การท่องเที่ยวสุดขั้ว: เหตุใดการสร้างสถิติเดินทางทั่วโลกจึงทำได้ยากขึ้น
การท่องเที่ยวสุดขั้ว: เหตุใดการสร้างสถิติเดินทางทั่วโลกจึงทำได้ยากขึ้น
การท่องเที่ยวแบบสุดขั้วอาจไม่ใช่กิจกรรมสำหรับคนใจเสาะ และคารี-มัตตี วาลทารี รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี ชายชาวฟินแลนด์ผู้นี้เคยถูกตำรวจจับหลายครั้ง รวมถึงถูกคุมขังในประเทศที่ตกอยู่ในภาวะสงคราม แต่ประสบการณ์เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการเดินทางไปยังสถานที่ที่น้อยคนนักจะไปถึงตั้งแต่ซินต์เอิสตาซียึส (เกาะในทะเลแคริบเบียนของเนเธอร์แลนด์) ไปจนถึงแซฟวิจ (หมู่เกาะของโปรตุเกสที่ไม่มีประชากรอาศัยอยู่ถาวร) แล้วทำไมเขายังคงออกเดินทางที่เสี่ยงอันตรายแบบนี้อยู่ "เพื่อให้ได้พบกับคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน" วาลทารี บอกกับบีบีซี เป้าหมายของชายผู้นี้คือการเดินทางรอบโลก และนั่นได้ทำให้ ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ เขาอยู่ในอันดับที่ 10 บนกระดานผู้นำ "บุคคลเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากที่สุดในโลก" ของเว็บไซต์ Most Traveled People หรือ MTP MTP เป็นสังคมออนไลน์สำหรับผู้รักการท่องเที่ยวแบบสุดขั้ว โดยปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 30,000 คน เว็บไซต์นี้มีขึ้นเพื่อให้ผู้คนได้เปรียบเทียบการผจญภัยของพวกเขา และแข่งขันกันเป็น "บุคคลที่เดินทางมากที่สุดในโลก" แต่การจะคว้าตำแหน่งนี้มาครอบครองได้สำเร็จ วาลทารี และนักเดินทางสุดขั้วคนอื่น ๆ บอกว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้นทุกที ชาร์ลส์ เวลีย์ ผู้ก่อตั้ง MTP เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างเว็บไซต์นี้ขึ้นหลังจากในปี 2000 เขาถูกหนังสือ Guinness Book of Records ปฏิเสธให้การรับรองว่าเขาคือบุคคลที่เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากที่สุดในโลก โดยให้เหตุผลว่าเขาต้องหาบุคคลที่สามมาเป็นผู้ตัดสิน "ผมรู้สึกเหมือนวิ่งแข่งมาราธอนในมหกรรมโอลิมปิก...ผมรู้สึกว่าได้ทำทุกอย่างแล้ว ทว่าเมื่อเข้าไปในสนามกีฬา กรรมการได้กลับบ้านกันไปหมดแล้ว ไม่มีใครอยู่ที่นั่น" เวลีย์ บรรยายความรู้สึกที่ถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาตัดสินใจก่อตั้ง MTP โดยเริ่มจากรายชื่อประเทศ และดินแดน ประมาณ 573 แห่ง แต่ตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็นราว 1,000 แห่งในปีต่อ ๆ มา เนื่องจากสถานที่ในรายชื่อเดิมได้ถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน เช่นในปีนี้ได้มีการปรับปรุงรายชื่อขึ้นเป็น 1,500 ประเทศ และดินแดน การขยายจำนวนสถานที่ดังกล่าว หมายความว่าคนที่เคยเดินทางไปทุกประเทศและดินแดนทั่วโลกมาแล้ว จะได้มีสถานที่ใหม่ ๆ ให้ไปเยือน ยกตัวอย่าง ไมเคิล รุนเคล ชาวเยอรมันซึ่งครองตำแหน่งคนเดินทางมากที่สุดในปัจจุบันจากการจัดอันดับของ MTP คือ 1,306 แห่งจากทั้งหมด 1,500 แห่ง การเพิ่มจำนวนสถานที่ของ MTP อ้างอิงมาจากชุมชนนักเดินทางอีกกลุ่มที่ชื่อ NomadMania ซึ่งแบ่งโลกออกเป็น 1,301 ภูมิภาคโดยประเมินจากประชากรในพื้นที่, ความคิดของคนท้องถิ่น และปัจจัยอื่น ๆ หนึ่งในภูมิภาคใหม่ที่ปรากฏในรายชื่อของ MTP คือ "ขั้วโลกใต้" ซึ่งถูกแยกออกจากภูมิภาคต่าง ๆ ในทวีปแอนตาร์กติกา ก่อนหน้านี้ นักเดินทางอาจอ้างว่าเคยไปเยือนแอนตาร์กติกามาแล้วเพียงแค่เดินทางไปยังขั้วโลกใต้ แต่ปัจจุบันพวกเขาต้องเดินทางไปทั่วทวีป เวลีย์ บอกว่า การเพิ่มจำนวนสถานที่ดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับอย่างดีจากเหล่านักเดินทางสุดขั้ว ซึ่งตั้งตาเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ แต่การเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ราว 2.4% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน และนักท่องเที่ยวหลายคนมักพึ่งพาการเดินทางด้วยวิธีนี้เป็นหลัก ในขณะที่วาลทารี และเวลีย์ บอกว่าพวกเขาพยายามลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการเดินทางโดยวิธีอื่น เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า แต่พวกเขาก็ไม่ปฏิเสธว่าการเดินทางของตนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม "ผมไม่ได้คิดถึงมัน...แต่จะทำยังไงได้ ถ้าคุณอยากออกเดินทาง แต่ไม่สามารถเดินเท้าไปได้ทุกแห่ง ดังนั้นคุณเลยต้องขึ้นเครื่องบิน" วาลทารี บอก แต่เมื่อเป็นการเดินทางแบบสุดขั้วไปยังสถานที่ที่ไม่ค่อยมีผู้ใดไปเยือน หลายครั้งการนั่งเรืออาจมีประโยชน์กว่าเครื่องบิน อย่างเช่นการเดินทางไปเยือนแนวปะการังอองเทรอเกสโตซ์ ที่ประเทศนิวแคลิโดเนียในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ เป็นต้น ที่มา : อันตัวเนตต์ เรดฟอร์ด bbc
bbc.com/thai/international-64963955
|