Srija A นักเรียนมัธยมใน Telangana ได้ทำกระถางต้นไม้จากเปลือกถั่ว เพื่อทดแทนถุงพลาสติก
Srija A นักเรียนมัธยมใน Telangana ได้ทำกระถางต้นไม้จากเปลือกถั่ว ที่ปักลงดินได้เลย ย่อยสลายได้ ใน 20 วัน หรือน้อยกว่านั้น เพื่อทดแทนถุงพลาสติก
บางครั้งการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ก็อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆที่อยู่ใกล้ตัวเรา และอาจจะมาจากเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งในมุมหนึ่งของโลก
ในทุกๆปีเด็กๆจากโรงเรียน Zilla Parishad High School จะมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ รอบๆโรงเรียน ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องใช้ถุงชำพลาสติก เมื่อปีที่ผ่านมา Srija A นักเรียนมัธยมโรงเรียนดังกล่าวได้ขุดดินเพื่อเตรียมจะปลูกต้นไม้ แต่เธอต้องตกใจอย่างมากเมื่อพบถุงพลาสติกหลายถุงใต้ดินนั่น
เธอเผยว่าไม่อยากให้มันเป็นต่อไปเช่นนี้จึงเริ่มคิดถึงวิธีที่ดีกว่าในการปลูก หลังจากนั้นนักเรียนอายุ 14 ปีคนนี้ก็ได้คิดค้นถุงเพาะชำ หรือกระถางจากเปลือกถั่วเหลือทิ้งขึ้นมา ด้วยเธอเห็นว่าในเมืองของเธอนั้นมีการปลูกถั่ว และมีขยะเปลือกถั่วที่มากมายเช่นกัน
เธอเผยว่าโดยปกติแล้วเปลือกเหล่านี้จะถูกนำไปทำปุ๋ย หรือประโยชน์อื่นๆ แล้วเธอก็ได้เรียนรู้ว่าเปลือกถั่วเหล่านี้นั้นมีฟอสฟอรัส และแคลเซียม และมันก็สามารถกักเก็บน้ำได้ด้วย
เธอจึงได้เริ่มทำการทดลองขึ้นมาโดยการนำเปลือกถั่วมาบดปั่น และผสมด้วย น้ำ และทำให้มันเป็นเยื่อ ประกอบกับส่วนผสมธรรมชาติอื่นๆให้มันเกาะกันอยู่ตัว และขึ้นรูปให้เป็นทรงกระถาง
หลังจากที่สำเร็จเธอได้ลองใส่ดิน และต้นกล้า และฝังมันที่โรงเรียน และตรวจสอบเพื่อดูการย่อยสลาย เธอพบว่ามันย่อยสลายน้อยกว่า 20 วัน
ไอเดียของเธอนี้ได้รับรางวัล Council of Scientific and Industrial Research (CSIR) Innovation award เมื่อปีที่ผ่านมา
หลังจากนั้นก็มีผู้ยื่นมือเข้ามาช่วยเธอในการทำเครื่องที่ช่วยให้ Srija ทำกระถางออกมาได้ในจำนวนที่มากขึ้น
ถือเป็นไอเดียที่ดีจากเด็กคนหนึ่งในการช่วยโลกสองต่อ โดยการนำขยะที่เหลือทิ้งมาสร้างสิ่งใหม่ และลดขยะพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลายนานอีกด้วย
ข้อมูลจาก : เพจ Environman
|