ทฤษฎีจุดคอขวด แนวคิดการแก้ปัญหาแบบทำน้อยได้มาก

“ทฤษฎีจุดคอขวด” แนวคิดการแก้ปัญหาแบบ "ทำน้อยได้มาก"

“ทฤษฎีจุดคอขวด” แนวคิดการแก้ปัญหาแบบ "ทำน้อยได้มาก"
 

หลายครั้งที่เราเจอปัญหา แล้วรู้สึกว่าแก้ไม่ได้ หาทางออกแค่ไหนก็วนอยู่ในเรื่องเดิมๆ วันนี้จะพาไปรู้จัก “ทฤษฎีจุดคอขวด” ที่จะช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ได้ว่าเราต้องทำอะไร ยังไงบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร ขอความช่วยเหลือจากใคร เรียกว่า "ทำน้อย แต่ได้มาก"

ทฤษฎีจุดคอขวด ทำน้อยได้มาก

“ปัญหา” เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอทุกวัน วันนี้มีเทคนิคการแก้ปัญหาประเภททำน้อยแต่ได้มาก เหมาะกับคนคูลๆ ชิคๆ ฉลาดนิดๆ ขี้เกียจหน่อยๆ มาฝากกันค่ะ

หลายอาทิตย์ก่อนเราเขียนถึงวิธีเลือกการแก้ปัญหาด้วยการตัดหรือคัดวิธีแก้ปัญหาที่ไม่เข้าท่าออกด้วย 2 คำถามคือ

  • วิธีที่แก้แล้ว ทำให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำ
  • แก้ปัญหาด้วยแบบนี้ แล้วจะเกิดปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

หลังจากตัดวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ไม่ได้ออกแล้ว อาจจะยังเหลือวิธีแก้อีกหลายวิธี แล้วเราควรลองวิธีไหนก่อนดีหล่ะ

 

ทฤษฎีจุดคอขวด ทำน้อยได้มาก Photo : Freepik

ทฤษฎีจุดคอขวด ทำน้อยได้มาก Photo : Freepik

คำตอบคือ "วิธีที่ลงแรงน้อย พยายามไม่มาก สามารถนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ แล้วส่งผลลัพธ์ที่ชัดเจน" เรียกว่าลงมือลงแรง 20% ทำให้คลี่คลายปัญหาไปได้กว่า 80% เหมือนหลักพาเรโตที่อธิบายด้วยปรากฎการณ์ 80:20

ส่วนตัวชอบเรียกเทคนิคการแก้ปัญหานี้ว่า “ทฤษฎีจุดคอขวด” คำว่า “จุดคอขวด” ยืมมาจากกระบวนการ Value Strem Mapping (VSM) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารแบบ Lean (Lean Management) หรือการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลิตได้รวดเร็วขึ้น ของเสียลดลง

VSM เป็นการคลี่กระบวนการทำงานของแต่ละขั้นตอนออกอย่างละเอียด เพื่อมองหาว่าแต่ละขั้นตอนมีงานอะไรที่ไม่จำเป็นอยู่บ้าง หรือมีคอขวดของกระบวนการที่ทำให้เกิดการรอคอย เหมือนกับช่องทางการจราจรที่แคบลงทำให้รถติดซึ่งเป็นการสูญเปล่ารูปแบบหนึ่ง

 

“ทฤษฎีจุดคอขวด” คำว่า “จุดคอขวด” ยืมมาจากกระบวนการ Value Strem Mapping (VSM) Photo : Freepik

“ทฤษฎีจุดคอขวด” คำว่า “จุดคอขวด” ยืมมาจากกระบวนการ Value Strem Mapping (VSM) Photo : Freepik

 

แนวคิดการแก้ปัญหาแบบ “ทฤษฎีจุดคอขวด”

สาเหตุที่ชอบเรียกแนวคิดการแก้ปัญหาแบบนี้ว่า “ทฤษฎีจุดคอขวด” เพราะทุกคนสามารถนึกภาพคอขวดออกว่าเป็นความคับแคบ ตีบตัน ติดขัด เหมือนถนนที่กำลังซ่อมจะมีกรวยบีบช่องทางการจราจรให้เหลือพื้นผิวถนนแคบลง กลายเป็นลักษณะคอขวดทำให้รถยนต์เคลื่อนตัวได้ช้า

ดังนั้นในการแก้ปัญหาถ้าเราสามารถหาจุดที่ส่งผลกระทบมากที่สุดหรือสาเหตุหลักของปัญหาเจอแล้วพุ่งเป้าไปแก้ตรงนั้นเลย ย่อมประหยัดเวลาและทรัพยากรมากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ไปทำงานสาย ถ้าเราสามารถจับเวลาตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงที่ทำงาน จนรู้ว่าเราเสียเวลาส่วนใหญ่ไปในกิจกรรมไหนบ้าง เราก็สามารถพุ่งตรงไปแก้ที่กิจกรรมนั้นได้เลย เช่น เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการคอยวินมอเตอร์ไซค์ปากซอย ซึ่งนอกจากนานแล้วยังเอาแน่เอานอนกับเวลาไม่ได้

