เบื้องหน้างดงาม เบื้องหลังแทบตาย รู้จัก Floating Duck Syndrome คนที่ชีวิตดูดี แต่เก็บซ่อนความกดดันไว้มากมาย

เบื้องหน้างดงาม เบื้องหลังแทบตาย รู้จัก Floating Duck Syndrome คนที่ชีวิตดูดี แต่เก็บซ่อนความกดดันไว้มากมาย

เวลาเห็นเป็ดที่ลอยตัวอยู่ในน้ำ มองแล้วมักรู้สึกว่ามันดูนิ่งสบายเสมือนไหลไปกับกระแสน้ำเรื่อยๆ แต่แท้จริงแล้วภายใต้ผืนน้ำนั้นขามันกำลังตีไปมาเพื่อถีบให้ตัวเองไปข้างหน้าเรื่อยๆ ต่างหาก ไม่ได้ลอยไปตามน้ำอย่างที่คิดแต่อย่างใด 

ด้วยความย้อนแย้งระหว่างภาพที่เห็นกับสิ่งที่เป็นนี้จึงทำให้เกิด Buzzwords ทางปรากฏการณ์จิตวิทยาว่า ‘Floating Duck Syndrome’ หรือ ‘Duck Syndrome’ ใช้อธิบายพฤติกรรมของคนที่ดูผิวเผินอาจเหมือนชีวิตสบายไร้กังวล แท้จริงกำลังเก็บซ่อนความกดดัน ความพยายามและความลำบากมากมายไว้เบื้องหลัง

คำนี้ถูกใช้โดยมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เป็นที่แรก เพื่อใช้อธิบายในลักษณะเชิงเปรียบเปรยถึงภาพลักษณ์ของคนที่ประสบความสำเร็จ มีชีวิตสุขสบาย หรือภาษาบ้านเราอาจเรียกว่า ‘ชีวิตแบบลักชู’ ที่เรามักเห็นชีวิตอันสวยงาม กินดีอยู่ดี แต่งตัวดีใช้ของแพง ของเหล่าคนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย แต่ใครจะรู้ว่าด้านที่เราไม่เห็นนั้นเขาต้องพยายามมากแค่ไหน

 

โดยคนที่เข้าข่ายเป็น Floating Duck Syndrome นั้น จะเก่งในการรักษาภาพให้คนอื่นมองตัวเองในมุมอันสวยงาม แล้วเก็บซ่อนความยากลำบากต่างๆ ไว้เบื้องหลัง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมของสังคมที่ให้คุณค่ากับชีวิตที่แลดูน่ามอง ดูสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ หรือไม่ก็เติบโตมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าแห่งความสำเร็จสูง

 

ต้องมีทั้งความรับผิดชอบและความเป็นเลิศในหลายด้าน ทั้งการเรียน การทำงาน ครอบครัว การใช้จ่าย และเวลาว่าง รวมถึงความสามารถที่ต้องมีมากกว่าหนึ่ง แต่ก็ต้องรักษาสมดุลของชีวิตทั้งหมดไว้ให้ได้ ในจุดนี้ก็เปรียบเหมือนกับเป็ดที่ทำได้หลายอย่าง

 

ถามว่าเป็นข้อดีไหม? แน่นอนว่าหากเรามีความสามารถหลายด้านอย่างดีย่อมมีแต้มต่อในสังคมยุคนี้ที่ต้องการ Multitasking หรือ Hybrid เพียงแต่ก็มีเส้นบางๆ ระหว่างการมีความสามารถที่หลากหลายแล้วจัดการชีวิตได้ กับความพยายามที่จะมีความสามารถเหล่านั้นจนนำไปสู่ความกดดัน และความคาดหวังต่างๆ ถีบให้เราทำงานหนักขึ้นเพื่อดิ้นรนให้ตัวเองขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดนั้นให้ได้ 

มีการวิจัยทางจิตวิทยาเผยให้เห็นความขัดแย้งระหว่างสิ่งที่เราทำกับรางวัลที่ได้รับ ว่าอาจมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี เพราะใช่ว่าคนเราจะเป็นเป็ดที่ดูสง่างามในน้ำได้ตลอดเวลา สุดท้ายมันต้องมีวันที่เหนื่อยล้าและเผลอหลุดภาพที่คิดว่าตัวเองไม่น่าดูออกไป 

 

ดังนั้น คนที่เป็น Floating Duck Syndrome จึงมักจะเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นโดยที่รู้สึกว่าคนอื่นดีกว่า ฉันจึงต้องพยายามมากขึ้นให้ได้อย่างเขา ให้ดีกว่าเขา กลัวคำวิจารณ์ และรู้สึกเหมือนว่ากำลังถูกคนอื่นจับผิดตลอดเวลา 

กลายเป็นว่าต้องพยายามรักษาสิ่งที่อยากให้คนอื่นเห็นมากกว่าทำตามความต้องการจริงๆ ของตัวเอง จนในที่สุดความขัดแย้งต่างๆ ที่สะสมอยู่ก็กลายเป็นสภาวะสุขภาพจิตที่ซ่อนเร้น ทำให้หลายคนมีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า หรืออาการสุขภาพจิตอื่นๆ 

แม้ว่า ‘ความพยายาม’ นั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่สุดท้ายแล้วอะไรที่มากเกินไปไม่เคยนำผลลัพธ์ที่ดีมาสู่ตัวเราเลย MOODY อยากบอกทุกคนว่า เราไม่จำเป็นต้องดีเลิศกว่าใครเพื่อคนอื่น แต่ลองถามตัวเองดูว่าสิ่งสำคัญที่เราต้องการจริงๆ คืออะไร? แล้วนำความพยายามนั้นไปใช้ให้ถูกที่ในปริมาณที่พอดี 

ไม่จำเป็นต้องฝืนรักษาภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดีตลอดเวลาก็ได้ บางทีการโชว์ด้านไม่สวยงามออกไป ก็เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของเรา และเป็นแรงบันดาลใจให้ใครอีกหลายคนที่อาจประสบภาวะเดียวกันรู้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว 

เพราะแม้ว่า ‘เป็ด’ ตัวหนึ่งจะทำได้หลายอย่าง แต่อย่าลืมว่าธรรมชาติพวกมันมักอยู่กันเป็นฝูง แล้วความเป็นฝูงนี่เองที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพวกมัน 

มนุษย์อย่างเราก็เช่นกัน ทุกคนไม่จำเป็นต้องพยายามอยู่คนเดียว หรือขึ้นไปอยู่จุดสูงสุดเหนือคนอื่น แต่การอยู่ด้วยกันแล้วแบ่งปันสิ่งต่างๆ กับคนรอบข้างนั้นย่อมทำให้เรามีความสุขและมีสมดุลชีวิตที่ดีกว่า

 

 อ้างอิง

 

ที่มา https://www.brandthink.me/content/floating-duck-syndrome

 

Visitors: 1,409,246