วัคซีนของมหาวิทยาลัย Oxford ประสบความสำเร็จในมนุษย์

ข่าวดี !!! วัคซีนของมหาวิทยาลัย Oxford
ประสบความสำเร็จในมนุษย์ พบการตอบสนองที่ดี ทั้งระดับภูมิต้านทานสูง และการทำงานของเม็ดเลือดขาวดี
 
 
University of Oxford ร่วมกับบริษัท AstraZeneca ของอังกฤษ ได้รายงานผลการวิจัยเบื้องต้น(เฟส 1/2 จาก 3เฟส)ว่า
วัคซีนต้นแบบคือ AZD 1222 สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแบบ Protective Neutralizing Antibody ได้ โดยเกิดควบคู่ (Dual lmmune Action)ไปกับการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวแบบ T-cell ซึ่งคาดว่าจะช่วยป้องกันมนุษย์จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้
 
ก่อนอื่นขออนุญาติปูพื้น ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องระบบภูมิต้านทาน เรื่องวัคซีน และการวิจัยทดลองกันสักเล็กน้อยครับ
 
 
1) ระบบภูมิต้านทานของมนุษย์ในการต่อสู้กับเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัสมีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่จะกล่าวถึงในที่นี้ขอเน้นสองรูปแบบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การที่ร่างกายสร้างโปรตีนในกระแสเลือดออกมาสู้กับเชื้อโรคเรียกว่า ภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ (Antibody) และการเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า ทีเซลล์(T-cell)ให้สามารถออกมาต่อสู้กับเชื้อโรคได้
 
2)การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาวัคซีน มีสามขั้นตอนสำคัญดังนี้
2.1 การทดลองวิจัยในห้องปฏิบัติการ
2.2 การทดลองวิจัยในสัตว์ทดลอง เช่น หนูและลิง
2.3 การทดลองวิจัยในมนุษย์หรืออาสาสมัคร ซึ่งการทดลองในขั้นตอนนี้ ยังแบ่งย่อยออกเป็นอีก 3เฟส หรือ 3ระยะ ได้แก่
เฟส 1 ทดลองดูความปลอดภัย(Safety)ในกลุ่มตัวอย่างจำนวนน้อย
เฟส 2 ทดลองดูความปลอดภัยในกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากขึ้น ดูความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน
(Immunogenicity) และดูขนาดของวัคซีน(Dosage)ในปริมาณที่แตกต่างกัน
เฟส 3 ดูประสิทธิผล(Effectiveness)ความสามารถของวัคซีนในการป้องกันโรคได้ในสถานการณ์จริง
 
 
Professor A.Pollard จากมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าว ได้ให้ข้อมูลรายละเอียดว่า การวิจัยโครงการนี้มีชื่อว่า COV001 เป็นการวิจัยตามมาตรฐาน โดยใช้อาสาสมัครจำนวน 1077 คน อายุ 18 ถึง 55 ปี โดยแบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม
 
กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริง AZD1222 โดยจะมีบางส่วนฉีดวัคซีนหนึ่งเข็ม และอีกส่วนหนึ่งฉีดวัคซีนสองเข็ม และมีการตรวจเลือดติดตามเป็นระยะ
 
กลุ่มที่สองคือ กลุ่มควบคุม(control) ฉีดวัคซีนซึ่งใช้ป้องกันโรคอื่น(Meningococcal Conjugated Vaccine)
 
การศึกษาวิจัยนี้ทำในศูนย์วิจัยห้าแห่งของสหราชอาณาจักร โดยขนาดวัคซีนที่ใช้คือ ห้าหมื่นล้านชิ้นส่วนไวรัส( 5x10/10 viral particles)
โดยงานวิจัยนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดัง (Lancet) เป็นการวิจัยร่วมระหว่างบริษัท AstraZeneca กับ University of Oxford ในส่วนของบริษัทลูก(Spin-out company ชื่อ Vaccitech)
 
ได้พัฒนาร่วมกันโดยใช้หลักการนำไวรัสมาเป็นพาหะ (Viral Vectors)โดยในงานวิจัยนี้ใช้ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดธรรมดามาทำให้อ่อนกำลังลง (Adenovirus)เพื่อที่จะช่วยพารหัสพันธุกรรมของโคโรนาไวรัสเข้าสู่เซลล์มนุษย์ แล้วทำให้ร่างกายเกิดการสร้างโปรตีนส่วนหนาม(S-Protein)ของไวรัส เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันโรคอีกทอดหนึ่ง
 
 
ผลการศึกษาวิจัยในเฟส 1/2 พบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้สูง 4เท่าเมื่อตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในวันที่ 28 โดยขึ้น 91% ในกลุ่มที่ฉีดเข็มเดียวและขึ้น 100% ในกลุ่มที่ฉีดสองเข็ม ระดับภูมิต้านทานที่ได้อยู่ในระดับเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่หายแล้ว
ที่สำคัญยังตรวจพบการตอบสนองของทีเซลล์อย่างมากด้วย ตรงนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ(Asymptotic) และตรวจไม่พบภูมิคุ้มกันนั้น กลับตรวจพบการตอบสนองของทีเซลล์
 
จึงคาดว่าทีเซลล์คงจะมีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคนี้ได้ด้วย ผลข้างเคียงที่ตรวจพบนั้น พบในระดับปกติที่ไม่แตกต่างกับวัคซีนชนิดอื่นๆซึ่งผลิตด้วยเทคนิคเดียวกันในการทำวัคซีน ได้แก่ ปวดตำแหน่งที่ฉีด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย และอาจมีไข้ได้ เมื่อให้พาราเซตตามอลก่อนฉีดวัคซีนก็พบว่าได้ผลดี และอาการต่างๆเหล่านี้จะลดน้อยลงเมื่อฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่สอง
 
ในขณะนี้(15กค63) องค์การอนามัยโลกได้แจ้งข้อมูลโครงการวิจัยดังนี้ มีโครงการวิจัยทั้งสิ้น 163 โครงการ เป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง(Pre-clinical trials)140 โครงการ เป็นการทดลองในมนุษย์(Clinical trials) 23 โครงการ แบ่งออกเป็น
เฟสหนึ่ง 10 โครงการ
เฟสสอง 10 โครงการ
เฟสสาม 3โครงการ วัคซีน
 
วัคซีนนี้อยู่ในเฟส1/2 และจะขยับเข้าไปทดลองวิจัยในเฟส2/3ในอีกสองเดือนข้างหน้า และนับเป็นหนึ่งในความหวังของวัคซีนร่วมกับโครงการอื่นๆอีก 23 โครงการครับ
 
 
หมายเหตุ : วัคซีนของไทยเรา(จุฬาฯ) ก็มีความคืบหน้ามาก ในอีกสองเดือนนี้ก็จะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์เฟสหนึ่ง จัดว่าอยู่ในกลุ่มวัคซีนชั้นนำของโลกครับ
 
Reference
 
ขอบคุณที่มา : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย
Visitors: 1,427,737