โอลิมปิก 2024 รักษ์โลก สไตล์ฝรั่งเศส ตั้งเป้าลด 'ก๊าซเรือนกระจก' 50%

‘โอลิมปิก 2024’ รักษ์โลก สไตล์ ‘ฝรั่งเศส’ ตั้งเป้าลด 'ก๊าซเรือนกระจก' 50%

  • “โอลิมปิก 2024” ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส มุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนเป็นหลัก โดยตั้งเป้าจะปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” น้อยกว่าการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน 50%
  • คณะจัดงานเข้มงวดกับทุกกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า อาหาร การเดินทางมายังสถานที่จัดการแข่งขัน รวมไปถึงการก่อสร้างและจัดเตรียมสถานที่
  • ประมาณ 95% ของสถานที่ที่จะใช้ในโอลิมปิกปี 2024 เป็นอาคารเก่าหรือโครงสร้างชั่วคราว ส่วนอาคารที่ก่อสร้างใหม่ประมาณ 5% ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน ลดการใช้ปูนซีเมนต์ลงและใช้ไม้มากขึ้น หลังจากสิ้นสุดการแข่งขันจะเปิดให้คนท้องถิ่นได้ใช้
 

“โอลิมปิก 2024” ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ใกล้เปิดฉากเข้าฉากเข้ามาทุกที ทุกภาคส่วนเร่งเตรียมความพร้อมสุดความสามารถ เพื่อรองรับนักกีฬา 10,500 คนและผู้ชมประมาณ 15 ล้านคนเข้ามาที่จะเข้ามามหกรรมการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงปัญหา “ภาวะโลกร้อน” ด้วยเช่นกัน ทำให้ฝรั่งเศสเน้น “รีโนเวท” อาคารที่มีอยู่แล้ว แทนที่จะสร้างใหม่

การจัดงานโอลิมปิก 2024 ที่กำลังจะเปิดฉากในระหว่างวันที่ 26 ก.ค. - 11 ส.ค. 2024 มุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อนเป็นหลัก โดยตั้งเป้าจะปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” น้อยกว่าการแข่งขันโอลิมปิก 2012 ที่ลอนดอน 50% 

สาเหตุที่ปารีสเลือกใช้การแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอนเป็นเกณฑ์การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากผู้จัดงานเมื่อปี 2012 พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน อีกทั้งมีวัดปริมาณการปล่อยก๊าซที่เป็นมาตรฐาน เช่น ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตได้จากปริมาณปูนซีเมนต์ที่ในการก่อสร้างอาคาร

ดังนั้นคณะจัดงานจึงเข้มงวดกับทุกกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า อาหาร การเดินทางมายังสถานที่จัดการแข่งขัน รวมไปถึงการก่อสร้างและจัดเตรียมสถานที่

ด้วยเหตุนี้จึงมีการเพิ่มพื้นที่สำหรับจอดจักรยานมากขึ้น เตรียมยกเลิกการใช้เครื่องปั่นไฟดีเซลที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับการแข่งขันกีฬาใหญ่ ๆ และเปลี่ยนมาใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่จะติดตั้งในแม่น้ำแซนแทน ขณะที่เมนูอาหารจะเน้นไปที่ใช้พืชผักมากกว่าจะใช้สเต๊กเนื้อสไตล์ฝรั่งเศสที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า

 

ปรับปรุงเมืองประวัติศาสตร์

ในตอนนี้ปารีสกำลังเปลี่ยนแปลง “เมืองประวัติศาสตร์” เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น โดยประมาณ 95% ของสถานที่ที่จะใช้ในโอลิมปิกปี 2024 เป็นอาคารเก่าหรือโครงสร้างชั่วคราว ตัวอย่างเช่น สระว่ายน้ำชั่วคราวหลายแห่งจะถูกสร้างขึ้นสำหรับเกม จากนั้นจึงแยกส่วนและติดตั้งใหม่ในชุมชนที่ไม่มีสระน้ำสาธารณะ

การปรับปรุงอาคารต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วแทนการสร้างใหม่สำหรับการแข่งขัน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากจากการผลิตคอนกรีตและเหล็ก โดยจะรีโนเวท “กร็องปาแล” (Grand Palais) สถาปัตยกรรมแก้วที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้กลายเป็นเป็นสนามกีฬาในร่ม ใช้ในกีฬาฟันดาบและเทควันโด 

ส่วน สระว่ายน้ำจอร์จ วัลเลอเรย์ ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 100 ปีแล้ว สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกปี 1924 ก็ได้รับการรีโนเวทใหม่ โดยติดตั้งระบบกรองอากาศแบบใหม่ พร้อมติดตั้งหลังคาที่ช่วยให้แสงอาทิตย์สามารถเข้าถึง แต่ก็กันความร้อนและความเย็นได้ ส่วนคานไม้เก่าก็ถูกนำมาดัดแปลงเป็นเคาน์เตอร์

ขณะที่ “ปลัส เดอ ลา กงกอร์ด ” (Place de la Concorde) หรือ จัตุรัสคองคอร์ด จัตุรัสที่ใหญ่ที่สุดในปารีสถูกสร้างสมัยศตวรรษที่ 18 กำลังปรับปรุงให้กลายเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เช่น การแข่งขันสเกตบอร์ด โดยเพิ่มการติดตั้งเต้ารับไฟฟ้าแรงสูงที่เชื่อมเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติที่เป็นพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไม่ต้องใช้พึ่งพาเครื่องปั่นไฟดีเซล และไม่ต้องห่วงว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้สำหรับการแข่งขัน

