ความแตกต่างระหว่าง มะยงชิด มะปราง มะปริง

ความแตกต่างระหว่าง มะยงชิด มะปราง มะปริง

 
ช่วงนี้เป็นฤดูกาลของมะยงชิดออกสู่ตลาด ผลไม้นี้อยู่ในสกุล (genus) Boeua ซึ่งเป็นสกุลเดียวกันกับ มะปริง มะปราง หลายคนอาจแยกกันไม่ออกระหว่างมะปรางกับมะยงชิด เพราะมีลักษณะผลคล้ายกันมาก นอกเหนือจากนั้น แต่ละชนิด (species) ยังมีหลากหลายสายพันธุ์อีกด้วย 

ความสับสนเรื่องการเรียกชนิด และสายพันธุ์ของผลไม้กลุ่มนี้ยังรวมถึงวงวิชาการพฤกษศาสตร์ของหลายหน่วยงานทั้งในไทยและระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากผลไม้กลุ่มนี้พบกระจายอยู่ในหลายประเทศในภูมิภาค ตั้งแต่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่า เวียดนาม ไปจนถึงตอนล่างของยูนนาน แม้จะมีฝรั่งเข้ามาเข้ามาศึกษามานานกว่า 100 ปีตั้งแต่ยุคอาณานิคม แต่ความสนใจศึกษาในทางวิชาการของนักวิทยาศาสตร์ท้องถิ่นเพิ่งเริ่มต้นได้เมื่อประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

 

ข้อมูลจาก BIOTHAI ระบุผ่านเฟซบุ๊คแฟนเพจ ว่า เมื่อประมวลจากฐานข้อมูลใน The Plant List ซึ่งอัพเดทเมื่อปี 2012 และข้อมูลการศึกษาพฤกษศาสตร์และพันธุศาสตร์ของนักวิทยาศาสตร์มาเลเซียและอินโดนีเซียเมื่อปี 2016 พอสรุปได้เบื้องต้นว่า ผลไม้ในสกุล Boeua ซึ่งพบทั่วไปในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไปจนถึงตอนใต้ของยูนนาน นั้นมีอย่างน้อย 3 ชนิด (species) ได้แก่

 

1. มะปริง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Bouea microphylla Griff. ใบมีขนาดเล็ก 3-4 ซม.x3-6 ซม. ผลมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มีรสเปรี้ยวจัด ผลดิบใช้ตำน้ำพริก แกงส้ม จิ้มน้ำปลาหวาน หรือดอง เคยมีการยุบสปีชีส์นี้ไปรวมกันกับมะยงชิด (ฐานข้อมูลของกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดให้มะปริงจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับมะยงชิด -Bouea oppositifolia) แต่งานศึกษาทางด้านพฤกษศาสตร์และพันธุศาสตร์ G. Mohd. Norfaizal และคณะ เมื่อปี 2016 ชี้ว่าผลไม้ทั้งสองชนิดแตกต่างกันจนเกินว่าจะเป็นผลไม้ชนิดเดียวกัน

 

 

มะปริงพบในสวนหลังบ้าน หรือปลูกผสมผสานกับไม้ผลอื่นๆ แต่ไม่เป็นที่นิยมเมื่อเปรียบเทียบกับมะปราง/มะยงชิด ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากรสชาติเปรี้ยวจัด ซึ่งจริงๆแล้วมีมะปริงรสชาติหวานอมเปรี้ยวด้วย แต่น่าเสียดายที่ขาดการสนับสนุนเพื่อปลูกต่อและพัฒนาสายพันธุ์ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรมาเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น สวนยาง และสวนปาล์ม เป็นต้น

  

2. มะปราง (Bouea macrophylla Griff.) บางท่านเอาไปรวมกันกับมะยงชิด แต่จากฐานข้อมูล The Plant List ซึ่งรีวิวเมื่อปี 2012 ยังจำแนกแยกออกจากกัน เช่นเดียวกับการจำแนกของกลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 

