บอลโลกกาตาร์ปล่อยคาร์บอนเท่าประเทศคองโกทั้งปี

เก่งเกินปุยมุ้ย ‘บอลโลกติดแอร์’ ฟาดแข้งกลางทะเลทราย

ก็เป็นอันว่า ฟุตบอลโลก 2022 จะปิดฉากลงในวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคมนี้
 

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ “ฟุตบอลโลกฤดูหนาว” ที่ปกติแล้ว ทุกๆ 4 ปี มหกรรมฟุตบอลโลกจะจัดขึ้นในช่วง “ฤดูร้อน”

ท่ามกลางข้อครหา ว่ามีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ FIFA เพื่อให้การสนับสนุน “กาตาร์” เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ทว่า หลังการสืบสวนสอบสวนนานถึง 2 ปี “กาตาร์” หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาไปได้

พ้นจากปัญหานอกสนาม เมื่อรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “กาตาร์” ได้ทุ่มเทสรรพกำลังทั้งหมดที่มี เพื่อไม่ให้เสียชื่อสมญานาม “ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย” ผู้รุ่มรวยด้วยทรัพยากรน้ำมัน

เนรมิตสิ่งอำนวยความสะดวกประดามี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สนามบอล” ที่ต้องจัดการแข่งขันท่ามกลางความร้อนระอุทะลุ 50 องศาของดินแดนแห่งทะเลทราย


ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าหญ้าจากสหรัฐอเมริกา การทุ่มน้ำลงไปเพื่อรดหญ้า โดยในฤดูหนาวแบบนี้ สนามบอล 1 แห่ง ต้องใช้น้ำกลั่นถึง 10,000 ลิตรต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 5 เท่าในฤดูร้อนหรือจะเป็นการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ก่อสร้างสนามให้มีเหลี่ยมมุมเรขาคณิตครอบคลุมรอบด้าน เพื่อให้เกิดร่มเงาในทุกจุด เพราะความร้อนที่จะเกิดขึ้นจากผู้ชมในสนามเหยียบ 80,000 คนนั้นระอุน้องๆ ความร้อนจากเครื่องคอมพิวเตอร์ 160,000 ตัวเลยทีเดียว!


หรือจะเป็นการดีไซน์ประโยชน์ใช้สอยของสนามหลังจบทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลโลก ที่มีการออกแบบให้รีไซเคิลได้ อาทิ สนาม Ras Abu Aboud ความจุ 40,000 ที่นั่งนั้น ประกอบขึ้นจากคอนเทนเนอร์ โดยสามารถถอดตู้ทั้งหมดไปใช้ประโยชน์ต่อได้หลังจบบอลโลกและอีกหลายสนาม ที่จะถูกแปลงโฉมโนมพรรณให้กลายเป็น Boutique Hotel รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะบูมหลังจากจบฟุตบอลโลก 2022 และหลังจาก COVID คลี่คลายลงพอดี


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบาย “อัดฉีดความเย็น” เพื่อรักษาสมรรถนะร่างกายพ่อค้าแข้งระดับเศรษฐีพันล้านที่มารวมตัวกันใน “กาตาร์ 2022” ดินแดนแห่งทะเลทรายครั้งนี้

งานนี้จึงต้องตกมาถึงมือของศาสตราจารย์ ดร. Saud Abdul-Aziz Abdul-Ghani เจ้าของฉายา Dr. Cool แห่ง “มหาวิทยาลัยกาตาร์”

จนเกิดคำถามตามมาจากแฟนบอลทั่วโลก ว่า Dr. Cool ท่านนี้ “จะเก่งเกินปุยมุ้ย” ที่สามารถเสกคาถาเนรมิต “สนามบอลติดแอร์” จำนวน “8 สนาม” เพื่อสู้กับสภาพอากาศร้อนระอุทะลุปรอท

ลดอุณหภูมิจาก 50 องศา เหลือเพียง 20 องศา ให้นักบอลยุโรปเมืองหนาว ลงฟาดแข้งอย่างสบายสบาย

ที่มาของฉายา Dr. Cool ศาสตราจารย์ ดร. Saud Abdul-Aziz Abdul-Ghani เริ่มต้นเมื่อ 13 ปีก่อน จากการศึกษาระบบทำความเย็นในสนามฟุตบอลเพื่อลดอาการบาดเจ็บของนักเตะ ซึ่งเป็นงานวิจัยระดับปริญญาเอกของเขา

ผลพวงของการศึกษา ค้นคว้า วิจัยของ Dr. Cool คือ “เครื่องปรับอากาศขนาดยักษ์” ที่ใช้ “พลังงานแสงอาทิตย์” ผ่านระบบที่พ่นลมเย็นใต้ที่นั่งคนดู และทั่วสนาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดตั้ง “ระบบหมุนเวียนอากาศ” ป้องกันไม่ให้ “ความเย็น” ไหลออกนอกสนามแข่ง

“เหมือนมีฟองสบู่เย็นโอบล้อมสนามอยู่” Dr. Cool กระชุ่น

“โจทย์ใหญ่ของระบบปรับอากาศก็คือ การเปิดโล่งของทั้ง 8 สนาม ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนสุดเลวร้ายของทะเลทราย” ศาสตราจารย์ ดร. Saud Abdul-Aziz Abdul-Ghani กล่าว และว่า

“โจทย์ใหญ่ก็คือ ทำอย่างไรที่จะอัดฉีดความเย็นเข้าไปในสนาม เพื่อรองรับผู้ชมเหยียบ 100,000 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเศรษฐีแข้งทองให้รู้สึกเย็นสบายตลอดทัวร์นาเมนต์”

