Sandwich Generation วัยแห่งการเป็นเดอะแบก ที่ต้องดูแลทั้งลูกเล็กและพ่อแม่สูงวัย

‘Sandwich Generation’ วัยแห่งการเป็นเดอะแบก ที่ต้องดูแลทั้งลูกเล็กและพ่อแม่สูงวัย

 

ส่งลูกไปโรงเรียน ออกไปทำงาน ซื้อของเข้าบ้าน ไปเฝ้าพ่อที่โรงพยาบาล

 

หากคุณก้าวเข้าสู่ช่วงวัยที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง และดูแลเด็กเล็กไปพร้อมกับพ่อแม่ที่เริ่มเข้าสู่วัยชรา คุณอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่เรียกว่า ‘แซนวิชเจเนอเรชั่น’ (sandwich generation)

ย้อนไปในปี ค.ศ.1981 นักสังคมสงเคราะห์นามว่า โดโรที มิลเลอร์ (Dorothy Miller) เริ่มใช้คำนี้เพื่ออธิบายถึงผู้หญิงวัย 30-40 ปีที่ต้องดูแลคนสองเจเนอเรชั่น ราวกับเป็นไส้กลางของแซนวิชที่ถูกบีบอัดด้วยความรับผิดชอบ

แต่เมื่อเวลาผ่านไป นิยามของแซนวิชเจเนอเรชั่นเริ่มขยายวงกว้างเป็นใครก็ตามที่ต้องแบกรับหน้าที่จากทั้งสองทิศทาง ยิ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาด ผู้คนจำนวนมากยิ่งเข้าสู่ยุคแซนวิชได้อย่างรวดเร็วและไม่ทันตั้งตัว อย่างในสหรัฐอเมริกา ผู้คนมากกว่า 1 ใน 3 ของแซนวิชเจเนอเรชั่นคือกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล ส่วนในประเทศไทย จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในปี พ.ศ.2560 พบว่าอายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างแซนวิชเจเนอเรชั่น อยู่ที่ 55.67 ปี ซึ่งเป็นวัยใกล้เกษียณอายุ 

แต่ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดหรือเพศไหน สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญไม่ต่างกัน คงจะเป็นความรับผิดชอบอันหนักอึ้งที่ต้องดูแลทั้งด้านการเงิน ร่างกายและจิตใจของคนสองวัย (หรือมากกว่านั้น) ไปพร้อมกับประคับประคองชีวิตในแต่ละวันของตัวเอง

 

 

ความกดดันและแรงบีบอัดของแซนวิช

สาเหตุที่ชาวแซนวิช เจเนอเรชั่นเริ่มขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นอาจมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่อายุยืนยาวมากขึ้น ขณะที่ความแข็งแรงของร่างกายนั้นไม่ได้เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา คู่รักที่แต่งงานช้าลงทำให้พ่อแม่เริ่มแก่ชราในช่วงที่ลูกยังคงเป็นเด็กเล็กๆ อยู่พอดี หรือแม้กระทั่งสภาพเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่ทำให้วัยทำงานตอนต้นบางคนต้องกลับมาอยู่ในชายคาเดียวกับพ่อแม่ ดังนั้นการดูแลลูกจึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเด็กเล็กๆ อีกต่อไป ซึ่งการสำรวจของ Pew Research Center เมื่อปี ค.ศ.2012 พบว่า แซนวิชเจเนอเรชั่นในสหรัฐอเมริกากว่า 63% ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่เด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีเพียง 32% ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 

ขณะที่พวกเขาต้องรับผิดชอบทางด้านการเงิน แต่การสำรวจเดียวกันนั้นกลับพบว่า ชาวแซนวิชเจเนอเรชั่นมีแนวโน้มจะรู้สึกกดดันให้ต้องมีเวลา โดย 31% ระบุว่า พวกเขารู้สึกเร่งรีบอยู่เสมอ เพราะต้องจัดการตารางชีวิตที่มากกว่าการทำงาน ยิ่งในครอบครัวขนาดเล็ก ยิ่งทำให้พวกเขาต้องแบกภาระหนักขึ้น บางคนต้องลางานหรือออกจากงานมาเพื่อดูแลคนในครอบครัว เพราะไม่มีญาติพี่น้องคนอื่นๆ เข้ามาช่วยดูแล

 

 

