โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเยาวชนเพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนเชียงราย

โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเยาวชนเพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนเชียงราย 
 
 
 
มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ดำเนิน “โครงการบ่มเพาะนวัตกรรมเยาวชนเพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้คนเชียงราย” (Youth Innovation Challenge to Tackle Air Pollution Issue) เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 15-24 ปี มาร่วมสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในชุมชนของตนเอง โดยชวนน้อง ๆ ไปลงพื้นที่เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และคิดค้นนวัตกรรมการจัดการกับปัญหานี้ร่วมกับชุมชน ท้องถิ่นของตน เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างตอบโจทย์และยั่งยืนในอนาคต
 
เยาวชน 158 คน 43 ทีม จาก 25 สถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย สมัครเข้าร่วมโครงการฯ และมี 10 ทีมรวม 36 คน ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ ระยะเวลา 5 วัน เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมและทดลองเครื่องมือเพื่อให้เข้าใจ วิเคราะห์ และเชื่อมโยงปัญหาได้ลึกและครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศได้อย่างตรงจุด ผ่านกระบวนการ Design Thinking และการให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ทำความเข้าใจประสบการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา และการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการแก้ไขปัญหา
 
จากนั้น เยาวชนทั้ง 10 ทีม ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ลงพื้นที่จริงเพื่อนำกระบวนการเข้าใจปัญหาและสร้างการมีส่วนร่วมไปใช้ในชุมชน พร้อมกับคิดนวัตกรรมร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและท้องที่ท้องถิ่น และกลับมานำเสนอโครงการฯ ต่อคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ได้แก่ สำนักงานจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เครือเจริญโภคภัณฑ์ สภาลมหายใจภาคเหนือ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เพื่อคัดเลือกเยาวชน 3 ทีม ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการลงมือทำจริงในชุมชน ระยะเวลา 2 เดือน ก่อนจะกลับมานำเสนอผลการดำเนินงาน การมีส่วนร่วมของชุมชน และความยั่งยืนของโครงการฯ อีกครั้ง เพื่อคัดเลือกผู้ชนะ
 
ในครั้งนี้ เยาวชนทีมเด็กรักษ์โลก จากโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย เป็นผู้ชนะโครงการ Clean Air Heroes นักสู้กู้อากาศ ด้วยนวัตกรรมการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศผ่านการนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์ในการเพาะเห็ด และนำเห็ดไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ เป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยน้อง ๆ ได้ร่วมมือกับเทศบาลและลงมือทดลองเพาะเห็ดด้วยตนเอง เพื่อเป็นต้นแบบให้ชาวบ้านในชุมชน
 
อย่างไรก็ดี เยาวชนทุกทีมล้วนแสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจจริง และลงพื้นที่จริงเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาที่รากเหง้า และหาทางแก้ไขร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน แสดงให้เห็นถึงพลังของเยาวชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบเชิงบวกให้ชุมชนของตนได้อย่างดียิ่ง ดังที่คุณโลวิต้า รามกุทธี รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทยได้กล่าวกับน้องๆ เยาวชนไว้ว่า "ทุกคนคือผู้ชนะ"
 
Visitors: 1,216,788