Polar vortex เกิดที่ซีกโลกเหนือ และไทยไม่ได้หนาวเพราะมัน

Polar vortex เกิดที่ซีกโลกเหนือ และไทยไม่ได้หนาวเพราะมัน

ตามปกติแล้ว Polar vortex มักจะเกิดขึ้นกับซีกโลกเหนือที่มีพื้นที่ติดต่อกับแอนตาร์กติก (หรือซีกโลกใต้ที่ติดกับอาร์กติก)

Polar vortex คือพื้นที่ขนาดใหญ่ของอากาศเย็นที่หมุนรอบบริเวณขั้วโลกทั้งสองของโลก  เป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ ซึ่งเป็นพื้นที่อากาศเย็นที่หมุนวนที่กว้างใหญ่วนอยู่ในบริเวณขั้วโลก 

สำนักงานการบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ของสหรัฐอธิบายว่า เมื่อระบบความกดอากาศต่ำแข็งแกร่งและสมบูรณ์ มันจะทำให้ "กระแสเจ็ตสตรีม" (Jet stream) เคลื่อนที่รอบโลกเป็นวงกลม "เจ็ตสตรีม" เป็นกลุ่มของลมแรงซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาอากาศที่เย็นกว่าไว้ทางเหนือและอากาศที่อุ่นกว่าทางใต้ "เจ็ตสตรีม" จะวนอยู่แถบประเทศซีกโลกเหนือมากๆ เช่น สหรัฐตอนเหนือ แคนาดา และรัสเซีย เป็นต้น

 

แต่หากปราศจากระบบแรงกดอากาศต่ำที่แรง เจ็ตสตรีมก็ไม่มีแรงเพียงพอที่จะคงเส้นทางปกติ มันจะกลายเป็นคลื่นและเตร่ออกนอกเส้นทางเดิม เมื่อระบบความกดอากาศสูงเข้ามาขวาง กลุ่มของอากาศเย็นจะถูกผลักไปทางใต้พร้อมกับ Polar vortex ที่จะลงใต้ไปด้วย

เมื่อ Polar vortex อ่อนกำลังลง อากาศเย็นที่อาร์กติกสามารถแยกออกมาและเคลื่อนตัวไปทางใต้ ทำให้เกิดอากาศเย็นในวงกว้าง จนพื้นที่ทางใต้สุด "ของสหรัฐอเมริกา" เช่นรัฐฟลอริดาก็อาจประสบกับสภาพอากาศแบบอาร์กติกได้

แต่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐ ครั้งล่าสุดคือ คลื่นความหนาวเย็นในอเมริกาเหนือในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วซึ่งนำอุณหภูมิที่หนาวเย็นเป็นประวัติการณ์ไปยังส่วนสำคัญของแคนาดา สหรัฐอเมริกา และบางส่วนของเม็กซิโกตอนเหนือ ซึ่งน่าจะเกิดจากเหตุการณ์ภาวะโลกร้อนอย่างกะทันหันที่เกิดขึ้นในเดือนก่อนหน้า

ในเหตุการณ์ครั้งนั้น อุณหภูมิลดลงมากถึง 14-28 °C ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทางใต้สุดของคาบสมุทรกัลฟ์ พายุฤดูหนาวที่รุนแรงยังทำให้หิมะตกหนักและการสะสมของน้ำแข็งไปยังสถานที่ต่างๆ ทางใต้ของฮิวสตัน รัฐเท็กซัส และมีส่วนทำให้เกิดฤดูหนาวที่มีหิมะปกคลุมมากที่สุดแห่งหนึ่งในบางพื้นที่ในภาคใต้ตอนล่าง

แม้ว่า ปรากฏการณ์หนาวจัดที่เกิดจาก Polar vortex จะเป็นเรื่องเกิดขึ้นบ่อยในสหรัฐ แต่การลงไปถึงรัฐทางใต้เช่นเท็กซัสและฟลอริดา หรือแม้แต่ตอนเหนือของเม็กซิโกเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก

แต่ต้องย้ำว่ามันมักเกิดขึ้นกับทวีปอเมริกาเหนือ และที่เกิดขึ้นแทบไม่ได้คือ Polar vortex ในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทย 

 

