สธ. เตรียมปรับเกณฑ์ลดหวานเครื่องดื่มไทย เหลือ ร้อยละ 5 ลดพฤติกรรมติดหวาน สร้างสุขภาพที่ดีของคนไทย

สธ. เตรียมปรับเกณฑ์ลดหวานเครื่องดื่มไทย เหลือ ร้อยละ 5 ลดพฤติกรรมติดหวาน สร้างสุขภาพที่ดีของคนไทย
 
       
       นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งสาเหตุเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การบริโภคอาหาร การปฏิบัติตน การออกกำลังกาย และจากข้อมูลด้านพฤติกรรมการบริโภคอาหารของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560–2562 พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลทราย 2.5–2.6 ล้านตันต่อปี และ ปี 2562 คนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ย 3 แก้วต่อวัน ซึ่งจากข้อมูลสถานการณ์ดังกล่าวเป็นพฤติกรรมการบริโภคที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน นอกจากนี้ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ ทั้งจำนวนการเสียชีวิตและภาระโรคโดยรวม โดยสถานการณ์ประเทศไทยปี 2559-2563 พบว่า มีอัตราการเสียชีวิต เนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็งทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีความหวาน ความมัน และความเค็มมากเกินเกณฑ์ขาดการออกกำลังกาย
 
กรมอนามัย จึงได้จัดงานมหกรรม “ประเทศไทย หวานแค่ไหนพอ” ขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมปรับเกณฑ์ความหวานของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของประเทศไทยให้เป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน โดยปรับลดเกณฑ์ความหวานของการรับรองสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพจากร้อยละ 6 ให้เป็นร้อยละ 5 เท่ากับหวานน้อยสั่งได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมในการปรับตัว รวมถึงประชาชนก็จะได้ทราบถึงเกณฑ์ความหวานที่ดีต่อสุขภาพของตนเอง
 
Visitors: 1,403,302