ม่านลม ความหวังในการฟื้นธุรกิจการบิน??

"ม่านลม" ความหวังในการฟื้นธุรกิจการบิน??

ม่านที่มองไม่เห็นนี้จะช่วยปกป้องผู้โดยสารจากเชื้อโควิด-19 แม้จะเป็นที่นั่งชั้นประหยัดที่นั่งติดกันก็ตาม 

ม่านลมที่มองไม่เห็นนี้จะมาช่วยให้ธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหรือไม่?
 

วันนี้ประเทศเราเริ่มมีการบินในประเทศ ธุรกิจสายการบินแม้จะกลับมาดำเนินงานได้ แต่ด้วยข้อกำหนดในการบินที่เข้มงวด การเว้นระยะห่าง อาจทำให้ต้องมีการเพิ่มราคาค่าโดยสาร

นั่นทำให้ผู้โดยสารลังเลที่จะใช้บริการทั้งจากราคาที่สูงขึ้น ความเสี่ยง ข้อปฏิบัติที่เข้มงวด สถานการณ์อย่างนี้ไม่ได้ช่วยให้ธุรกิจการบินอยู่ในสถานการณ์ที่ดีขึ้นเลย ยิ่งบินอาจจะยิ่งเจ็บตัว

ม่านกันโควิดที่พยายามคิดกันขึ้นมา

ดังนั้นจึงมีความพยายามหาแนวทางที่จะช่วยให้ธุรกิจการบินกลับมาดำเนินงานได้ใกล้เคียงก่อนหน้าการระบาด เช่น การทำฉากกั้นระหว่างที่นั่งแบบใส

แต่จากที่เห็นดูปุ๊ปก็รู้ว่าถ้าให้เราไปนั่งเก้าอี้ที่มีฉากครอบแบบนี้คงไม่เอาใช่ไหมครับ อึดอัดยังไงก็ไม่รู้

งั้นแบบนี้ละ

หรือแม้แต่ไอเดียทำฉากกั้นสลับ โดยหมุนเก้าอี้สลับหน้าหลังเป็นฟันปลา

เป็นไงครับไอเดียนี้ ผมว่ามันก็ไม่น่าจะเวิร์คนะ

 

มาวันนี้ Teague บริษัทอุตสาหกรรมการบินในอเมริกาได้นำเสนอแนวคิดใหม่สำหรับ New Normal ในธุรกิจการบินเพื่อสู้ภัยโควิด

Teague ได้นำเสนอ Air Shield ม่านลมที่ใช้การปรับปรุงหัวจ่ายลมสำหรับระบบปรับอากาศในห้องโดยสาร แทนช่องส่งลมแบบเดิมที่มีอยู่

ช่องแอร์ในห้องโดยสารบนเครื่องบินทั่วไปในปัจจุบัน
 

ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างเที่ยวบินโดยสารนั้นเกิดจากการที่ต้องอยู่ในห้องปรับอากาศที่อากาศหมุนวนเวียนซ้ำ ๆ

การกระจายลมและเวียนอากาศในห้องโดยสาร

และเมื่อมีการไอหรือจามก็ทำให้คนที่นั่งใกล้ ๆ มีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสที่ปลิวไปตามลม

ถ้านั่งอยู่ในเครื่องบินแล้วคนข้างหลังจาม โอกาสได้รับของแถมมีสูง

แต่ด้วยม่านลมจากหัวจ่ายลมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ ซึ่งจะบีบลมให้พุ่งออกมาเหมือนเป็นมีดลม (Air Blade) ล้อมผู้โดยสารแต่ละที่นั่ง

ลักษณะบริเวณที่แต่ละหัวจ่ายนั้นจ่ายลมและสร้างแนวม่านลมในแต่ละแถวที่นังโดยสาร

ซึ่งจากการวิเคราะห์ในคอมพิวเตอร์ พบว่าด้วยหัวจ่ายลม Air Shield นี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะกันลมจากการไอ หรือจาม ไม่ให้พุ่งไปถึงผู้โดยสารที่อยู่ข้าง ๆ ได้

ม่านลมช่วยกันกระแสลมจากการไอและจามไม่ให้ไปถึงผู้โดยสารข้าง ๆ

และเมื่ออากาศที่อาจปนเปื้อนถูกหมุนเวียนกลับเข้าระบบแอร์รวมในห้องโดยสาร ก็สามารถจัดการได้ด้วยการให้ไหลผ่านไส้กรอง HEPA และระบบฆ่าเชื้อ ก่อนที่จะจ่ายลมวนออกมาในห้องโดยสารอีกรอบ

ระบบแอร์รวมดึงลมกลับมาจากด้านล่างผ่าน HEPA Filter และอาจพิจารณาติดตั้งระบบฆ่าเชื้อเพิ่มเติมก่อนวนเข้าระบบทำความเย็น

ซึ่งแนวทางนี้สามารถนำมาทำการปรับปรุงกับห้องโดยสารเดิมได้ง่าย ๆ เพียงแค่การเปลี่ยนหัวจ่ายลมเป็นแบบพิเศษที่มีลักษณะเป็นเส้นโค้งเพื่อรีดลมให้ออกมาเป็นม่านลม

หัวจ่ายลมของ Air Shield จะเป็นเส้นโค้ง ๆ อย่างที่เห็นในรูป

ด้วยแนวทางการปรับปรุงหัวจ่ายลมนี้ Teague เชื่อว่าจะช่วยให้สายการบินสามารถจำหน่ายตั๋วโดยสารได้โดยไม่ต้องเว้นที่นั่งที่จะทำให้มีผลกระทบต่อต้นทุนและราคาตั๋ว

การเว้นระยะห่างอาจไม่ใช่คำตอบเดียวเสมอไปก็ได้ ถ้าเราเข้าใจถึงกลไกและหลักวิธีการป้องกันการแพร่ระบาด

 

ชอบแนวทาง New Normal ในการบินแบบสู้ภัยโควิด-19 อันนี้มากเลยครับ หวังว่าจะได้รับการพิจารณและอนุมัติโดย FAA ในเร็ววัน อย่างน้อยธุรกิจการบินจะได้ฟื้นตัวบ้าง ดีต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้โดยสาร 

 

 

Visitors: 1,427,739