คนรุ่นใหม่ก่อหนี้แรง จับตาหนี้เสีย Gen Y ทะลุแสนล้าน
'คนรุ่นใหม่' ก่อหนี้แรง จับตาหนี้เสีย 'Gen Y' ทะลุแสนล้าน
"เครดิตบูโร” ห่วงคนรุ่นใหม่ก่อหนี้เพิ่มขึ้น ไตรมาสแรกยอดขอสินเชื่อบุคคลกว่า 8.4 แสนบัญชี ครึ่งหนึ่งเป็นของ “Gen Y” ด้าน “Gen Z” ก่อหนี้แรง ไตรมาสแรกยอดขอสินเชื่อใหม่พุ่ง 200% ผลจาก “ดิจิทัลเลนดิ้ง” เข้าถึงเงินกู้ง่าย
'คนรุ่นใหม่' ก่อหนี้แรง จับตาหนี้เสีย 'Gen Y' ทะลุแสนล้าน
ประเทศไทยแม้เคยผ่านเหตุการณ์ร้ายมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ เงินบาทแข็งค่า แต่สถานการณ์เหล่านี้ ส่งผลกระทบกับบางกลุ่มคนเท่านั้น แตกต่างจากวิกฤติโควิดซึ่งกระทบคนส่วนใหญ่ทั่วโลก และยังส่งผลกระทบกับผู้คนในทุกกลุ่มทั้งคนรวยและคนจน
แม้ปัจจุบันจะเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้แล้ว โดยหลายกิจการเริ่มกลับมาให้บริการ แต่หลายคนยังคง “ว่างงาน” หรือรายได้ที่ได้รับก็ยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด ขณะที่ข้อมูลของหลายๆ สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจ พบว่า ความเป็นหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นในทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และวัยทำงาน มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ข้อมูลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” พบว่า กลุ่มที่มีการสร้างหนี้มากที่สุด คือ กลุ่มเจนวาย โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 มีหนี้รวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย หรือ “เอ็นพีแอล” คงค้างถึง 2.7 แสนล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มเจนเอ็กซ์ มีการก่อหนี้ที่ 3.7 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้เสียในระบบอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท ขณะที่ เบบี้บูมเมอร์ มีหนี้สินคงค้างรวม 1.2 ล้านล้านบาท มีเอ็นพีแอลที่ 8.4 หมื่นล้านบาท ส่วน เจนแซด มีหนี้สินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท และเป็นเอ็นพีแอลแล้ว 1.2 พันล้านบาท โดย เอ็นพีแอล ของ เจนแซด กระจุกตัวในสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์
หนี้เสีย ‘เจน Y’ เริ่มเร่งตัว
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร กล่าวว่า ถ้าดูหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) ที่อนุมัติใหม่ในไตรมาสแรก มีราวๆ 8.4 แสนบัญชี ในจำนวนนี้ราว 50% เป็นกลุ่มเจนวาย
หากดูกลุ่มที่มีปัญหาชำระหนี้ ที่เริ่มค้างชำระตั้งแต่ 31 วัน ไปจนถึง 90 วันขึ้นไป ซึ่งถือว่า กลายเป็นหนี้เสียแล้ว พบว่า "กลุ่มเจนวาย" มีมากสุด และหนี้เสียในกลุ่มนี้ยังเร่งตัวขึ้นมากด้วย ล่าสุดอยู่ที่ 1.6 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นหนี้ที่มีปัญหามากกว่า 1 แสนล้านบาท
อีกกลุ่มที่หนี้เสียเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง คือ เจนเอ็กซ์ มีบัญชีที่มีปัญหากว่า 1.1 ล้านบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้างเกือบ 1.4 แสนล้านบาท
สำหรับ หนี้บ้าน หากดูจำนวนบัญชีที่อนุมัติใหม่ในไตรมาสแรก พบว่า มี 8 หมื่นบัญชี เป็นของกลุ่มเจนวายในสัดส่วน 64% ส่วนจำนวนหนี้ที่มีปัญหาค้างชำระที่น่าห่วงในกลุ่มนี้ คือ กลุ่มเจนวาย และ เจนเอ็กซ์ พบว่า จำนวนบัญชีที่ค้างชำระเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเจนวาย 1.1 แสนบัญชี คิดเป็นหนี้คงค้าง 1.4 แสนล้านบาท ส่วนเจนเอ็กซ์ หนี้ที่มีปัญหาเกือบ 1.2 แสนบัญชี มีหนี้ค้างชำระกว่า 1.3 แสนล้านบาท
กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ลูกหนี้กลุ่ม เจน X ที่มีอายุตั้งเเต่ 38 - 54 ปี
กลุ่มนี้มักบริโภคนิยม จึงก่อหนี้เต็มที่แทบทุกสินเชื่อ เพราะอยู่ในช่วงสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง มั่นคง พอเกิด income shock หรือสูญเสียงาน ภาระค่าใช้จ่ายและภาระการจ่ายหนี้คืนจึงสูงมากๆ
“กลุ่มที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ลูกหนี้กลุ่ม เจนเอ็กซ์ ที่มีอายุตั้งเเต่ 38 - 54 ปี กลุ่มนี้มักบริโภคนิยม จึงก่อหนี้เต็มที่แทบทุกสินเชื่อ เพราะอยู่ในช่วงสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง มั่นคง พอเกิด income shock หรือสูญเสียงาน ภาระค่าใช้จ่ายและภาระการจ่ายหนี้คืนจึงสูงมากๆ แม้ช่วงที่ผ่านมากลุ่มนี้ก็มีการปรับโครงสร้างหนี้ไประดับหนึ่งแล้ว แต่กังวลว่าเมื่อเกิดผลกระทบจากโควิด-19 กลุ่มนี้จะหารายได้จากไหนมาชำระหนี้ แม้จะมีจำนวนหนึ่งที่มีงานทำ หรือมีธุรกิจรองรับก็ตาม”
สินเชื่อบ้าน สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งปล่อยใหม่ในปี 2563
‘เจน Z’ ก่อหนี้พุ่ง 200%
อีกกลุ่มที่กังวล คือ ผู้กู้หน้าใหม่ ลูกหนี้ครั้งแรก ซึ่งได้กลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของสถาบันการเงินด้วยความที่มี digital lifestyle ไม่ได้เติบโตหรือมีประสบการณ์ในโลกแห่งกระดาษ จึงจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกรรม Digital lending เป็นอย่างมาก
กลุ่มนี้ อายุไม่เกิน 23 ปี เกิดช่วง 2539 - 2552 ส่วนใหญ่เริ่มเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยระดมทุนกันเองหรือจากครอบครัวมาทำธุรกิจ เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้นก็จะต่อยอดด้วยการกู้ business loan แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้มีตัวเลขหนี้เสียระดับที่สูงพอควร และการก่อหนี้มีอัตราเร่งที่สูงมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ช่วงไตรมาสแรกปี 2563 หนี้กลุ่มเจนแซด มีอัตราการเติบโตของหนี้ค่อนข้างไว เฉลี่ยเดือนละ 7% นับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2562 และเติบโตขึ้นกว่า 200 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 2.89 แสนบัญชี
ส่วนยอดหนี้รวมของคนกลุ่มนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท
‘เจนแซด’นิยมก่อหนี้ซื้อรถยนต์
นายสุรพล กล่าวว่า หากดูการก่อหนี้รายคนพบว่า เฉลี่ยต่อคนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.7 แสนบาทต่อคน ซึ่งเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีภาระหนี้ต่อคนเฉลี่ยที่ 1.5 แสนบาทต่อคน ส่วนหนี้ที่มีปัญหา พบว่า 7-8% เป็นหนี้ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ(SM) และอีก10-12% เป็นหนี้เอ็นพีแอล
นายสุรพล กล่าวด้วยว่า หนี้ของคนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์ โดยหนี้เอ็นพีแอล ส่วนใหญ่ เป็นสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์ ขณะที่หนี้ SM หรือสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ ของกลุ่มเจนแซด กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์เช่นกัน ดังนั้นสินเชื่อรถยนต์จึงเป็นกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ
ขอบคุณที่มา : กรุงเทพธุรกิจ https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/885095?amx
|