เครื่องชั่งน้ำหนักรุ่นใหม่ รู้ว่าร่างกายเรามีไขมันแค่ไหนได้อย่างไร?

เครื่องชั่งน้ำหนักรุ่นใหม่ รู้ว่าร่างกายเรามี ‘ไขมัน’ แค่ไหนได้อย่างไร?

 

ในยุคปัจจุบันถ้าใครไปซื้อเครื่องชั่งน้ำหนัก ก็จะพบว่าเครื่องชั่งน้ำหนักแบบโบราณที่ใช้เข็มนั้นมีขายน้อยแล้ว และเครื่องชั่งที่มีขายกันทั่วไปจะเป็นแบบดิจิทัล

และในบรรดาเครื่องชั่งน้ำหนักแบบดิจิทัล ก็เรียกได้ว่ามีน้อยเครื่องนักที่จะชั่งน้ำหนักได้เพียงอย่างเดียว เพราะมันแทบจะเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมไปแล้วว่าเครื่องชั่งน้ำหนักปัจจุบันจะต้องวัดดัชนีมวลกายของเราได้ด้วย เท่านั้นไม่พอ มันยังต้องสามารถวัดปริมาณไขมันในร่างกาย ปริมาณกล้ามเนื้อในร่างกาย ไปจนถึงความหนาแน่นของมวลกระดูกได้อีกด้วย

แค่เรายืนบนเครื่องชั่งน้ำหนัก มันไม่ได้รู้แค่น้ำหนักเรา แต่มันรู้องค์ประกอบหลักๆ ของร่างกายเราทั้งหมดเลย บางคนก็เลยสงสัยว่ามันทำได้ยังไง

ถ้าสังเกตเครื่องชั่งน้ำหนักรุ่นใหม่ๆ ตรงจุดที่ให้เราวางเท้า มันจะมีแป้นโลหะสีเงินๆ ประมาณ 4 อัน แบบพอดีให้วางส้นเท้าและปลายเท้า

บางคนเข้าใจว่ามันคือดีไซน์ แต่จริงๆ แล้ว แป้นโลหะที่ว่านี่และคือตัวที่ใช้วัดองค์ประกอบไขมัน กล้ามเนื้อ และกระดูกของร่างกายเรา และเทคโนโลยีที่ใช้นี้เขาเรียกว่า Bioelectrical Impedance Analysis (BIA)

ซึ่งถามว่ามันทำยังไง มันทำงานโดยส่งกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านร่างกายเรา โดยสมมติว่าแป้นตรงปลายเท้าขวาเป็นขั้วบวกมันก็จะส่งประจุไฟฟ้าออกมา ทำให้กระแสไฟฟ้าวิ่งเข้าไปในร่างกายเรา และจะไปออกตรงปลายเท้าซ้ายที่เป็นขั้วลบ ซึ่งแป้นตรงส้นเท้าขวาและซ้ายก็ทำงานแบบเดียวกันเป๊ะ เรียกได้ว่าทำซ้ำกัน 2 จุดเพื่อเช็กให้ชัวร์

ใช่แล้ว แค่กระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านร่างกายมันรู้หมดเลยว่าเรามีไขมัน กล้ามเนื้อ และมวลกระดูกเท่าไร ซึ่งอธิบายง่ายๆ ก็คือ สิ่งเหล่านี้ในร่างกายมันมี ‘แรงต้านไฟฟ้า’ ทั้งหมด ไขมันมี กล้ามเนื้อมี กระดูกมี และการมีมากน้อยมันส่งผลต่อความเร็วในการวิ่งของกระแสไฟฟ้า และนี่แหละมันทำให้รู้ว่าเรามีองค์ประกอบเท่าไรยังไง เรียกได้ว่าเอาค่าที่ได้มา ‘เข้าสมการ’ มันก็จะได้การประเมินคร่าวๆ ว่าร่างกายเรามีไขมันประกอบเท่าไร กล้ามเนื้อประกอบเท่าไร และกระดูกเราหนาแน่นแค่ไหน (ซึ่งถ้าสงสัยอีกว่าเขารู้ปริมาณน้ำได้ยังไง สั้นๆ คือเขาถือว่าน้ำคือส่วนประกอบส่วนใหญ่ของกล้ามเนื้อ ดังนั้นเขาก็จะวัดปริมาณน้ำไปพร้อมๆ วัดปริมาณกล้ามเนื้อเลย)