อิทธิพลของอากาศหนาวเย็นในไทยมักได้รับมาจากประเทศจีน ซึ่งเอเชียก็เคยได้รับอิทธิพลจาก Polar vortex เช่นกันแต่ไม่บ่อยครั้งนัก โดยจะเกิดขึ้นในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งอาจทำให้พื้นที่ภาคใต้ของจีนซึ่งปกติมีฤดูหนาวที่อบอุ่นอาจเกิดภาวะหนาวจัดจนเป็นน้ำแข็งได้ 

สถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับ Polar vortex คือ "คลื่นความเย็นในเอเชียตะวันออก ปี 2016" โดยในปลายเดือนมกราคม 2016 คลื่นความเย็นได้พัดถล่มเอเชียตะวันออก บางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนแผ่นดินใหญ่ และบางส่วนของเอเชียใต้ตอนเหนือ ส่งผลให้อุณหภูมิและหิมะตกเป็นประวัติการณ์ในหลายภูมิภาค

มีรายงานเกิดแผ่นน้ำแข็งในโอกินาว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งตามปกติเป็นพื้นที่เขตร้อนของญี่ปุ่น และภูมิภาคอื่นๆ หลายแห่งพบว่าอุณหภูมิที่หนาวที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เหตุการณ์นี้ขับเคลื่อนโดยภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็วของอาร์กติกซึ่งเกิดขึ้นภายในชั้นโทรโพสเฟียร์ บังคับให้คลื่นสภาพอากาศอาร์กติก (Arctic Oscillation) เปลี่ยนเฟสอย่างรวดเร็วจากภาวะบวกคืออากาศหนาวจัดไม่ลงใต้มากนัก (ปลายเดือนธันวาคม) เป็นภาวะลบคือหนาวจัดลงมาทางใต้ (ปลายเดือนมกราคม) 

"คลื่นความเย็นในเอเชียตะวันออก ปี 2016" ก็อาจถือเป็น Polar vortex อย่างหนึ่งในเอเชีย มันส่งอิทธิพลมาถึงไทยทำให้เกิดอุณหภูมิที่เย็นลงเป็นประวัติการณ์ เพียงแต่ว่ามันเกิดขึ้นในฤดูหนาวคือเดือนมกราคม 

คำถามคือเดือนเมษายนเกิด Polar vortex ได้หรือไม่ โดยเฉพาะในไทย? คำตอบก็คือ "ไม่"

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงสภาพอากาศเย็นในเดือนเม.ย.65 โดยระบุว่า ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ ได้มีการเผยแพร่ข้อความและภาพ "สาเหตุที่อุณหภูมิทั่วไทยลดลง อากาศแปรปรวน หนาวเย็น-ฝนตก หรือ อากาศหนาวเย็น ช่วงฤดูร้อน เดือน เม.ย. 2565 ผู้เชี่ยวชาญได้ชี้ว่าเป็นผลจาก "ปรากฏการณ์ Polar Vortex" ทำให้เย็นวูบวาบ กระแสลมโลกเบี่ยงทิศ ผลพวงปัญหาโลกร้อนที่ต้องเร่งแก้ไข" นั้น กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ชี้แจงว่า ความแปรปรวน ของสภาพอากาศในช่วงวันที่ 1-3 เม.ย. 2565 เป็นผลมาจากอิทธิพลของความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน (กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูร้อน วันที่ 2 มี.ค. 65) ซึ่งโดยทั่วไป อุณหภูมิบริเวณประเทศไทยตอนบนในช่วงกลางวันอากาศร้อนถึงร้อนจัดในบางวัน และมักจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง"

จากคำอธิบายของกรมอุตุนิยมวิทยา ชัดเจนว่าภาวะเย็นลงทันทีในเดือนเมษายนในไทยไม่ใช่ Polar vortex ยังไม่นับสาเหตุที่อุณหภูมิจากไซบีเรียจนถึงจีนที่อุ่นขึ้นทำให้ยากที่จะเกิด Polar vortex ในช่วงนี้และแผ่มาถึงไทยได้

แต่เพราะภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น ความหนาวเย็นหลงฤดูก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ไม่ใช่จาก Polar vortex แต่น่าจะมาจาก La Nina (ลานีญา) มากกว่า เมื่ออุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลตลอดมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางตะวันออกแถบเส้นศูนย์สูตรจะต่ำกว่าปกติ 3-5 °C และตามด้วยฝนตกหนักและน้ำท่วม

 

ที่มา : Posttoday
https://www.posttoday.com/world/679768

 

 

Visitors: 1,405,377