บทวิเคราะห์: ทำไมไทยต้องลงนามข้อตกลง RCEP ?

บทวิเคราะห์: ทำไมไทยต้องลงนามข้อตกลง RCEP ?
 
 
วันนี้เรื่องที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องประเทศในแถบเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ประชุมทางไกลกันเพื่อลงนามในสนธิสัญญาการการค้าเสรี (FTA) ที่ชื่อ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือเรียกสั้นๆว่า 'ข้อตกลง RCEP'
 
หลังจากที่เราใช้เวลาเจรจากันมาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2010s เจรจากันมาแล้วมากกว่า 30-40 ครั้ง (มาเร่งเอาเพื่อจะรีบปิดดีลให้ครบไวๆก็เมื่อตอนท้ายปี 2019 ที่ผ่านมานี้เอง) หลายคนถามว่า เอ๊ะ ปกติ FTA นี้ หลังจากเจรจากันจนได้เรื่องราว รู้รูปร่างแล้วว่าจะให้ออกมาเป็นยังไง
 
มันต้องให้ฝ่ายกระทรวงพาณิชย์ และเครือข่ายได้นำไปทำการแปลเป็นภาษาถิ่นของแต่ละประเทศกัน เพื่อทำการพิจารณาและส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน เหมือนสนธิสัญญาอะไรต่างๆนี่ ใช้เวลากันเป็นเดือนๆเป็นปีๆ ขนาด BREXIT ยังต้องมีขั้นตอนตั้งมากมายในช่วงการเจรจา ทำไม RCEP เจรจากันง่ายจัง นึกจะปิดดีลก็ปิดดีล
 
อันนี้ขออธิบายง่ายๆก่อนนะครับว่า มันยังไม่มีผลบังคับใช้ครับ เรื่องข้อตกลง RCEP ที่เขาเซ็นกันวันนี้มันยังเป็นแค่การลงนามระหว่างผู้นำระดับสูงภายในรัฐบาล เพื่อบอกกันว่าฉันจะเข้านะ ประมาณคล้ายๆ MOU นั่นแหละ แต่ในเชิงกระบวนการแล้วยังมีอีกหลายขั้นตอนครับ ต้องให้ว่าที่ประเทศสมาชิกนำกลับไปเสนอให้กับรัฐสภา
 
แล้วประชุมกันอีกทีว่าจะตกลงให้สัตยาบัน หรือ Ratify ตัวสนธิสัญญาไหม กว่าจะได้เรื่องกันจริงๆก็ปี 2021 นั่นแหละครับ อย่างเร็วสุด ตอนนี้ยังไม่เสร็จ ยังไม่มีผลกันตามที่ข่าวออกมาประกาศกันหรอก อันที่สำนักข่าวหลายๆหัวพูดกันวันนี้มันแค่สิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคต อีก 5 ปี 10 ปี (หรืออาจจะ 20 ปี) ตามกรอบเวลาที่คุยกันไว้ในสนธิสัญญา (จบไปแล้ว 1 ประเด็นคำถาม ว่าทำไมรีบเซ็น รีบลงนามกัน)
 
อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ได้อ่านกันก็คือ ทำไมต้องเป็นช่วงนี้ มันมีอะไรดี หรือน่าสนใจแค่ไหน อันนี้ขออนุญาตตอบให้โดยพื้นฐานเข้าใจง่ายๆกันเลยละกันครับ เนื่องจากช่วงนี้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออกเรากำลังเจอปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจากไวรัส COVID-19 และการล็อคดาวน์กันอยู่
 