ปิแอร์ ราบาด็อง รองนายกเทศมนตรีด้านการกีฬาของปารีส กล่าวว่า “เราไม่จำเป็นต้องทุบทุกอย่างทิ้งแล้วสร้างใหม่”

ระบบขนส่งมวลชนและการคมนาคมเป็นอีกสิ่งที่สร้างมลภาวะทางอากาศเป็นอย่างมาก ในการแข่งขันครั้งนี้ทางการจึงได้สร้างเลนสำหรับจักรยานขึ้นมาโดยเฉพาะ ราบาด็อง กล่าวว่า “ปัญหาคือเราสร้างเมืองสำหรับรถยนต์มาโดยตลอด ตอนนี้เราลดพื้นที่ถนนสำหรับรถยนต์ลง แล้วมาสร้างเป็นเลนจักรยานแทน”

ขณะเดียวกัน ทางการก็เร่งขยายเส้นทางรถไฟใต้ดินเพื่อรองรับการจำนวนคนมหาศาลที่จะมาเยือนปารีสในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาชนงดใช้การเดินทางโดยรถไฟใต้ดินในช่วงการแข่งขัน หรือทำงานจากที่บ้านเพื่อลดความหนาแน่นในสถานีลง

แดน แลร์ รองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส ผู้รับผิดชอบด้านการกำจัดความร้อนในเมือง เปิดเผยกับ The New York Times ว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วหลายพันต้น และกำลังจะติดตั้งเครื่องพ่นไอน้ำตามอาคารต่าง ๆ เพื่อลดความร้อนในฤดูร้อน 

 

อาคารสร้างใหม่ก็ต้องรักษ์โลกกว่าเดิม

อาคารที่ก่อสร้างใหม่ประมาณ 5% ที่ใช้สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้ได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ปูนซีเมนต์น้อยลงและใช้ไม้มากขึ้น พร้อมติดแผงโซลาร์เซลล์และปลูกต้นไม้ไว้บนหลังคา และหลังจากสิ้นสุดการแข่งขันจะเปิดให้คนท้องถิ่นได้ใช้ต่อเนื่องไปอีกหลายสิบปี

ศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งใหม่ ริมทางหลวงในย่านชานเมืองทางตอนเหนือของแซงต์-เดอนีส์ ถูกออกแบบให้ตัวอาคารมีขนาดเล็กลง และใช้ไม้สนทำหลังคา เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานในการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคาร ขณะที่สระว่ายน้ำจะมีส่วนที่ลึก 5 เมตรเฉพาะส่วนที่ใช้สำหรับดำน้ำเท่านั้น ส่วนบริเวณอื่น ๆ จะมีความลึกไม่ถึง เพื่อประหยัดน้ำและลดพลังงานความร้อนที่ช่วยให้น้ำอุ่น ขณะที่ที่นั่งของผู้ชมจำนวน 5,000 ที่ผลิตมาจากพลาสติกรีไซเคิล

“หมู่บ้านนักกีฬา” เป็นโครงการก่อสร้างใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยพื้นที่ 128 เอเคอร์ โดยทีมผู้สร้างกล่าวว่าการก่อสร้างในครั้งนี้จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าโครงการทั่วไปที่มีขนาดเท่ากันอย่างน้อย 30% เนื่องจากหมู่บ้านนี้ใช้ไม้เป็นวัสดุส่วนใหญ่ อีกทั้งตามทางเดินของหมู่บ้านยังมีการปูด้วยเปลือกหอยนางรม โดยในวันที่อากาศร้อนสามารถนำน้ำมารดที่ทางเดินก็จะช่วยให้พื้นเย็นขึ้นได้ พร้อมปลูกต้นไม้ 9,000 ต้น รวมถึงพันธุ์ในท้องถิ่น เช่น ต้นโอ๊กและต้นเอล์มที่สามารถอยู่รอดได้ในอนาคตที่ร้อนกว่านี้

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น และอาจทำให้ปารีสมีอากาศร้อนจัดในช่วงการแข่งขัน ดังนั้นการตัดสินใจที่จะไม่ติดเครื่องปรับอากาศในหมู่บ้านนักกีฬา โดยภายในอาคารจะมีระบบทำความเย็นจากน้ำบาดาลแทนและน้ำที่ถูกรีไซเคิล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Geo-exchange system” 

มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐ รวมถึงมหาวิหารเซนต์แพทริค ในมหานครนิวยอร์ก ก็หันมาใช้ระบบ Geo-exchange system แต่ใช้การแลกเปลี่ยนอากาศ ไม่ได้ใช้น้ำเหมือนในการแข่งขันครั้งนี้

แต่ด้วยระบบที่ยังใหม่ทำให้เกิดความกังวลว่าระบบอาจจะเย็นไม่พอ จนทีมนักกีฬาหลายประเทศ ทั้งสหรัฐ แคนาดา นอร์เวย์ ออสเตรเลียและไอร์แลนด์ ตัดสินใจว่าอาจจะพกเครื่องปรับอากาศมาเอง 

นอกจากนี้ ผู้จัดการแข่งขันจะชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อ “คาร์บอนเครดิต” เพื่อสนับสนุนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกอีกด้วย คณะกรรมการจัดงานคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นแนวทางสำหรับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งต่อ ๆ ไป 


ที่มา: The New York Times

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1118993

 

 

Visitors: 1,429,828