วันทะเลโลก 2024

   
   
     โลกกำลังประสบภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 30 ปี เนื่องจากภาวะโลกร้อนและเอลนีโญที่ทำให้อุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลทั่วโลกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 21.07 องศาเซลเซียส ทำให้เกิดปะการังฟอกขาวกินวงกว้างตั้งแต่แปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง บางส่วนของมหาสมุทรอินเดีย ชายฝั่งตะวันออกของอินโดนีเซีย จนถึงแนวปะการังนอกแอฟริกาตะวันออก
 
    ปะการังฟอกขาว คือ ปะการังที่สีจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) ซึ่งปรกติทำหน้าที่สร้างอาหาร และสร้างสีสันให้ปะการัง ส่วนปะการังก็ให้ที่อยู่แก่สาหร่ายเป็นการตอบแทน แต่เมื่อสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม ปะการังจะคายสาหร่ายออกมา เหลือเพียงเนื้อเยื่อใสๆ เผยสีขาวของโครงสร้างหินปูนที่อยู่ภายใน
 
    แม้ว่าเอลนีโญจะอ่อนแรงลงแล้ว แต่อุณหภูมิน้ำทะเลยังไม่กลับสู่ปรกติ ในอนาคตปะการังฟอกขาวอาจกลายเป็นปรากฏการณ์ประจำปี
มีการคาดการณ์ว่า หากโลกเราไม่สามารถลดการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ ปะการังครึ่งหนึ่งของโลกจะตายไปภายใน 20 ปี และหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียสในปี 2050 นี้ ปะการังกว่าร้อยละ 99 บนโลกจะหายไป
 
   แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่สำคัญของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทร การสูญเสียแนวปะการังจะทำให้สัตว์น้ำสูญเสียที่พักอาศัย แหล่งอาหาร และแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล ส่งให้เกิดภาวะขาดแคลนอาหารสำหรับสัตว์น้ำตลอดห่วงโซ่อาหาร ปลาสายพันธุ์ต่างๆ จะค่อยๆ สูญพันธุ์ไปด้วย
 
   เราสามารถปกป้องปะการังได้โดยทำประมงที่พอดี ลดการปล่อยมลภาวะตามท้องถิ่นต่างๆ และชะลอการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง แต่อีกวิธีที่หลายคนมองข้ามไป คือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวันของมนุษย์
 
     มหาสมุทรดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกไปในบรรยากาศประมาณ 30% ทำให้ท้องทะเลเป็นกรดมากขึ้น นำไปสู่การกัดกร่อนของปะการังด้วย
 
     เราเพียงแค่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตประจำวันของเราเล็กๆ น้อยๆ พิพิธภัณฑ์ศิลปะใต้ทะเล (Museum of Underwater Art) ของประเทศออสเตรเลีย รวบรวมแนวทางให้เราปรับพฤติกรรมได้ไม่ยากเลย ลองทบทวนตัวเองจาก checklist นี้กันค่ะ เพื่อความอยู่รอดของปะการัง โลกของเราทั้งท้องทะเล บนบก และชั้นบรรยากาศด้วยนะคะ
 
 
ขอบคุณรูปภาพจาก CBC และ XL Catlin Seaview Survey นะคะ
 
 
 
 
Visitors: 1,292,391