นักวิทยาศาสตร์จีน เผยไวรัสโควิด-19 แพร่ไกล 4.5 เมตรอยู่ในอากาศ 30 นาทีในที่ปิด

นักวิทยาศาสตร์จีน เผยไวรัสโควิด-19 แพร่ไกล 4.5 เมตรอยู่ในอากาศ 30 นาทีในที่ปิด

สำนักข่าวต่างประเทศเผยว่าวันนี้(10 มีนาคม 2563) นักวิทยาศาสตร์จีนเผยข้อมูลใหม่ว่า ในสภาพแวดล้อมปิด เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถแพร่ได้ไกล 4.5 เมตร และอยู่ในอากาศได้นานอย่างน้อย 30 นาที

นักระบาดวิทยาของจีนเผยรายงานล่าสุดที่บ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สามารถอยู่ในอากาศได้อย่างน้อย 30 นาทีและแพร่ไปไกลถึง 4.5 เมตร ซึ่งเกินกว่าระยะปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแนะนำให้อยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อ 1-2 เมตร นอกจากนี้นักวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายวันบนวัตถุที่มีฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจตกลงบนพื้นผิว ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อหากมีใครสัมผัสฝอยละอองบนวัตถุแล้วไปสัมผัสใบหน้า แต่ระยะเวลาที่เชื้ออยู่บนวัตถุขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อุณหภูมิ และชนิดของวัตถุ เช่น ที่อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 2-3 วันบนแก้ว ผ้า โลหะ พลาสติก หรือ กระดาษ

รายงานนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Practical Preventive Medicine เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลจากนักวิจัยจากมณฑลหูเป่ย ที่สอบสวนโรคกรณีการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนเคสหนึ่งเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ในช่วงที่มีการเดินทางมากที่สุดเพื่อกลับบ้านไปฉลองเทศกาลตรุษจีน และผู้โดยสารคนหนึ่งมีอาการป่วยและเดินทางด้วยรถบัสขนาด 48 ที่นั่งเป็นเวลา 4 ชม. โดยไม่สวมหน้ากาก และผู้โดยสารส่วนใหญ่หรือคนขับก็ไม่สวมหน้ากาก โดยขณะนั้นจีนยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดเป็นวิกฤตระดับประเทศ

ผลการศึกษายืนยันได้ว่า ในสภาพแวดล้อมปิดที่มีเครื่องปรับอากาศ เชื้อสามารถแพร่ได้ไกลเกินกว่าระยะปลอดภัยที่เข้าใจกัน และเชื้อยังสามารถล่องลอยอยู่ได้นานหลังจากผู้ติดเชื้อลงจากรถบัสไปแล้ว นอกจากนี้เชื้อยังมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า 5 วันในอุจจาระหรือของเหลวจากร่างกายคน

ภาพจากกล้องวงจรบ่งชี้ว่า ผู้ป่วยไม่ได้สัมผัสกับใครตลอดการเดินทาง แต่ตอนรถจอดที่เมืองต่อไป ไวรัสได้แพร่จากเขาไปยังผู้โดยสารอีก 7 คน ซึ่งรวมไปถึงคนที่นั่งไกลจากเขา 4.5 เมตร และทั้ง 7 คนติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งคนหนึ่งไม่มีอาการป่วย และหลังจากผู้โดยสารลงจากรถหมดแล้ว ผู้โดยสารอีกกลุ่มขึ้นรถคันเดียวกันนี้่ในอีกเกือบ 30 นาทีต่อมา ปรากฏว่าผู้โดยสารคนหนึ่งติดเชื้อด้วย ซึ่งเขาไม่ได้สวมหน้ากากและอาจสูดหายใจละอองฝอยเล็กๆ ที่ปล่อยออกมากับลมหายใจของผู้โดยสารติดเชื้อ เหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะในพื้นที่ปิด การถ่ายเทอากาศหลักๆมาจากอากาศร้อนจากเครื่องปรับอากาศ อากาศร้อนหอบละอองฝอยที่มีไวรัสไปไกลมากขึ้น

หลังลงจากรถโดยสารคันนี้แล้ว ผู้ป่วยคนแรกต่อรถมินิบัส และเดินทางอีก 1 ชม. ทำให้มีผู้โดยสารอีก 2 คนติดเชื้อ ซึ่งนั่งห่างออกไป 4.5 กม.จากผู้ป่วยเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า ผลการศึกษานี้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของการล้างมือและการสวมหน้ากากในที่สาธารณะเพราะไวรัสอยู่ในอากาศโดยเกาะอยู่กับฝอยละอองจากระบบทางเดินหายใจ

 

ที่มา : Nation Online

Visitors: 1,380,180