Smile Migraine One stop Service เพื่อชาวไมเกรน
Smile Migraine One stop Service
จากการสำรวจองค์การอนามัยโลก ระบุว่าโรคไมเกรนเป็น 1 ใน 3 โรคที่มีผลกระทบสูงสุดของกลุ่มคนวัยทำงาน โดยในประเทศไทยพบว่าใน 7 คนจะมีคนเป็นไมเกรน 1 คน และนั่นเท่ากับประชากร 10 ล้านคนเลยทีเดียว และคนไทยประมาณ 4 แสนคนเป็นไมเกรนเกือบทุกวันหรือทุกวัน กล่าวได้ว่าไมเกรนเป็นโรคสร้างผลกระทบตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ โดยมีช่วงที่พีคสุดระหว่างอายุ 24-35 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าไมเกรนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนลาหยุดงานเป็นอันดับ 1 ทีเดียว “มันอาจเป็นการยากที่คุณจะต่อสู้กับไมเกรนเพียงลำพัง แต่พวกเราจะร่วมมือกันเอาชนะมันให้ได้” ประโยคคำพูดที่ปรากฏบนหน้าเว็บ Smile Migraine ดังกล่าวเสมือนเป็นดั่งคำสัญญาที่ ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทที่ศึกษาเรื่องอาการปวดศีรษะไมเกรน (ในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไม่เกิน 4 คน) ยึดถือเป็นภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ ในฐานะผู้ก่อตั้ง “Smile Migraine” แอปพลิเคชันสำหรับผู้ป่วยไมเกรน สตาร์ทอัพที่ผ่านเวทีมามากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการได้รับทุน Open Innovation จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA อีกทั้งยังไปสร้างชื่อเสียงให้คนไทยในระดับสากลมาแล้วจากการคว้ารางวัล Smart App Awards 2021 ที่ฮ่องกง จากนวัตกรรมสู่โซลูชันสู้ไมเกรน ตลอดระยะเวลามากกว่า 15 ปี กับประสบการณ์รักษาผู้ป่วย คุณหมอสุรัตน์พยายามสร้างความตระหนัก สอนนักศึกษาแพทย์รักษาโรคปวดศีรษะ ให้ความรู้ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ มานาน แต่เหมือนเป็นการนำไม้ซีกไปงัดไม้ซุง เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาได้แท้จริง จนกระทั่งประมาณ 4 ปีที่แล้วมีโอกาสได้ไปดูงานโครงการสตาร์ทอัพรายการหนึ่งของ NIA ที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงเกิดไอเดียว่าน่าจะมีนวัตกรรมที่มาช่วยพลิกโฉมการดูแลคนไข้โรคไมเกรน โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย จากเหตุการณ์นั้นเป็นการจุดประกายให้คุณหมอสุรัตน์หันมาสนใจทำโปรเจกต์เกี่ยวกับนวัตกรรม พร้อมจัดตั้งบริษัทและทีมงานขึ้นมา เพื่อขอรับทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงเก็บเกี่ยวความรู้แง่มุมการต่อยอดนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์จากหลากหลายหน่วยงาน รวมทั้งอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ NIA จนได้นำองค์ความรู้มาพัฒนาเป็นโซลูชันในการดูแลผู้ป่วยไมเกรนชื่อ “Smile Migraine” ซึ่งแรกเริ่มที่ใช้ Smile Migraine นั้นเป็นแอปพลิเคชันก่อน แล้วค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์สร้าง ecosystem ในการสร้างบริการอื่นๆ เข้ามาช่วยรักษาคนไข้และการทำตลาดให้ครบวงจรมากขึ้น “ผมเข้าโครงการอินโนเวเตอร์เพื่อเรียนรู้การทำนวัตกรรมและการต่อยอดนวัตกรรมมาสู่การสร้างธุรกิจ เนื่องจากมีคนไข้กลุ่มหนึ่งอยู่บ้าง ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการสร้างระบบนิเวศวิทยาของตัวเองเพื่อให้ Smile Migraine เกิดความโดดเด่น ความ Unique เป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและความยั่งยืน ช่วงแรกแอปพลิเคชัน Smile Migraine มีฟีเจอร์ช่วยให้ชาวไมเกรนสามารถบันทึก ติดตาม วิเคราะห์สถานะไมเกรนได้ด้วยตนเอง ผ่านการวิเคราะห์ผลโดยแพทย์เฉพาะทาง และสอบถามผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องไมเกรนภายในแอปพลิเคชันได้เลย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานที่ให้ Smile Migraine ดูแลแล้วกว่า 10,000 คน ตอนแรกแอปพลิเคชันยังยืนไม่ได้ แต่ก็พอมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาไมเกรน เช่น วิตามิน แว่นกรองแสง