เทคโนโลยีปรับอากาศของ Dr. Cool คือนำแนวคิดระบบไหลเวียนอากาศในรถยนต์มาประยุกต์ใช้

“หลักการง่ายๆ ก็คือ ยิงความเย็นเฉพาะส่วน นั่นหมายถึง ปล่อยไอเย็นตรงไปยังที่นั่งคนดู และนักเตะในสนาม เช่นเดียวกับหลักการทำงานของเครื่องปรับอากาศในรถยนต์” Dr. Cool กล่าว และว่าเพียงเท่านี้ก็สามารถลดอุณหภูมิในสนามให้เหลือ 20 องศาได้สบายสบาย

 

จุดเริ่มต้นของแนวคิดดังกล่าว Dr. Cool บอกว่า ผ่านลองผิดลองถูกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“เราสร้างระบบปรับอากาศผ่านแบบจำลอง 3 มิติ เพื่อนำไปทดสอบในอุโมงค์ลม โดยจำลองกระแสลมที่จะพัดผ่านสนามฟุตบอล ร่วมกับแบบจำลองการปล่อยลมเย็น ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นในเครื่องคอมพิวเตอร์” Dr. Cool กล่าว และว่า

ในส่วนของแหล่งพลังงาน เราคำนึงถึงการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยระบบปรับอากาศทั้งหมดนั้นจะใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่มาพร้อมกับท่อห่อหุ้มฉนวนอย่างดี ทำให้ลมเย็นส่งผ่านท่อไปทั่ว ทั้งใต้ที่นั่งผู้ชม และทั้งนักเตะในสนามได้ โดยมีโจทย์ว่า แอร์จะต้องไม่ทำงานหนักเกินไป

“ผลงานของเราได้เปลี่ยนโฉมหน้าระบบปรับอากาศกลางแจ้งแบบใหม่ให้กับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบดังกล่าวไม่มีการจดลิขสิทธิ์ โดยเราเปิดทางให้เอกชนนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อสนามกีฬากลางแจ้งในอนาคตจะไม่ร้อนอีกต่อไป” Dr. Cool สรุป


นอกจากนี้ ในประเด็น “การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นั้น เป็นสิ่งที่ “กาตาร์” ให้ความสำคัญกับบทบาทเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นอย่างมาก


ด้วยการให้คำมั่นสัญญาต่อประชาคมโลก ว่าการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ จะ “ปลอดคาร์บอน” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์!

โดยก่อนหน้านี้ FIFA ได้จุดประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือ Green Goal มาตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 หรือฟุตบอลโลกเยอรมนี ซึ่งแปรเป็นรูปธรรมต่อมาในฟุตบอลโลกแอฟริกาใต้ในปี ค.ศ.2010 นั่นคือ การสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวที COP26 ที่ FIFA ได้ประกาศอย่างยิ่งใหญ่ ว่าจะบรรลุข้อตกลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี ค.ศ.2040

 
 สำหรับฟุตบอลโลก 2022 ทาง FIFA ได้ออกมาประเมินว่า “บอลโลกกาตาร์” จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 3.6 ล้านตัน มากกว่า “บอลโลกรัสเซีย” เมื่อ 4 ปีที่แล้วถึง 2 เท่า หรือเทียบเท่ากับ “การปล่อยคาร์บอน” ของ “ประเทศคองโก” 1 ปีเลยทีเดียว!

แบ่งออกเป็น “คาร์บอน” จาก “การเดินทาง” ของทั้ง “นักเตะ” และ “แฟนบอล” กว่า 160 เที่ยวบิน จากการเดินทางของแฟนบอล ที่ข้ามไปข้ามมาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน เช่น คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากไม่สามารถหาที่พักใน “กาตาร์” ได้ โดยมีตัวเลขคาดการณ์ว่า 50% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดใน “ฟุตบอลโลก 2022” มาจากการเดินทางดังกล่าว

อีก 25% ของ “การปล่อยคาร์บอน” คือกระบวนการสร้างสนามฟุตบอล และสถานที่ฝึกซ้อม และอีก 25% เป็น “การปล่อยคาร์บอน” ในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้คนตลอดทัวร์นาเมนต์

(Photo by Kirill KUDRYAVTSEV / AFP)

อย่างไรก็ดี “กาตาร์” ตระหนักถึงปัญหานี้เป็นอย่างดี โดยประกาศใช้กระบวนการชดเชยคาร์บอน หรือ Carbon Offset โดยการซื้อ “คาร์บอนเครดิต” จาก Global Carbon Council จำนวน 1.8 ล้านตันเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนมหาศาลดังกล่าว

ซึ่งงบประมาณที่เหลือจากการใช้จ่ายในการนี้ ได้ถูกนำไปหมุนเวียนต่อใน “โครงการพลังงานสะอาด” ทั่วตะวันออกกลางควบคู่ไปกับโครงการ “ปลูกต้นไม้หมื่นต้น” เพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนจากกิจกรรมบอลโลก 2022 ในครั้งนี้

นอกจากการพัฒนาด้านสถาปัตถยกรรม และวิศวกรรมการก่อสร้างสนามแข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบปรับอากาศบันลือโลกของ Dr. Cool แล้วการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับแฟนบอลที่เข้าร่วมมหกรรมฟุตบอลโลก 2022 ก็เป็นอีกเป้าหมายสำคัญของ “กาตาร์” เช่นกัน


ทั้งหมดที่กล่าวมา ได้จุดประกายให้ “ฟุตบอลยูโร 2024” ประกาศเดินรอยตามการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของ “กาตาร์” ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย!

 

 

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

ที่มา : https://www.matichonweekly.com/world/article_632403?fbclid=IwAR0dbx3D27aU-jp9XgIkKKvoucaQDqWP8Xb7kYnBP2GP2zgh49kwyHAFftI

Visitors: 1,430,148