NFT หรือ “Crypto Art” คืออะไร ทำไมคนจ่ายเงินเป็นล้านให้กับการเป็นเจ้าของ “ไฟล์ดิจิทัล” ที่ใครก็ “ก็อป” ได้?

ช่วงนี้ถ้าใครตามข่าวโลกการลงทุนหรือโลกศิลปะ น่าจะคุ้นกับสิ่งที่ตอนแรกเรียกกันว่า “Crypto Art” หรือ “งานศิลปะบนบล็อกเชน” ซึ่งตอนนี้คนในวงการดูจะตกลงกันว่าจะเรียก “สิ่งนี้” ว่า “NFT” แล้ว

แน่นอน คนส่วนใหญ่ไม่มีใครเข้าใจว่ามันคืออะไร

 

NFT คืออะไร?

NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token ซึ่งความหมายในที่นี้เราอยากจะแปลว่า “ไฟล์ดิจิทัลที่ไม่อาจถูกแทนที่ได้” ซึ่งก็น่าจะเป็นคำแปลที่ไม่ตรงตัวอักษรนัก แต่เข้ากับบริบทนี้

แล้วไฟล์ดิจิทัลจะมีลักษณะแบบนั้นได้ยังไง? เอาล่ะ ความสนุกเริ่มละ

ในโลกดิจิทัล ปกติทุกอย่างก็อปได้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ต้นฉบับ” การเป็นไฟล์แรกหรือไฟล์ที่ก็อปมาล้านครั้งหน้าตาเหมือนกับเปี๊ยบ!

ไอเดียของ NFT คือการสร้าง “ไฟล์ที่มิอาจถูกแทนที่ได้” อุปมาเหมือนเป็นการใส่เลขว่านี่คือไฟล์แรกนะ ถึงไฟล์อื่นที่หน้าตาเหมือนกันเป๊ะ ก็จะไม่ใช่ไฟล์แรก ก็อปยังไงก็ไม่มีทางเหมือน

ประเด็นคือแล้วคุณจะ “พิสูจน์” ยังไงว่าไฟล์ไหนไฟล์แรกจริงๆ ในเมื่อโลกดิจิทัลทุกอย่างถูกเปลี่ยนและแก้ไขได้หมด?

คำตอบอยู่ที่บล็อกเชน

 

NFT กับบล็อกเชน

ก่อนจะไปเวียนหัวกับ Bitcoin ที่เราจะไม่พูดถึงตรงนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าบล็อกเชนไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับ “สกุลเงินคริปโต” ใดๆ เพราะในทางคอนเซ็ปต์ มันหมายถึงฐานข้อมูลสาธารณะที่ทอดต่อกันไปยาวเรื่อยๆ โดยมีลักษณะพิเศษคือไม่มีใครไปแก้ได้

สิ่งที่บันทึกลงไปแล้วก็จะบันทึกเลย จะ “ลบทิ้ง” ไม่ได้ ดังนั้นอยากให้ “ไม่มีใครลบทิ้งได้” ให้บันทึกไว้บนบล็อกเชน

“สกุลเงินคริปโต” ใช้คอนเซปต์นี้สร้างระบบเงินตราขึ้นมา ซึ่งแก่นสารก็คือ การบันทึกว่าใครมีเงินอะไรอยู่เท่าไร ส่งไปให้ใครเมื่อไร

ถ้าเรามีระบบแบบนี้ เราก็สร้างระบบเงินมาได้ โดยไม่ต้องมี “เหรียญ” จริงๆ 

ทีนี้คนก็คิดไปต่อว่า ไอ้คอนเซปต์แบบนี้ไม่ต้องใช้กับ “ระบบเงิน” ก็ได้ แต่มันจะเอาไปทำฐานข้อมูลแบบอื่นๆ ได้เหมือนกัน เช่น เอาไปทำฐานข้อมูลว่าใครเป็นเจ้าของอะไรก็ได้ ฐานข้อมูลว่าใครซื้ออะไรมาจากใครก็ได้ และระบบแบบนี้สามารถทำได้สบายๆ บนระบบบล็อกเชน พูดง่ายๆ คือระบบบล็อกเชนมันไม่ได้สร้างมาให้คุณแค่ “ส่งเงิน” แต่คุณจะส่งข้อมูลอะไรก็ได้

และนี่แหละครับที่มาของ NFT

คอนเซปต์มันมีแค่ว่า ถ้าคุณส่งไฟล์ดิจิทัลให้คนคนหนึ่งพร้อมเคลมว่าไฟล์นั้นเป็นของเขาแล้ว และบันทึกธุรกรรมนี้ลงบนบล็อกเชน มันก็คือการประกาศให้รู้ทั่วกันทั้งโลกว่าใครเป็นเจ้าของไฟล์นี้

ซึ่งการประกาศนี้ลบล้างไม่ได้ เพราะมันอยู่บนบล็อกเชน ดังนั้นเลยเหมือนการ “สร้างสินทรัพย์” แบบใหม่ขึ้นมา และเราก็ต้องเข้าใจว่ามันไม่ใช่การ “ซื้อลิขสิทธิ์” นะครับ คนเอาภาพมาขายแบบ NFT ไม่ได้ หมายความว่าคนที่ซื้อไปจะได้ลิขสิทธิ์ภาพไป ลิขสิทธิ์ยังเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์เดิม แค่คนที่ซื้อไปสามารถเอาไปอวดได้ว่า ฉันเป็น “เจ้าของ” ก็อปปี้แรกของสิ่งนี้ ไม่เชื่อก็ไปดูบนบล็อกเชนยืนยันได้

จะทำแบบนี้กันไปทำไม?

