โซล่าเซลล์แบบใส จะเปลี่ยนหน้าต่างให้ผลิตไฟฟ้าได้

โซล่าเซลล์แบบใส จะเปลี่ยนหน้าต่างให้ผลิตไฟฟ้าได้
 
ในขณะที่โลกเรากำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้แผงโซล่าเซลล์มีราคาถูกลงเรื่อยๆ ทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน แต่ข้อจำกัดหนึ่งของแผงโซล่าเซลล์คือพื้นที่ติดตั้งบนอาคารมีจำกัดทำให้ส่วนใหญ่สามารถติดตั้งได้แค่บนหลังคาของอาคารเท่านั้นซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
 
จนกระทั่งเมื่อปลายปี 2017 มหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน (MSU) นำโดยศาสตราจารย์ Richard Lunt อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์เปิดเผยผลงานวิจัยแผงโซล่าเซลล์ชนิดใส สามารถใช้แทนกระจกหน้าต่างอาคารได้โดยไม่มีผลต่อแสงที่ทะลุผ่านกระจก
 
Richard Lunt. Courtesy of Michigan State University
 
หลักการทำงานคือตัวเนื้อกระจกจะรับและหักเหแสงในคลื่นความถี่ที่มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น อินฟราเรด และอัลตราไวโอเลต เข้าสู่แผงโซล่าเซลล์เล็กๆ บางๆ ที่ติดตั้งอยู่ที่ขอบกระจกทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าต่อไป
 
Courtesy of Michigan State University
 
โซล่าเซลล์แบบใสนี้จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมพลังงานและการใช้โซล่าเซลล์ได้อย่างมากในอนาคตเมื่อโซล่าเซลล์ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่บนหลังคาอีกต่อไปแต่สามารถติดตั้งในแนวตั้งได้รอบผนังอาคารทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่แผงโซล่าเซลล์ได้มากกว่าเดิมหลายเท่าตัว
 
ทีมวิจัยได้ประมาณไว้ว่าเฉพาะในสหรัฐอเมริกาน่าจะมีผนังกระจกอาคารมากถึง 7,000 ล้านตารางเมตร ซึ่งถ้าสามารถติดตั้งโซล่าเซลล์แบบใสนี้บนกระจกทั้งหมดจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 40% ของความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา และอนาคตอาจจะทำได้ถึง 100% ถ้าเทคโนโลยีการกักเก็บไฟฟ้าถูกพัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตามโซล่าเซลล์แบบใสนี้ยังอยู่ในขั้นตอนวิจัยและพัฒนา ถึงแม้โครงการนี้ได้ริเริ่มมาประมาณ 5 ปีแล้ว ปัจจุบันประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโซล่าเซลล์แบบใสอยู่ที่ 5% ในขณะที่แผงโซล่าเซลล์ทั่วไปซึ่งถูกวิจัยและพัฒนามากว่า 50 ปีมีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 15-18% ทางทีมวิจัยตั้งใจจะพัฒนาโซล่าเซลล์แบบใสให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงโซล่าเซลล์ทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับวัสดุอื่นๆ นอกเหนือกระจกหน้าต่างอาคาร
 
Visitors: 1,215,845