หมอน ทุกอย่างที่ช่วยผู้ป่วยไมเกรนได้ใช้ชีวิตดีขึ้น มาเป็นรายได้หลักโดยมีแอปพลิเคชันเป็นตัวเชื่อม แต่ที่จริงไม่ได้อยากเป็นแอปฯ ขายของ จึงต้องต่อยอดฟีเจอร์และบริการอื่นๆ เพื่อมาสร้าง ecosystem ให้ผู้ใช้งาน เพราะเป้าหมาย คืออยากช่วยผู้ป่วยไมเกรนมีคุณภาพชีวิตที่ดี” เชื่อมโยงเครือข่ายไร้รอยต่อ สร้างคุณค่าใหม่ ด้วยความยึดมั่นในหลักการที่ศึกษาเรื่องการสร้างสตาร์อัพมาอย่างเข้มข้น Ecosystem แพลตฟอร์มที่คุณหมอสุรัตน์พัฒนาเพิ่มขึ้นจากระยะก่อตั้ง คือ เน้นให้ระบบเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งผู้ป่วย บริษัทยา โรงพยาบาล บริษัทประกัน ร้านขายยาแบบ stand-alone หรือแฟรนไชส์ โดยมี Smile Migraine เป็นตัวเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆ นี้ให้ไร้รอยต่อและสร้างมูลค่าใหม่เพิ่มขึ้น ปัจจุบัน Smile Migraine มี 4 โซลูชันในการขับเคลื่อน คือ
“ผมพยายามให้ Smile Migraine มีครบเป็น One stop Service ของคนเป็นไมเกรน อย่าง Tele-Migraine เป็นส่วนที่เพิ่งเริ่มมีและเริ่มมีผู้ป่วยใช้งานแล้ว แต่จะเปิดบริการเต็มรูปแบบในอีก 2 เดือน หรืออย่าง Migraine Community ทุกวันนี้มีชาวไมเกรนในชุมชนใช้งานกว่าแสนรายแล้ว” NIA ช่วยสร้างโอกาส ยกระดับธุรกิจ หากไม่เห็นไอเดียสร้างแรงบันดาลใจในงาน Startup Thailand เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และมาเจอกับ ณิชชนารถ ชุ่มมะโน ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มที่ลุยมาด้วยกัน “Smile Migraine” อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างในวันนี้ โดย NIA นอกเหนือช่วยเรื่องของทุนแล้ว คุณหมอสุรัตน์บอกว่าสิ่งสำคัญที่ประเมินค่าไม่ได้ คือ การให้ความช่วยเหลือในฐานะเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมให้ความรู้ผู้ประกอบการ ที่มีทั้งโครงการเข้าประกวด การอบรม มีหลักสูตรที่เรียนแล้วสามารถนำไปใช้งานได้จริง มีการติดตามผล “ผมเรียนเป็นสิบๆ หลักสูตรเลย แล้วนำมาประยุกต์จัดการองค์กรของเราให้เกิดเป็น One stop Service ของคนเป็นไมเกรน มีทั้งจำหน่ายยา ผลิตภัณฑ์ ให้คำปรึกษา พบแพทย์ ติดตามการรักษา คอมมูนิตี้ ผมได้ประสบการณ์มากมายในการสร้างโซลูชันให้ตอบโจทย์ มีเป้าหมายชัด มีที่ปรึกษาระดับประเทศ และต่างประเทศมาช่วย ทำให้มีแนวทางในการพัฒนาที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการขยายตลาด การสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสม เรียนการทำแบรนดิ้งให้เป็นโปรเฟสชั่นแนล ตอนนี้ค่อนข้างมั่นใจว่าสิ่งที่ทำอยู่มา 3 ปี ไม่ล้มหายตายไป ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็บอกว่า Health Tech Startup ปราบเซียน แต่เราก็อยู่ได้โดยมีทั้ง Structure, Passion, Core values ทำให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้” ผู้เชี่ยวชาญโรคไมเกรนกล่าว องค์ความรู้ของคุณหมอสุรัตน์ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตัวเขา แต่ยังส่งต่อประสบการณ์ไปยังสตาร์ทอัพรุ่นใหม่และวงการแพทย์ จากการเป็นโค้ชชิ่ง ผู้บรรยาย ภายใต้บทบาทของกรรมการพัฒนาย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (Suandok Medical Innovation District : SMID) และรองหัวหน้าศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหวังให้ Smile Migraine เป็นตัวอย่างที่ดีของการเป็น Health Tech Startup เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจด้าน Health Tech เหมือนกัน และตลอดการพัฒนาแพลตฟอร์ม Smile Migraine แม้จะค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ไม่ได้ราบรื่น ซึ่งหมอสุรัตน์ใช้คติประจำใจที่ยึดถือมาโดยตลอด คือ ถ้าทำงานแล้วรู้สึกมีความสุขก็จะมีแรงผลักดันไปกับมัน นั่นคืองานที่ควรทำ จงทำงานที่สร้างคุณค่าให้ตัวเองและสร้างคุณค่าให้คนอื่น เป็นงานที่ต้องรักตัวเองดูแลตัวเองและดูแลคนอื่นได้ด้วย
ที่มา : https://mthai.com/prnews/283800.html
|