การแก้ปัญหา ส้มหล่น ของสเปน

การแก้ปัญหา ส้มหล่น ของสเปน
 
48,000 ต้น คือจำนวนต้นส้ม ที่ปลูกประดับประดาไปทั่วเมืองเซบิยา เมืองหลวงของแคว้นอันดาลูซิอา ทางตอนใต้ของประเทศสเปน
 
ด้วยความที่มีภูมิอากาศเหมาะสม แคว้นแห่งนี้จึงเป็นเขตปลูกส้มที่สำคัญที่สุดของประเทศสเปน ซึ่งการปลูกส้มก็ไม่ได้เพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว แต่ยังนิยมปลูกไว้เพื่อประดับประดาไปทั่วเมืองด้วย
 
แต่ปัญหาก็มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว เมื่อต้นส้มทั่วทั้งเมือง ต่างออกผล จนเกิดมหกรรม “ส้มหล่น” จำนวนกว่า 5.7 ล้านกิโลกรัม เกลื่อนกลาดไปทั่วทางเท้าและถนนหนทาง
 
สำนวน “ส้มหล่น” ในภาษาไทย มักมีความหมายสื่อถึงสิ่งดี ๆ ที่ได้มาโดยไม่คาดคิด
แต่สำหรับเมืองเซบิยาแล้ว มหกรรม “ส้มหล่น” ในแต่ละครั้ง คงไม่ได้นำสิ่งดี ๆ มาให้สักเท่าไร
 
แล้วเซบิยา มีแผนจัดการกับปัญหานี้ อย่างไร ?
 
 
 
ก่อนอื่นมารู้จักความสัมพันธ์ของส้มกับประเทศสเปนกันสักนิด..
 
แต่เดิมส้มเป็นผลไม้พื้นเมืองของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในแถบตอนเหนือของอินเดียและจีนตอนใต้ โดยพ่อค้าชาวอาหรับเป็นผู้นำผลไม้ชนิดนี้มาเผยแพร่ในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
 
เมื่อดินแดนสเปนถูกยึดครองโดยชาวมัวร์ ซึ่งเป็นชาวมุสลิมจากแอฟริกาเหนือในช่วงศตวรรษที่ 7 ชาวมัวร์ก็ได้นำต้นส้มเข้ามาทดลองปลูกบนแผ่นดินสเปน
 
ความโชคดีประการหนึ่ง คือ ผลไม้ตระกูลส้ม จะเจริญเติบโตได้ในที่ที่มีอากาศร้อนและแห้งแล้งในฤดูร้อน และมีฝนตกมากในฤดูหนาว ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของสเปนมีภูมิอากาศแบบนี้ ซึ่งเรียกว่า ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน
 
จากจุดเริ่มต้นโดยชาวมัวร์ สเปนได้กลายเป็นแหล่งปลูกส้มที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน ในปี 2020 สเปนส่งออกส้มเป็นอันดับ 1 ของโลก คิดเป็นมูลค่า 46,200 ล้านบาท และคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของโลก
 
พื้นที่ปลูกส้มส่วนใหญ่ของสเปนจะอยู่ทางตอนใต้ โดยเฉพาะในแคว้นอันดาลูซิอา ที่ให้ผลผลิตส้มมาจากแคว้นนี้ปีละกว่า 1.6 ล้านตัน
 
หนึ่งในส้มที่ปลูกมากในแคว้นนี้ คือ Bitter Orange หรือ ส้มขม เป็นส้มที่มีรสชาติออกขม และคนสเปนก็ไม่ค่อยนิยมกินสด ๆ เท่าไร นิยมนำไปทำ Marmalade หรือแยมผิวส้มมากกว่า
 
โดยประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของการส่งออกส้มและแยมผิวส้มมากที่สุด ก็คือ สหราชอาณาจักร ซึ่งคนอังกฤษจะเรียกส้มชนิดนี้ว่า “ส้มเซบิยา”..
 
ซึ่งแน่นอนว่าในเมืองหลวงของแคว้นอันดาลูซิอา อย่างเมืองเซบิยา เราก็จะสามารถพบเห็นต้นส้มเซบิยาได้อย่างง่ายดาย เพราะจะถูกปลูกประดับประดาอยู่ริมถนน สถานที่สำคัญ สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ในเขตที่อยู่อาศัย
 
ข้อโดดเด่นอีกอย่างของต้นส้มเซบิยา คือกลิ่นดอกที่หอมหวน ทำให้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ต้นส้มในเมืองกว่า 48,000 ต้นก็จะผลิดอกหอมหวน ตลบอบอวลไปทั่วทั้งเมือง
 
แต่สัญญาณของความวุ่นวายก็มักจะเกิดขึ้น เมื่อเมืองเซบิยาเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน
 
ส้มเป็นผลไม้ไม่กี่ชนิดที่จะออกผลในช่วงฤดูหนาว และฤดูหนาวของเซบิยาก็ไม่ได้หนาวรุนแรงเหมือนเมืองอื่น ๆ ทางตอนเหนือของยุโรป
 
