพทย์เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมต่างๆ ที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันตลอดทั้งปี แนะนำให้บอกแพทย์ตามความเป็นจริง เพื่อวินิจฉัยว่าคุณเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือไม่ จากนั้น จึงเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจร่างกาย และเมื่อทราบผลการตรวจร่างกายแล้วควรปฏิบัติตามแนะนำของแพทย์ โดยหันกลับมาใส่ใจดูแลสุขภาพด้วยตัวคุณเอง

นอกจากนี้ เรายังสามารถตรวจสุขภาพด้วยตนเองได้ โดยการตรวจสังเกตพฤติกรรม น้ำหนัก การวัดเส้นรอบเอว ว่าอยู่ในภาวะลงพุง หรือไม่ โดยวัดในแนวสะดือ นำค่าที่ได้ไปหารด้วยส่วนสูง ซึ่งคนปกติจะมีค่าเส้นรอบเอวไม่เกินครึ่งหนึ่งของส่วนสูงถ้าเกินแสดงว่าลงพุงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิต และโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือสมองตีบตัน

 

ก่อนตรวจสุขภาพต้องเตรียมตัว อย่างไร?

  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนรับการตรวจสุขภาพ หากอดนอนจะทำให้ผลการตรวจผิดปกติ โดยเฉพาะความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และอุณหภูมิของร่างกาย
  • งดอาหาร และเครื่องดื่ม อย่างน้อย 8-10 ชั่วโมงก่อนตรวจ (สามารถจิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย)
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจสุขภาพ เนื่องจากยา และแอลกอฮอล์ อาจมีผลต่อการตรวจบางอย่าง
  • ควรไปถึงโรงพยาบาลในช่วงเช้า เพื่อไม่ให้ร่างกายอิดโรยเกินไป เนื่องจากงดน้ำ และอาหารมาหลายชั่วโมงแล้ว
  • หากกำลังรับประทานยาเพื่อควบคุมความดันโลหิต สามารถรับประทานต่อได้ตามคำแนะนำของแพทย์ แต่ควรแจ้งให้แพทย์ หรือพยาบาลทราบก่อนการตรวจ
  • หากมีโรคประจำตัว หรือประวัติสุขภาพด้านอื่นๆ กรุณานำผลการตรวจ หรือรายงานจากแพทย์มาด้วยเพื่อประกอบการวินิจฉัย
  • ควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือดที่ข้อพับ แขน
  • ในวันตรวจ งดใส่เครื่องประดับต่างๆ ที่เป็นโลหะ / สุภาพสตรีงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก
  • สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรตรวจในช่วงก่อน และหลังมีประจำเดือน 7 วัน
  • หากมีประจำเดือน ให้งดตรวจปัสสาวะ เพราะเลือดจะปนเปื้อนในปัสสาวะและมีผลกระทบต่อผลการตรวจ
  • หากตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยการเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) ควรหลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะมีความคัดตึง ควรตรวจหลังมีประจำเดือน
  • กรณีสงสัยว่าตั้งครรภ์ โปรดแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่องดตรวจเอกซเรย์
Visitors: 1,410,132