ทำไมคนเกาหลีถึงรักแร้ไม่เหม็น?
. ทุกวันนี้กลิ่นรักแร้ที่อบอวลออกมาถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในที่สาธารณะ และการกำจัดกลิ่นรักแร้น่าจะเป็นกิจวัตรประจำวันระดับที่เป็นมารยาทสังคมของชนชั้นกลางในปัจจุบันแทบจะทั่วโลกไปแล้ว ซึ่งนี่ก็เป็นรากฐานให้กับอุตสาหกรรมสินค้าดับกลิ่นรักแร้สารพัดมูลค่าไม่รู้กี่ล้านเหรียญ . โดยทั่วไป เราอาจมองว่านี่เป็นเรื่องปกติสุดๆ เพราะถึงเราจะรู้สึกจากประสบการณ์ว่าคนแต่ละชนชาตินั้น ‘ตัวเหม็น’ ไม่เท่ากัน (และไม่เหม็นแบบเดียวกัน) แต่สิ่งที่เป็นสัจธรรมก็คือ ไม่ว่าจะชาติไหน มันก็ตัวเหม็นทั้งนั้น ใครๆ ก็ตัวเหม็นกัน และมารยาทสังคมในมาตรฐานปัจจุบันก็ควรจะดับกลิ่นเสีย อย่างน้อยๆ ก็เพื่อสวัสดิภาพทางจมูกของคนใกล้ๆ เวลาโหนรถเมล์หรือรถไฟฟ้า . แต่รู้ไหมว่า จริงๆ อาการ ‘รักแร้เหม็น’ เนี่ย มันไม่ใช่สิ่งสากล มนุษย์บางคนไม่เป็น และจริงๆ มันสามารถระบุได้เป็นชนชาติเลยว่าคนแถวไหนมีแนวโน้มจะรักแร้ไม่เหม็น . และนี่ก็ไม่ใช่การเคลมลอยๆ เพราะมีฐานมาจากงานวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Investigative Dermatology มาตั้งแต่ปี 2013 แล้ว โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) ประเทศอังกฤษ . คือนักวิจัยเขาไปพบว่า มันมียีนตัวหนึ่งจะเป็นตัวกำหนดเลยว่าใครจะรักแร้เหม็นหรือไม่เหม็น ยีนตัวนี้มีชื่อว่า ABCC11 (และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ คนมียีนตัวนี้จะขี้หูแห้งด้วย พูดอีกแบบคือ เราสามารถสังเกตได้ว่าคนที่รักแร้เหม็นจะมีขี้หูเปียก ส่วนคนรักแร้ไม่เหม็นจะมีขี้หูแห้ง) . คนในโลกตะวันตกแทบทุกคนมียีนแบบนี้ และนี่เป็นสาเหตุที่ ‘ฝรั่ง’ เป็นเผ่าพันธุ์ที่รักแร้เหม็น (หรือกระทั่งตัวเหม็น) ทั้งๆ ที่ ‘อาหารการกิน’ ของเขาดูไม่น่าจะทำให้เขามีกลิ่นตัวเลย (ซึ่งต่างจากคนเอเชียใต้ที่กลิ่นตัวส่วนหนึ่งมาจากอาหารการกินที่เครื่องเทศจัดๆ) . นี่เป็นสาเหตุที่นวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นรักแร้ได้เกิดขึ้น และพัฒนาในสังคมตะวันตกมากสุดๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าคนมันรักแร้ไม่เหม็น ก็คงไม่มีใครคิดโรลออนขึ้นมาหรอก เพราะมันไม่มีตลาด
อย่างไรก็ดี นักวิจัยก็เสริมด้วยว่า ยีน ABCC11 ที่คนตะวันตกแทบทุกคนมี (ในทางสถิติคือคนยุโรปถึง 98 เปอร์เซ็นต์ มียีนตัวนี้) นั้นเป็นสิ่งที่มีน้อยกว่าในคนเอเชีย โดยขนาดคนในเอเชียใต้ที่คนบ้านเราบอกว่า ‘ตัวเหม็น’ นั้น จริงๆ มี ‘ยีนรักแร้เหม็น’ กันเพียง 50-70 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น พูดอีกแบบคือ คนเกือบครึ่งนั้นรักแร้ไม่เหม็น แม้ว่าคนรักแร้เหม็นจะยังเป็น ‘คนส่วนใหญ่’ อยู่ . แต่ที่น่าสนใจคือ ถ้าย้ายไปแถบเอเชียตะวันออก คนของเขาเกินครึ่งนั้นไม่มี ‘ยีนรักแร้เหม็น’ พูดง่ายๆ เอเชียตะวันออกคือโซนที่ ‘คนส่วนใหญ่’ รักแร้ไม่เหม็น . และที่โหดคือ นักวิจัยพูดออกมาชัดๆ เลยว่า ในบรรดาชาติเอเชียตะวันออกที่มียีนรักแร้เหม็นน้อยกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างมีนัยสำคัญ หรือชนชาติที่แทบไม่ปรากฏว่ามียีนตัวนี้เลยคือ เกาหลี ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า คนเกาหลีนั้นถ้าว่ากันในเชิงพันธุกรรมแล้ว มันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาหนุนเลยว่า พวกเขารักแร้ไม่เหม็น . ซึ่งถ้าลองไปสืบค้นในอินเทอร์เน็ต เราก็อาจพบคอมเมนต์ที่แสดงความฉงนสนเท่ห์ของชาวต่างชาติที่ไปอยู่ในเกาหลีว่า ประเทศนี้แม้ว่าจะมีเครื่องสำอางและเครื่องเสริมความงามเยอะไปหมด แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากสารบบเครื่องสำอางคือพวกโรลออนและเครื่องดับกลิ่นรักแร้ต่างๆ (แต่ถ้าค้นดูเขาก็จะบอกว่า เมื่อก่อนของพวกนี้ไม่มีเลย แต่สมัยปัจจุบันก็พอจะมีบ้างแล้ว) . อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนก็อาจจะยังสงสัยว่า เอ… คนเอเชียตะวันออกที่เขารักแร้ไม่เหม็น เพราะอาหารเขาไม่มี ‘เครื่องเทศ’ หรือเปล่า? (ซึ่งต่างจากทางอาหรับ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อาหารเต็มไปด้วย ‘เครื่องเทศ’) . อย่างที่บอกมาตอนต้น คนยุโรปแทบทั้งหมด อาหารเขามี ‘เครื่องเทศ’ สู้บ้านเราไม่ได้แน่ๆ (ไม่ต้องไปสู้กับอินเดียด้วยซ้ำ) แต่เขาก็รักแร้เหม็นกันอยู่ดี ดังนั้นมันไม่เกี่ยวกับว่ากินอะไร มันเกี่ยวกับพันธุกรรม . หรือถ้าใครยังไม่เชื่ออีก คงต้องลองไปขอดมรักแร้คนเกาหลีที่ไปอยู่อินเดียอะไรทำนองนี้ เพราะถ้าเป็นตามที่ว่ามานี้ คนเกาหลีกินอาหารอะไรก็ไม่น่าจะรักแร้เหม็นกัน . อ้างอิง: University of Bristol. Deodorants: do we really need them? http://www.bristol.ac.uk/news/2013/9060.html
. ขอบคุณที่มา : #BrandThink #CreateaBetterTomorrow
|