และเมื่อส้มทั้งเมืองออกผลในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน นั่นก็ทำให้เซบิยาเต็มไปด้วย “ส้มหล่น” กว่า 5.7 ล้านกิโลกรัม
 
ด้วยความที่ส้มเหล่านี้มีรสขม และไม่เป็นที่นิยมของชาวเมือง พื้นถนนและทางเท้าจึงเต็มไปด้วยส้มหล่นที่ไม่มีใครต้องการ
 
บางแห่งก็เจิ่งนองไปด้วยน้ำส้มที่แตกจากผล บางแห่งมีแมลงวันตอมและเริ่มส่งกลิ่นเหม็น มีผู้คนไม่น้อยที่เดินเหยียบส้มเหล่านี้จนเกิดอุบัติเหตุ จนกลายเป็นความวุ่นวายไปทั่วทั้งเมือง
 
ทางเทศบาลเมืองเซบิยาต้องใช้พนักงานกว่า 200 คน ทำการเก็บกวาดส้มตลอดทั้งเดือน ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการกำจัดซากส้มหล่นมหาศาลที่ไม่มีใครต้องการเหล่านี้
 
Cr.aquapublica
 
“ส้มหล่น” สำหรับชาวเมืองเซบิยา นอกจากจะไม่ได้นำสิ่งดี ๆ เข้ามาแล้ว
ยังกลายเป็นปัญหาที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับผู้คน และผู้บริหารในเมืองมานานแสนนาน จะตัดทิ้งก็ไม่ได้เพราะเป็นเหมือนต้นไม้ประจำเมือง จะกินก็ไม่ได้เพราะรสชาติไม่อร่อย
 
จึงนำมาสู่การคิดแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ในปี 2020..
 
บริษัท Emasesa บริษัทบริหารจัดการน้ำของเทศบาลเมืองเซบิยา ได้คิดโครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหาส้มหล่น โดยได้ทดลองนำส้ม 35,000 กิโลกรัม ไปหมักบ่ม
 
การหมักบ่มทำให้เกิดแก๊สชีวภาพอย่างแก๊สมีเทน ที่สามารถนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในกระบวนการกรองน้ำให้บริสุทธิ์ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
 
Benigno Lopez ผู้บริหารฝ่ายสิ่งแวดล้อมของ Emasesa ได้เสนอให้มีแผนการต่อไป
คือการนำส้มทั้งหมดในเมืองมาหมักเพื่อให้เป็นพลังงานชีวมวล สำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับระบบกรองน้ำของเมืองทั้งหมด
 
โดยทางเทศบาลอาจต้องลงทุนเพิ่มประมาณ 250,000 ยูโร หรือราว 10 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าพลังงานที่ได้ จะเหลือให้นำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อแจกจ่ายให้ครัวเรือนในเมืองเซบิยาอีกด้วย
 
โดยส้ม 1,000 กิโลกรัม สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานเป็นระยะเวลา 1 วัน เพียงพอสำหรับ 5 ครัวเรือน
 
ซึ่งหากคำนวณส้มหล่นทั้งหมดในเมืองกว่า 5.7 ล้านกิโลกรัม ซึ่งรวมทั้งส้มที่ร่วงหล่นลงมาแล้วและยังไม่หล่น ก็จะสามารถผลิตไฟฟ้าให้ผู้คนในเมืองได้ไม่ต่ำกว่า 28,500 ครัวเรือน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 20% ของครัวเรือนในเขตเทศบาลเมืองเซบิยา
 
Juan Espadas Cejas นายกเทศมนตรีของเซบิยา ได้ให้คำสัญญาว่าจะผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ชาวเมืองเซบิยามีน้ำสะอาดสำหรับใช้อุปโภคบริโภค โดยใช้พลังงานสะอาดจากชีวมวล และต่อยอดไปสู่การสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาตัวเอง และการแก้ไขปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน..
 
สเปนตั้งเป้าว่าจะเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเป็น 0 หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2050 หรืออีก 29 ปีข้างหน้า ซึ่งเป้าหมายแรก ๆ คือการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 100% จากพลังงานหมุนเวียน
 
ในปี 2020 พลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของสเปน มาจากพลังงานหมุนเวียน 43% โดยเป็นพลังงานลม 21% พลังงานน้ำ 12% พลังงานแสงอาทิตย์ 8% และชีวมวลราว 2%
 
การจัดการ “ส้มหล่น” ของเมืองเซบิยา อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้สเปน พัฒนากระบวนการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในอนาคต เพื่อให้สามารถเติมเต็มเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมได้เร็วขึ้น
 
เรื่องราว “ส้มหล่น” อาจสร้างปัญหาให้กับชาวเมืองเซบิยามาเนิ่นนาน แต่สำหรับอนาคตของพลังงานและสิ่งแวดล้อมแล้ว
เมืองเซบิยาก็อาจกำลังเจอ “ส้มหล่น” ที่ได้รับสิ่งดี ตามความหมายของสำนวนไทย ขึ้นมาจริง ๆ..
 
Visitors: 1,412,478