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้กับ NFT คงทำให้ “คนปกติ” เวียนหัวกัน เพราะคนเอา “ของดิจิทัล” สารพัดมาขายเป็น NFT และไม่ได้ขายกันถูกๆ ด้วย

ของที่แพงที่สุดขายไปในราคา 2,000 ล้านบาท และเป็นข่าวไปทั่ว งานที่ว่าคือ Everydays: The First 5000 Day ที่เป็นภาพคอลลาจของศิลปินชื่อ Beeple ที่เรียกได้ว่ารวยข้ามคืนกันไปเลย เพราะปกติก่อนหน้านี้งานเขาขายได้แค่หลักพันหลักหมื่นบาท

งาน Everydays: The First 5000 Day | The Verge

 

งานพวกนี้ขายกันได้ดีขนาดนี้ก็ไม่แปลกอะไรถ้าพวก “ศิลปิน” จะเริ่มแห่กันมาขายงาน แต่กลุ่มคนที่สนใจก็ไม่ใช่ศิลปินเท่านั้น เพราะไม่ว่าใครถ้านึกอะไรออกก็เอามาขาย

ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้ง Twitter เอาทวิตแรกของตัวเองมาขาย และราคาก็ปั่นไปถึง 75 ล้านบาท นักร้องที่เป็นเมีย Elon Musk อย่าง Grimes ก็เอาวิดีโอศิลปะจำนวนมากมาขายทำเงินไปได้เกือบ 20 ล้านบาท และล่าสุด Elon Musk เองก็ยังจะร่ำๆ จะทำเพลงมาขายเป็น NFT เลย และนี่ก็ยังไม่นับว่ายังมีคนพยายามจะทำตามกระแสอีกเต็มไปหมด ซึ่งก็ไม่แปลกที่เงินมันจะ “สะพัด” ขนาดนี้

ดังนั้นคนจะขายน่ะไม่แปลก คุณจะทำขายเองก็ไม่ยากเลย มันไม่ได้มีอะไรปิดกั้นทั้งนั้น (ค้นเร็วๆ เพื่อหาความรู้แบบ “ฮาวทู” ก็นี่เลย: http://bit.ly/3twyLPJ)

ที่คนงงจริงๆ น่ะคือ “คนซื้อ” จะซื้อไปทำไม?

ความเบาหวิวเหลือทนของการเก็งกำไรศิลปะ

คำตอบจริงๆ มันอาจจะง่ายมากๆ และกำปั้นทุบดินสุดๆ เพราะในโลกการเงิน ทุกอย่างที่เก็งกำไรได้ คนจะซื้อไปเก็งกำไรทั้งนั้น

เหตุผลพื้นฐานจริงๆ มีแค่นั้น และนั่นเป็นจริงไม่ว่าสิ่งที่ถูกซื้อไปเก็งกำไรจะเป็นทอง หุ้น เงินคริปโต ไวน์ ของเก่า หรือกระทั่งงานศิลปะ

ใช่ครับ งานศิลปะนี่ตัวสินค้าเก็งกำไรเลย พวกสื่อการเงินก็ให้ความสำคัญตลอด เพราะนี่เป็น “ของเก็งกำไรของคนรวย” แท้ๆ และโลกแบบนี้คือโลกทางการเงินที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับคุณค่าทางศิลปะเลย

ถามว่าในแง่นี้ อะไรคือ “คุณค่าของงานศิลปะ?” ที่ทำให้มูลค่าขึ้นไปขนาดนั้น คำตอบก็คือแค่ข้อเท็จจริงว่า “มันมีชิ้นเดียวในโลก” พื้นฐานคือแค่นั้นเลย ไม่ต้องเอานักประวัติศาสตร์ศิลป์มาอธิบายคุณค่าให้มากความ

ในแง่นี้โลกของงานศิลปะก็ไม่ได้ต่างอะไรจากโลกของ “ของสะสม” ทั้งหลาย ที่สุดท้ายอะไรจะมีมูลค่าเท่าไรก็อยู่ที่ตลาดจะ “ปั่น” ราคาขึ้นไปเท่าไร

และ NFT ก็เช่นกัน มันก็เป็นแค่เวอร์ชันดิจิทัลของสิ่งเหล่านี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า คนไม่ได้ซื้อมันเพราะว่าคุณค่าใดๆ แต่เขาคิดว่าเขาซื้อไปตอนนี้ เขาจะขายในอนาคตได้แพงกว่าที่ซื้อหรือจะ “ทำกำไร” จากสิ่งนั้นได้เมื่อเวลาผ่านไป

ถ้าคุณเข้าใจได้ว่าทำไมถ้วยเซรามิกราชวงศ์หมิงที่หน้าตาเหมือนถ้วยเซรามิกปัจจุบันเป๊ะๆ ประโยชน์ใช้สอยไม่ได้ต่างกัน แต่ถ้วยแรกขายได้เป็นล้าน ในขณะที่ถ้วยหลังวางกองแบกะดินขายกันไม่กี่สิบบาทได้ มันก็ไม่น่าจะเข้าใจยากเท่าไรว่าทำไม NFT ถึงมูลค่าเป็นแสนเป็นล้านได้ ในขณะที่ไฟล์ก็อปปี้อื่นๆ ไม่มีราคาใดๆ

รู้สึกมันไม่มีเหตุผลใช่ไหม? ขอยินดีต้อนรับสู่โลกการเงินอันเป็นที่ที่ทุกสิ่งมีมูลค่าเพียงเพราะคนคิดว่ามันมีมูลค่า

มันเบาหวิว มันเหลือทน แต่โลกทุนนิยมการเงินทั้งหมดก็เป็นเช่นนั้นเอง

 

ข้อมูลจาก : BrandThink

Visitors: 1,429,839