โควิด19 แพร่ผ่านอากาศ(Airborne)ได้ จาก239 ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

จดหมายเปิดผนึกถึงองค์การอนามัยโลก โควิด19 แพร่ผ่านอากาศ(Airborne)ได้

จาก239 ผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

การแพร่ระบาดของไวรัสก่อโรคโควิด-19 โดยเฉพาะในกรณีเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่(Super spreader) มักจะมีปัจจัยร่วมกันดังนี้

1)สถานที่แออัด

2)การระบายอากาศไม่ดี

3)อยู่ร่วมกันเป็นเวลานาน

4)ไม่ได้ใส่หน้ากาก

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในสถานที่ที่มีปัจจัยดังกล่าว ทำไมจึงมีการติดเชื้อได้ง่ายและมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 239 คนจาก 32 ประเทศนี้ หลายคนทำงานเป็นที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก หลายคนได้มีส่วนร่วมในการร่างแนวปฏิบัติขององค์การอนามัยโลกต่อการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 บางคนมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง เช่น Harvard และ Oxford

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวได้เสนอความเห็นจากการสังเกตและจากข้อมูลหลักฐานหลายประการ(แม้จะยังมีข้อถกเถียงกันอยู่บ้างก็ตาม) ว่า

ไวรัสโคโรนาสามารถแพร่ผ่านทางฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน (Aerosol) ได้ หรือเรียกว่า Airborne Transmission ซึ่งเดิมเชื่อกันว่าเป็นไปไม่ได้เลย แต่จะแพร่ผ่านได้ทางฝอยละอองสิ่งคัดหลั่งขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอน(Droplets)เท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ ได้เสนอหลักฐานบางประการว่า ฝอยละอองขนาดเล็กก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ร่วมไปกับฝอยละอองขนาดใหญ่ และได้เรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกทบทวนหลักฐานต่างๆเพื่อให้ได้ข้อสรุปในการเสนอมาตรการแนะนำออกมาโดยเร็ว

ในขณะนี้องค์การอนามัยโลกเอง ยังคงยืนยันว่าการติดเชื้อของโควิด-19 ผ่านAerosolนั้น จะเกิดขึ้นได้กรณีเดียวเท่านั้นคือเกิดในระหว่างทำหัตถการทางการแพทย์(Medical Procedures)

Dr.B.Allegrazi ซึ่งเป็นหัวหน้าทางด้านการควบคุมการติดเชื้อ องค์การอนามัยโลก บอกว่าหลักฐานที่เกี่ยวกับการเผยแพร่เชื้อผ่านฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนนั้น ยังมีไม่เพียงพอ

แต่อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าในสถานที่ที่แออัด การระบายอากาศไม่ดี และผู้คนไม่ได้ใส่หน้ากาก แม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการไอหรือจาม(ซึ่งจะทำให้เกิดฝอยละอองขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอนได้) ก็มีคนติดเชื้อได้โดยที่คนในกลุ่มดังกล่าวเพียงแค่พูดคุยกันเสียงเบาเบา(ซึ่งจะก่อให้เกิดฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน) แสดงว่าเชื้อไวรัสสามารถแพร่ผ่านผ่านฝอยละอองขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอนได้ด้วย

กลุ่ม 239 นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าร่างแนวปฏิบัติหรือคำแนะนำหลายอย่างในขณะนี้ขององค์การอนามัยโลกเอง ก็ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มากเพียงพอ ใช้ความเชื่อเพื่อความปลอดภัยเช่นกัน เช่น การแนะนำให้ล้างมือบ่อยบ่อยเพราะมืออาจจะไปสัมผัสติดไวรัสจากพื้นผิววัตถุต่างๆ ซึ่งยังมีหลักฐานไม่มากพอที่จะบอกว่าพื้นผิววัตถุต่างๆมีไวรัสที่มีชีวิตอยู่

นอกจากนั้น กลุ่มดังกล่าวยังได้บอกว่าองค์การอนามัยโลกมักจะออกคำแนะนำที่ล่าช้าอยู่เสมอ เช่น การแนะนำให้ใส่หน้ากากในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงดีเวลาออกนอกบ้าน หรือการออกมายืนยันข้อเท็จจริงว่า มีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการอยู่เป็นจำนวนพอสมควรในสังคมที่แพร่เชื้อได้

ในท้ายที่สุด กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ดังกล่าวได้เสนอว่า องค์การอนามัยโลกควรจะรับฟังและเรียกประชุมโดยด่วน เพื่อหาข้อยุติหรือข้อสรุปว่า ไวรัสโควิด-19 สามารถเผยแพร่ผ่านทางอากาศได้หรือไม่(Airborne Transmission) เพื่อจะได้ออกคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างทันท่วงที ในการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อไปครับ

 

https://www.pressreader.com/south-africa/the-witness/20200707/281685437131254

ที่มา : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

Visitors: 1,403,315