แบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร อีกหนึ่งสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

แบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร อีกหนึ่งสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร
 
รูปภาพในบทความ แบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร อีกหนึ่งสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร

อาการปวดท้องที่เกิดจาก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) เป็นความทรมานติดตัวเรื้อรังอย่างหนึ่งที่มีโอกาสหาย สำหรับคนที่เป็นพอท้องว่างก็ปวด กินข้าวก็ปวด และเชื่อว่าหลายคนที่เป็นโรคนี้มักจะพกยาเม็ดหรือยาน้ำบรรเทาอาการติดกระเป๋าไปไหนมาไหนด้วยทุกที่ เสมือนญาติพี่น้องที่ขาดกันไม่ได้

กลุ่มเสี่ยง

โรคนี้เป็นโรคฮิตที่พบบ่อยมากในทุกเพศทุกวัย แต่มักเกิดกับกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน โดยจะพบแผลที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้นและบริเวณกระเพาะอาหาร ปกติแล้วกระเพาะอาหารคนเราจะมีความทนทานต่อน้ำย่อยซึ่งเป็นกรดที่หลั่งออกมาย่อยสลายอาหารที่เรากินเข้าไป แต่เมื่อใดก็ตามที่น้ำย่อยที่หลั่งออกมาเกิดเสียความสมดุล ส่งผลต่อการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น ส่งผลต่อการย่อยอาหารที่นานขึ้น ผิวกระเพาะอาหารจึงเกิดการอักเสบ นำไปสู่อาการปวดท้องนั่นเอง

สาเหตุ

สาเหตุที่เราก็รู้กันอยู่ว่า พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรามีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เกิดโรคนี้ ทั้งความเครียด, นอนน้อย นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ, ป่วยเป็นซึมเศร้า, อดอาหาร, กินไม่เป็นเวลา, ชอบดื่มกาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์, สูบบุหรี่ หรือแม้กระทั่งการกินยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวดบ่อย ๆ จำพวกยาแอสไพริน (Aspirin), ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) หรือ ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ซึ่งเป็นยาที่สร้างความระคายเคืองให้กับเยื่อบุกระเพาะอาหาร และนี่คือเหตุผลที่หมอบอกว่า "ให้กินหลังอาหารทันที"

แบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร

แต่ยังมีสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ คือ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) เรียกกันสั้น ๆ ว่า เอช. ไพโลไร (H. Pylori) แบคทีเรียชนิดนี้ลำตัวจะกลม ๆ ยาว ๆ คล้ายหนอน และมีหนวดยาว ๆ คล้ายหมึก เมื่อเข้าไปอยู่ในกระเพาะอาหารที่มีแต่น้ำย่อยซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกรด ส่วนใหญ่แล้วเชื้อแบคทีเรียจะตายแต่ชนิดนี้กลับไม่ตาย เพราะมีความสามารถในการผลิตด่างเพื่อป้องกันตัวเอง จึงสามารถต้านทานความเป็นกรดของน้ำย่อยได้เป็นอย่างดี แบคทีเรียชนิดนี้เมื่อเข้าสู่กระเพาะอาหารแล้วจะไปแทรกฝังตัวอยู่ในช่องหรือใต้เซลล์ผิวของเยื่อบุกระเพาะอาหาร มีชีวิตยาวนานนับ 10 ปีโดยไม่แสดงอาการอะไรเลย แต่หน้าที่ของมันจะไปกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนแกสตริน (Gastrin) แล้วฮอร์โมนตัวนี้ก็ไปกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากขึ้น ทำให้กระเพาะอาหารขาดความสมดุลจนทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้

มาจากไหน ?

เอช. ไพโลไร (H. Pylori) เป็นแบคทีเรียในเขตร้อน มักเกิดจากการสัมผัสกับเชื้อแล้วนำเข้าสู่ร่างกายผ่านช่องปากจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป เช่น อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ที่ไม่ผ่านความร้อน หรือน้ำไม่สะอาด

เป็นอะไรได้อีก ?

แบคทีเรียชนิดนี้นอกจากจะทำให้เป็นกระเพาะอาหารอักเสบแล้ว ยังทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารซ้ำ ๆ ได้อีก ซึ่งกระตุ้นให้เกิด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร รวมถึงยังทำให้เกิด โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง บางชนิด และโรคอื่น ๆ ได้

วินิจฉัย 

สำหรับคนที่มีประวัติเป็นเรื้อรัง อาจจำเป็นต้อง

1. ส่องกล้อง ตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อตรวจหาเชื้อชนิดนี้ โดยจะสอดกล้องเข้าไปทางปาก (สถานพยาบาลบางแห่งอาจใช้วิธีวางยาให้สะลึมสะลือเพื่อลดอาการเจ็บขณะสอดกล้อง) โดยแพทย์อาจจะตัดชิ้นเนื้อภายในกระเพาะอาหารออกมาตรวจ แต่ตัดนิดเดียว ไม่เจ็บ

2. ตรวจผ่านอุจจาระ (Stool antigen test) ด้วยการเก็บตัวอย่างส่งตรวจภายใน 4 ชั่วโมงเพื่อหาซากและโปรตีนของเชื้อ ซึ่งแม่นยำมากถึง 98%

3. ตรวจผ่านลมหายใจ (Urea Breath Test) โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยูเรีย จากนั้นให้ผู้ป่วยเป่าเก็บลมหายใจแล้วไปตรวจหาแอมโมเนีย เพราะแบคทีเรียชนิดนี้ จะเปลี่ยนยูเรียที่ผู้ป่วยกินเข้าไปเป็นแอมโมเนีย ถ้าแอมโมเนียเพิ่มขึ้นแสดงว่ามีเชื้อ ซึ่งแม่นยำถึง 98% กระบวนการเหล่านี้ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นรักษา 

หากเจอเชื้อ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อ 2 ชนิดในกลุ่ม คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin), อะมอกซีซิลลิน (Amoxycillin) หรือ เมโทรนิดาโซล (metronidazole) โดยจะต้องกินต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วันถึง 2 สัปดาห์ จึงจะกำจัดเชื้อได้กว่า 90% กรณีกินไม่ต่อเนื่อง หยุดกินก่อนครบกำหนดผลคือ เชื้อดื้อยา

ที่สำคัญให้กิน ยาลดกรด พร้อมกันด้วย เพื่อสร้างความสมดุลในกระเพาะอาหาร ยายับยั้งการหลั่งกรด ช่วยยับยั้งการหลั่งกรดพร้อมกับรักษาแผลได้ โดยจะต้องรับประทานต่อเนื่อง 4 - 8 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมี ยาเคลือบกระเพาะอาหาร และ ยาลดอาการอาเจียน สำหรับคนที่มีอาการด้วย

ไม่อยากกินยา ทำอย่างไร ?

ถ้าไม่อยากกินยา ง่าย ๆ แค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตคือ

1. รับประทานอาหารย่อยง่าย ไม่เยอะเกินไปและตรงเวลา ครบ 3 มื้อ

2. อาหารต้องสุก สะอาด ผ่านความร้อนเสมอ

3. เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนเสมอ

4. ยาที่แพทย์ให้มา ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

5. หมั่นออกกำลังกาย

6. ลดหรืองดการกินอาหารที่เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง

7. ลดหรืองดการดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม

8. งดสูบบุหรี่

9. เลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ

10. ลดความเครียด ความกังวล

11. พักผ่อนให้เพียงพอ

 

 

ที่มา : https://www.thaipbspodcast.com/

 

 
Visitors: 1,199,260