แซนวิชเจเนอเรชั่น ไม่ได้มีแต่เรื่องเครียดๆ เท่านั้น

แม้เหล่าแซนวิชเจเนอเรชันต้องเผชิญกับความเครียดและความท้าทายบางอย่างที่ผู้ใหญ่คนอื่นๆ ไม่ได้เผชิญ แต่การสำรวจของ Pew Research Center กลับพบว่า ระดับความสุขในชีวิตภาพรวมของพวกเขา แทบจะไม่แตกต่างจากคนที่ไม่ได้อยู่ในแซนวิชเจเนอเรชัน ส่วนในสหราชอาณาจักร ออสทิน (Austin) หญิงวัยกลางคนชาวอังกฤษได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า เธอค่อนข้างเอ็นจอยกับชีวิตวุ่นๆ ของเธอในตอนนี้

“มันก็เป็นอย่างที่มันเป็นนั่นแหละ ฉันชอบนะที่ได้ดูแลครอบครัวของฉัน มีบางครั้งที่ฉันอยากจะออกไปนั่งเงียบๆ ในห้องมืดๆ สักพักหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ต้องไปต่อ คุณแค่ต้องปรับตัว” ออสทินกล่าวพร้อมกับบอกว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่เธอไม่ต้องทนทุกข์มากนัก อาจเป็นเพราะการเงินในครอบครัวของเธอค่อนข้างมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว

ส่วนในประเทศไทย มีงานวิจัยในหัวข้อ ผลกระทบของภาระความรับผิดชอบที่มีต่อความพึงพอใจในชีวิตของกลุ่มแซนด์วิชเจเนอเรชั่น ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2560 ระบุว่า ภาระความรับผิดชอบของผู้ที่อยู่ในกลุ่มแซนวิชเจเนอเรชั่น มีผลกระทบต่อความพึงพอใจด้าน ‘สถานภาพทางเศรษฐกิจ’ อย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ได้ส่งผลความพึงพอใจในด้านสุขภาพกาย ความสัมพันธ์กับบุตร และความสัมพันธ์กับคู่สมรสมากนัก เพราะความรับผิดชอบด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การให้กำลังใจ ให้คำปรึกษา หรือการทำมื้อเย็นให้คนที่บ้านทานนั้น ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรัก รวมทั้งสร้างความพึงพอใจในชีวิต จนกลายเป็นเหมือนน้ำเย็นๆ ชโลมหัวใจและบรรเทาอาการเหนื่อยล้าได้ในเวลาเดียวกัน

 

 

ช่องว่างและทางออก

เรื่องราวข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นว่า ความเครียดส่วนใหญ่ของคนในแซนวิชเจเนอเรชั่นมาจาก ‘ความพร้อม’ ของทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งด้านการเงินและเวลา มากกว่าหน้าที่ที่พวกเขาต้องรับผิดชอบ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนยังขาดความมั่นคงทางรายได้

แอทินา วลาแชนโทนิ (Athina Vlachantoni) แพทย์อายุรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย University of Southampton กล่าวว่า ในประเทศจีน รัฐยังคงพึ่งพาครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็กเป็นหลัก ดังนั้นเมื่อพ่อแม่ออกไปทำงาน แต่ไม่ได้มีเงินมากพอจะจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ปู่ย่าตายายจึงมักเข้ามาทำหน้าที่ส่วนนี้แทน และคงมีอีกหลายประเทศที่ต้องเจอสถานการณ์ใกล้เคียงกัน ซึ่งคงจะดีกว่านี้ ถ้าเริ่มมีบริการสาธารณะหรือรัฐสวัสดิการมารองรับปัญหาดังกล่าว เช่น การมีเงินอุดหนุนเพื่อดูแลเด็กและผู้สูงอายุ การให้ความรู้เรื่องการวางแผนการเงินสำหรับทุกคน การให้ข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อต้องดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ

ส่วนองค์กรหรือบริษัทต่างๆ แอทินามองว่า รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นและใช้วิธีทำงานทางไกล (remote work) ที่เริ่มกลายเป็นเรื่องปกติในช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 อาจจะเป็นทางเลือกใหม่ที่ช่วยให้กลุ่มคนในแซนวิชเจเนอเรชั่น สามารถวางแผนตารางแน่นเอี๊ยดในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น

“ฉับพบว่านโยบายที่มีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้แต่ละคนได้มีทางเลือกอย่างแท้จริง” แอทินากล่าว

 

 

นอกจากความสามารถในตัวพวกเขาเอง การมีรัฐสวัสดิการหรือการสนับสนุนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ชาวแซนวิชเจเนอเรชันสามารถดูแลคนอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องละทิ้งหน้าที่การงาน ความมั่นคงในชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพใจ ไปจนถึงความฝันและความหวังของพวกเขาเอง 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

huffpost

Bbc

fastcompany

Pewresearch

Businessinsider

ph02.tci-thaijo.org

 

Post by Thanyarat Khotwanta 

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

 

ที่มา : The Matter
https://thematter.co/social/sandwich-generation/171499

 

 

Visitors: 1,405,302