ปริมาณน้ำจืดทั่วโลกลดลงกะทันหัน ทวีปต่างๆ เสี่ยงเผชิญภัยแล้ง

นักวิทย์พบปริมาณน้ำจืดทั่วโลกลดลงกะทันหัน คาดสาเหตุจากโลกร้อนต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ทุกทวีปเผชิญภัยแล้งและความอดอยาก

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติใช้การสังเกตการณ์ผ่านดาวเทียมของ NASA ค้นพบหลักฐานว่า ปริมาณน้ำจืดทั้งหมดของโลก ทั้งน้ำที่ถูกกักเก็บไว้บนพื้นดินอย่างทะเลสาบและแม่น้ำ ไปจนถึงน้ำในชั้นน้ำใต้ดิน ได้มีปริมาณลดลงอย่างกะทันหันมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2014 และยังคงอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด 

ท่ามกลางความกังวลว่า การขยายตัวของเมืองและการเกษตรอาจทำให้ประเทศต่างๆ ต้องพึ่งพาน้ำใต้ดินมากขึ้น แหล่งน้ำจืดจะเริ่มหมดลง ฝนและหิมะไม่สามารถทดแทนได้ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชุมชน นำไปสู่ภาวะอดอยาก ความขัดแย้ง ความยากจน และความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้คนจำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน

 

การลดลงของปริมาณน้ำจืดยังเกิดขึ้นสอดคล้องกับสถิติ 10 ปี ที่โลกมีอุณหภูมิร้อนที่สุด และร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวกเขาสงสัยว่าภาวะโลกร้อนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปริมาณน้ำจืดลดลงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในข้อบ่งชี้คือการที่อุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้สภาพอากาศและรูปแบบของฝนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป 

นอกจากนี้ภาวะโลกร้อนยังทำให้บรรยากาศกักเก็บไอน้ำมากขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากขึ้น ยิ่งฝนตกหนักและนานมากเท่าไหร่ ดินก็จะยิ่งแน่นขึ้นจนแทบจะไม่สามารถดูดซับน้ำลงไปเก็บสำรองเอาไว้ใต้ดินได้เลย และน้ำฝนที่ตกลงมาก็จะถูกความร้อนของโลกระเหยเป็นไอน้ำใปกับเก็บในชั้นบรรยากาศอีกครั้ง นี่คือเหตุผลที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญภัยแล้งอย่างรุนแรง แม้จะเพิ่งประสบกับพายุฝนขนาดใหญ่มาก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ปักใจว่าโลกร้อนเป็นเห็ตุผลเดียวที่ทำให้น้ำจืดลดลงขนาดนี้ และยังต้องรอติดตามว่าปริมาณน้ำจืดทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับมาเท่ากับระดับก่อนปี 2015 ได้หรือไม่ จากนั้นจะคงระดับเดิม หรือกลับมาลดลงอีกครั้ง 

 

 

ที่มา : https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/854273

 

 

Visitors: 1,430,142