 

แนวคิดการแก้ปัญหาแบบ “ทฤษฎีจุดคอขวด”

แนวคิดการแก้ปัญหาแบบ “ทฤษฎีจุดคอขวด”

ถ้าตรงนี้เป็นจุดคอขวดของปัญหาจะเป็นไปได้มั้ยที่เราจะผูกปิ่นโต นัดวินมอเตอร์ไซค์เจ้าประจำทุกวันในเวลาเดียวกันให้มารับถึงหน้าบ้าน เป็นต้น

เคล็ดลับการแก้ปัญหาแบบทำน้อยแต่ได้มาก คือ การเก็บข้อมูลก่อนหน้าและหลังการแก้ปัญหาเพื่อจะได้รู้ว่าวิธีนี้แก้แล้วได้ผลมากน้อยขนาดไหน ถึง 80% หรือไม่

 

จุดที่ยากที่สุด หากเราแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้น

นอกจากนี้ วิธีแก้ปัญหาทุกวิธีจะมีจุดคอขวดด้วยเช่นกัน "จุดคอขวด" ที่ว่าคือ “จุดที่ยากที่สุด หากเราแก้ปัญหาด้วยวิธีนั้น” ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรมากเกินไป ใช้คนเยอะเกินไป ใช้เวลาเยอะเกินไป อะไรที่ยากสำหรับเราเมื่อต้องใช้วิธีการนั้นแก้ปัญหาให้ถือว่าเรื่องนั้นเป็นจุดคอขวด เมื่อค้นพบจุดคอขวดแล้วให้เราลองคิดดูว่าเราจะทลายจุดคอขวดนั้นได้อย่างไร

การคำนึงถึง“จุดคอขวด” ในลักษณะนี้ จะช่วยให้เราประเมินสถานการณ์ได้ว่าเราต้องทำอะไร ยังไงบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไร ขอความช่วยเหลือจากใคร

 

"ทลายจุดคอขวด" ไม่จำเป็นต้องทำเอง เราสามารถหาตัวช่วยได้ Photo : Freepik

"ทลายจุดคอขวด" ไม่จำเป็นต้องทำเอง เราสามารถหาตัวช่วยได้ Photo : Freepik

เคล็ดลับของการทลายจุดคอขวด

วิธีแก้ปัญหาที่เราเลือกใช้คือ ไม่จำเป็นต้องทำเอง เราสามารถหาตัวช่วยได้ “ใครที่จะช่วยทลายจุดคอขวดนี้ได้บ้าง” ยกตัวอย่างเช่น จุดคอขวดของธนาคารเมื่อหลายปีก่อน คือให้ลูกค้ากรอกข้อมูลในใบฝากถอนเงิน ลูกค้าแต่ละคนใช้เวลาเขียนไม่เท่ากัน บางคนเขียนนานมาก ทำให้ลูกค้านั่งรอในสาขาจำนวนมาก ปัจจุบันขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่ธนาคารเป็นผู้ทำแทน ลูกค้ามีหน้าที่เซ็นชื่อในแบบฟอร์มให้ถูกต้องเท่านั้น

ถ้าเราไม่สามารถจัดการกับจุดคอขวดได้

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาที่เราไม่สามารถจัดการกับจุดคอขวดได้แน่นอน "ก็ให้ตัดทิ้งไปตั้งแต่แรก" การพิจารณาถึงจุดคอขวดของวิธีแก้ปัญหาก่อนจะช่วยให้เราไม่เสียเวลาโดดไปแก้ปัญหาแล้วไปค้นพบที่หลัง ว่ามีอุปสรรคบางอย่างรอเราอยู่ และหลายครั้งเป็นอุปสรรคที่เราแก้ไม่ได้

แต่ถ้าเราประเมินก่อน เราจะเห็นแนวทางแก้ไข สามารถเตรียมพร้อม ขอความช่วยเหลือ แสวงหาความร่วมมือได้แต่เนิ่นๆ ซึ่งย่อมดีกว่าลงมือไปแล้วพบว่าวิธีที่เราทุ่มเทเริ่มต้นมาทั้งหมดนั้นไปต่อไม่ได้ ทำให้เสียทั้งเวลาและกำลังใจในการแก้ปัญหา ซึ่งในที่นี้รวมถึงการริเริ่มทำงานหรือโครงการใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน

 

 

ที่มา : https://www.springnews.co.th/lifestyle/work-balance/843509

 

 

Visitors: 1,429,841