เทคโนโลยีแบบนี้ เริ่มพัฒนากันเมื่อทศวรรษ 1970 และตอนกลางๆ ก็เริ่มมีสินค้าเพื่อผู้บริโภคมาขายแล้วตอนกลางทศวรรษ 1980 ซึ่งที่น่าสนใจก็คือ เขาก็พัฒนากันมาเรื่อยๆ และก็พบว่าถ้าเราเพิ่มข้อมูลอย่าง เพศ และอายุ (หรือกระทั่งเชื้อชาติเข้าไป มันก็จะทำให้การวัดเที่ยงตรงขึ้น และนี่คือเหตุผลที่เครื่องพวกนี้จะถามเพศ และอายุเราเสมอ (จริงๆ มันถามส่วนสูงด้วย แต่นั่นเอาไว้หาดัชนีมวลกาย ไม่ใช่หาบริมาณไขมันและกล้ามเนื้อและสมัยยุคแรก เขาก็ใช้แค่ 2 ขั้ว ก่อนจะเพิ่มเป็น 4 ขั้วเพราะพบว่ามันวัดได้เที่ยงตรงขึ้น

ซึ่งถามว่าเที่ยงตรงแค่ไหน เอาจริงๆ เขาก็เถียงกันมานานว่าเครื่องแบบนี้มันวัดไม่ตรง แต่อีกด้านมันก็มีการพัฒนาสมการและเซนเซอร์ตลอด คือมันวัด ‘ตรงขึ้น’ เรื่อยๆ แน่ และตรงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามการพัฒนาสมการ แต่ที่สำคัญกว่ามันวัดได้ตรงแค่ไหนก็คือ มันเป็นวิธีการวัดไขมันในร่างกายมนุษย์ที่ ‘ราคาถูก’ ที่สุดแล้ว คือจะให้ไปเอกซเรย์หรือ MRI มันก็ไม่ใช่ พวกนั้นมันวัดได้เที่ยงตรงกว่าแน่ๆ แต่มันแพงมาก และทำที่บ้านไม่ได้แน่นอน และที่จริง แม้จะมีเทคโนโลยีแบบอื่นที่ใช้วัดปริมาณไขมันได้เช่นกัน แต่มันไม่มีเทคโนโลยีไหนที่ราคาถูกและใช้สะดวกเท่า BIA เลย

นี่เลยทำให้เทคโนโลยี BIA เป็นที่นิยมมาก ที่จะเอามาใส่ในสินค้าผู้บริโภค โดยเขาก็จะถือว่าถึงจะวัดไม่ตรงเป๊ะ แต่อย่างน้อยการวัด ‘ความเปลี่ยนแปลง’ นี่ตรงแน่ๆ คือเราอาจไม่ชัวร์ว่าจริงๆ ร่างกายเรามีปริมาณไขมันเท่าไร แต่ถ้าเราวัดสม่ำเสมอ เราจะเห็นได้ว่ามันคงที่ มันขึ้น หรือมันลง ซึ่งจะช่วยให้เราดูแลตัวเองได้ง่ายขึ้นมาก

ก็ไม่น่าไม่แปลกเลยว่าไม่ใช่แค่พวกเครื่องชั่งน้ำหนักเท่านั้นที่เอาเทคโนโลยี BIA มาใช้ พวกริสแบนด์อัจฉริยะทั้งหลายในทศวรรษ 2020 ก็นำเอาเทคโนโลยีนี้มาใส่กันหมดแล้ว เพราะมันเป็นเทคโนโลยีราคาถูกมากที่จะช่วยให้มนุษย์ดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม

อ้างอิง

ที่มา : https://www.brandthink.me/content/weighing-machine

 

 

Visitors: 1,409,241