ทำไมประเทศต่างๆทำมาค้าขายกันไม่ได้สะดวก นักท่องเที่ยวก็ไม่มี แล้วหลายๆประเทศแถบนี้ก็มีสัดส่วน GDP จากการท่องเที่ยวค่อนข้างเยอะ ยิ่งมาเห็นเวียดนามเศรษฐกิจยังพยุงตัวเอาตัวรอดไปได้ท่ามกลางวิกฤติโลก เพราะเขามี FTA เป็น 10 ฉบับแบบอยู่ทุกวันนี้
ก็เลยทำให้รัฐบาลหลายประเทศเริ่มมองเห็นความสำคัญของ FTA เลยต้องรีบๆปิดดีลให้เร็วที่สุดภายในปีนี้ เพราะกว่าผลของดีลจะบังคับใช้ก็อีกหลายปี เศรษฐกิจก็มีแนวโน้มจะซบเซาไปหลายปี จึงต้องรีบๆหาทางแก้ในเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจตนเองไว้ก่อน เพราะอย่างน้อยๆ ข้อตกลง RCEP นี้ก็ให้สิทธิประโยชน์และมีโอกาสจะลดกำแพงภาษีระหว่างกันได้ถึงเกือบ 90% ในหลายๆภาคส่วน
 
ญี่ปุ่น ไทย จีน พม่า ลาว เกาหลีใต้ อะไรพวกนี้เห็นก็ตาลุกวาว และมีใจอยากจะรีบๆปิดดีลทั้งนั้นแหละครับ ไทยเองก็ต้องการดีลมาช่วยเสริม economic profile เนื่องจากเราพลาดการเข้าร่วมเจรจา CPTPP ไปทีนึงแล้วตอนกลางปี ทางกระทรวงพาณิชย์เครียดกันมากปีนี้ การรีบๆปิดดีล RCEP จึงเป็นทางแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง
 
แล้วในทางปฏิบัติ ดีลของ RCEP ก็ดูเป็นที่ยอมรับได้สำหรับไทยมากกว่า CPTPP ที่มีข้อตกลง ข้อบังคับยิบย่อยจนน่ารำคาญ และทำให้ชาวนา เกษตรกรไทยกังวลเรื่อง UPOV1991 จนทำให้กระบวนการเข้าสู่การเจรจาเป็นอัมพาตไปเกือบทั้งปี คือในขณะที่ CPTPP มีชื่อเสียงด้านลบในการจะเข้ามาจัดระเบียบเรื่องกติกาด้านเมล็ดพันธุ์
 
ทาง RCEP นั้นขึ้นชื่อเรื่อง การสนับสนุนการเคลื่อนย้ายที่เสรีของสินค้า พืชผลทางการเกษตร ญี่ปุ่นจะได้ส่งของไปขายที่จีนมากขึ้น ไทยก็จะมีโอกาสส่งสินค้าทางการเกษตร ไม่ว่าจะพืชผล หรือ อาหารแปรรูปไปขายยังจีน หรือประเทศที่ร่วมรายการทั้งหมด 10 กว่าประเทศได้ง่ายขึ้น
 
แถมข้อตกลงด้านการลดกำแพงภาษีก็ไม่ได้กำหนดกรอบที่แรงเกินไป จนทำให้ทุนภายในประเทศของแต่ละประเทศเขากังวลกันด้วย ขึ้นอยู่กับข้อตกลง และภาคส่วน อุตสาหกรรม อย่างญี่ปุ่นนี้ ตามเนื้อหาในดีล ถูกกำหนดให้ลดกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าประเภทพืชผลทางเกษตร แค่ 40-50% เอง จากสินค้าในประเทศเพื่อนบ้าน (ถ้านำเข้าจาก ASEAN จะประมาณ 60% นิดๆ)
 
มันเลยกลายเป็นดีล และข้อตกลง FTA ที่น่าสนใจมากในช่วงนี้ สำหรับหลายๆประเทศที่กำลังหาทางจะทำให้เศรษฐกิจของตนเองมันฟื้นกลับคืนมา หลังจากที่ถูกมรสุมของไวรัส COVID-19 ถล่มไปรอบหนึ่งแล้วตั้งแต่ต้นปีจนถึงท้ายปี 2020 นี้ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ ที่เห็นโอกาสลักษณะนี้
 
 
 ที่มา : นักยุทธศาสตร์

Visitors: 1,429,835