สายพันธุ์มะปรางมีความหลากหลายสูงมาก เนื่องจากสมัยก่อนปลูกด้วยเมล็ดและมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีรสชาติดีเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง สายพันธุ์มะปรางที่เป็นรู้จัก เช่น พันธุ์ท่าอิฐ พันธุ์แม่ระมาด พันธุ์ลุงชิด พันธ์ทองใหญ่ พันธุ์ทองนพรัตน์ พันธุ์สุวรรณบาตร พันธุ์ลุงพล พันธุ์ลุงประทีป พันธุ์ไข่ห่าน พันธุ์อีงอน พันธุ์เพชรคลองลาน พันธุ์เพชรหวานกลม พันธุ์แม่อนงค์ พันธุ์เพชรหวานยาว พันธุ์เพชรนพเก้า พันธุ์เพชรเหรียญทอง พันธุ์ทองใหญ่ พันธุ์หวานไข่ทอง เป็นต้น

 

3. มะยงชิด (Bouea oppositifolia (Roxb.) Meisn.) เมื่อสุกจะมีสีเหลืองส้ม ในอินโดนีเซียพบผิวสีแดงก็มี มะยงชิดที่มีรสเปรี้ยว ถูกเรียกว่า "มะยงห่าง" ซึ่งหมายถึงห่างจากความหวานนั้นเอง มะยงชิดมีรสเปรี้ยวอมหวาน ขนาดผลเท่าๆกับมะปรางไปจนถึงใหญ่กว่าไข่ไก่ก็มี เมื่อก่อนชาวสวนปลูกโดยใช้เมล็ดจึงทำให้เกิดสายพันธุ์หลากหลายมาก พันธุ์ไหนรสชาติถูกปากก็ทำเป็นกิ่งตอนหรือทาบกิ่งขยายพันธุ์ไปปลูกอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ที่ลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก ไปจนถึงภาคเหนือ และภาคใต้ คาดการณ์ว่าอีกไม่นานผลไม้นี้จะกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญของไทย และหลายประเทศในภูมิภาคนี้

 

สายพันธุ์ "มะยงชิด" หลากหลายมากเช่นกัน ตัวอย่างสายพันธุ์ที่รู้จัก เช่น พันธุ์บางขุนนนท์ พันธุ์ท่าด่าน พันธุ์ชิดสง่า พันธุ์ชิดบุญส่ง พันธุ์เพชรกลางดง พันธุ์ทูลเกล้า พันธุ์เพชรชากังราว พันธุ์ทองใหญ่หัวเขียว พันธุ์สีทอง พันธุ์ชิดสาลิกา พันธุ์เจ้าสัว พันธุ์พูลศรี พันธุ์ลุงฉิม พันธุ์พระอาทิตย์ พันธุ์สวนนางระเรียบ พันธุ์สวนนางอ้อน พันธุ์ลุงยอด พันธุ์ลุงเสน่ห์ พันธุ์ดาวพระศุกร์ เป็นต้น

 

การศึกษาคุณค่าทางโภชนาการ โดย กรมอนามัย พบว่า "มะยงชิด" มีเบต้าแคโรทีน และวิตามินซีสูง ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน การรับประทานผลไม้กลุ่มนี้จึงช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย เช่น โรคหวัด เป็นต้น

 

ในตำราสมุนไพร ใบของพืชกลุ่มนี้ยังใช้สำหรับตำพอกแก้ปวดศรีษะ รากต้มหรือฝนกับน้ำดื่ม ถอนพิษผิดสำแดง แก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ แก้ไข้ตัวร้อน ส่วนผลที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน แก้เสมหะ กัดเสมหะในคอ แก้เสลดหางวัว แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต เป็นต้น

 

พืชกลุ่มนี้ไม่ได้มีดีแค่ผลเท่านั้น นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังพบว่า เมล็ดสีม่วงสวยงามของผลไม้กลุ่มนี้นั้น ยังมีธาตุอาหารโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียมและแคลเซียมในปริมาณสูง สารสกัดจากเมล็ดมะปรางมีสาร polyphenolic ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ และจากการทดลองในหลอดทดลองพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งเม็ดเลือดขาว เซลล์มะเร็งปอด และแบคทีเรีย 15 สายพันธุ์ ซึ่งหมายความว่ามีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และเป็นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคบางชนิดได้

 

 

 ที่มา : BangkokBiznews

 
Visitors: 1,409,221