ควายป่าล้นป่าออสเตรเลีย ทางการเปิดให้ล่าฟรี มาจากจากไทยหรือไม่?

ควายป่าล้นป่าออสเตรเลีย ทางการเปิดให้ล่าฟรี มาจากจากไทยหรือไม่?

  • ออสเตรเลีย มีควายป่า ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับควายเลี้ยงของไทยอยู่ตามธรรมชาติ เป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามา และมีจำนวนมากเกินไป ทางการจึงเปิดให้ล่าฟรี
  • การล่าควายน้ำ ถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม เพราะควายเป็นสัตว์ที่ดุร้ายและอันตราย มักอยู่รวมกันเป็นฝูงอย่างน้อย 50 ตัว ตามพื้นที่ชื้นแฉะ หรือหนองบึง จึงเป็นการล่าที่มีความตื่นเต้นอย่างยิ่ง
  • มีความเป็นไปได้ ที่อาจไม่ใช่สายพันธุ์ที่มาจากไทย เพราะประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ก็มีควาย ‘Bubalus bubalis’ เหมือนกันหมด
 

ควายป่าล้นป่า ทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นออสเตรเลีย ทางการจึงเปิดให้ล่าฟรี เป็นสายพันธุ์ที่มาจากไทยหรือไม่?

หากพูดถึง ‘ควาย’ หรือ ‘กระบือ’ ในสังคมไทย แน่นอนว่าเป็นสัตว์เลี้ยง ที่มีความผูกพันกับการดำรงชีพของคนไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะภาคการเกษตร เนื่องจากช่วยทุ่นแรงให้ชาวนาไทยได้ ซึ่งพบได้จำนวนมากในภาคอีสาน

ส่วนควายที่อยู่ในป่าจริงๆ ตอนนี้เหลืออยู่ในไทยไม่มาก แค่คนทั่วไปมักเรียกควายบ้านกับควายป่าผสมปนเปกัน เนื่องจากควายเลี้ยงตอนนี้ก็เข้าไปใช้ชีวิตในป่าจนดูเหมือนเป็นความป่า

แต่ถ้าแยกตามจริงจะพบว่า ประเทศไทย มีควายหลักๆ อยู่ 2 ประเภท คือ ควายเลี้ยง หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ “Bubalus bubalis” ซึ่งพบได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์) โดยชนิดนี้แบ่งย่อยได้อีก เป็น “ควายปลัก (Swamp Buffalo) ” หน้าสั้น กับ “ควายแม่น้ำ (River Buffalo) ” หน้ายาว ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์ควายไทย ในปี 2565 พบว่า มีประมาณ 1.7 ล้านตัว

ขณะที่ “ควายป่า” หรือ “มหิงสา” หรือ ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Bubalus arnee เหลืออยู่แค่ 69 ตัว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และเหลือทั่วโลกไม่เกิน 4000 ตัว จึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธ์ุ ซึ่งความแตกต่างของควายป่าจริงๆ และควายบ้านคือ ขนาดของลำตัว ซึ่งควายป่าจะมีขนาดใหญ่และแข็งแรงกว่าควายบ้าน ความสูง 1.5 – 2.0 ม. มีความยาวลำตัวขนาด 2.5- 3 ม.

 

แต่ทั้งนี้ หากข้ามน้ำไปดูในประเทศออสเตรเลีย จะพบว่า มีควายที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับควายเลี้ยงของไทยอยู่ในป่าตามธรรมชาติที่นั่นเหมือนกัน ซึ่งมันเป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกนำเข้ามา และถูกปล่อยให้ขยายพันธุ์ จนมีจำนวนมาก และทำลายสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ทางการออสเตรเลียจึงเปิดให้ล่าฟรีอย่างถูกกฎหมาย

 

ควายน้ำ  PHOTO : Alexander Vasenin  Attribution-ShareAlike License

ควายน้ำ PHOTO : Alexander Vasenin Attribution-ShareAlike License

ควายเข้ามาในออสเตรเลียได้อย่างไร!

อ้างอิงจากเว็บไซต์ ‘AUSSIE ANIMALS’ ในออสเตรเลียเผยว่า ควายที่นั่นถูกเรียกว่า ‘ควายน้ำ’ หรือ ‘Water buffalo’ เพราะพวกมันชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และเป็นสายพันธุ์ที่ถูกนำเข้ามากต่างประเทศ โดยนำมาเลี้ยงไว้ในเขต “นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี่ (Northern Territory) ” ของออสเตรเลีย เพื่อใช้เป็นอาหาร และแรงงานภาคเกษตรสำหรับชนบท

อย่างไรก็ตาม หลังจากชุมชนเหล่านั้นถูกทิ้งร้าง ควายน้ำจึงถูกปล่อยให้อยู่กันเองตามธรรมชาติ จึงทำให้พวกมันขยายประชากรได้อย่ารวดเร็ว

คาดการณ์ว่า ควายน้ำถูกนำเข้ามายังออสเตรเลียครั้งแรกระหว่างปี 1825-1843 โดยช่วงแรกมีแค่ 80 ตัวเท่านั้น และเป็นสัตว์แรงงานของชาวยุโรปที่อพยพมายังดินแดนนี้ แต่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 1900 ก็ไม่มีใครดูแลพวกมันอีกต่อไป

และหลังจากไม่มีการควบคุม ช่วงทศวรรษ 1980 ควายน้ำก็ขยายจำนวนถึง 350,000 ตัวในเขต นอร์เทิร์นเทร์ริทอรี่

 
 

ควายป่าล้นป่าออสเตรเลีย ทางการเปิดให้ล่าฟรี  มาจากจากไทยหรือไม่?

สาเหตุที่ 'ออสเตรเลีย' ต้องกำจัดควาย

ด้วยขนาดลำตัว ควายจึงเป็นสัตว์ที่มีพละกำลังมาก จึงเป็นอันตรายต่อคน และยานพาหนะที่สัญจรผ่าน นอกจากนี้ พวกมันยังขึ้นชื่อว่ามีนิสัยคาดเดาไม่ได้ และมักก้าวร้าวเมื่อถูกคุกคามในฤดูผสมพันธุ์ แค่ขวิดคนทีเดียวก็อาจถึงแก่ชีวิตได้

แต่ที่รุนแรงที่สุด คือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น เพราะเมื่อควายอยู่รวมกันเป็นฝูง จึงมีหญ้าจำนวนมากที่ถูกกิน ซึ่งพฤติกรรมการกิน และการแช่น้ำของพวกมันทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบนิเวศ

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ เมื่อฝูงควายเหยียบย่ำไปที่ไหน พวกมันจะสร้าง ช่องทางน้ำผ่าน ในที่ราบลุ่ม ซึ่งเป็นเหมือนช่องทางน้ำลึกที่ถูกกัดเซาะ ที่อาจเปลี่ยนรูปแบบการไหลของน้ำ มีน้ำเค็มไหลเข้ามารุกรานน้ำจืด ส่งผลให้บางพื้นที่เสียพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก

ยิ่งไปกว่านั้น พืชและสัตว์พื้นเมืองในพื้นที่ชุ่มน้ำจำนวนมากไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในน้ำขุ่นหรือน้ำเค็มปนเปื้อน และส่งผลเป็นลูกโซ่ ให้สัตว์อย่าง อาศัย จระเข้ ปลากะพงขาว เต่าน้ำจืด และสัตว์พื้นเมืองอื่นๆ ลดจำนวนลง และนกน้ำหลายชนิดรวมทั้งห่านกา ก็ต้องสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่มีที่อยู่ และขาดแหล่งอาหาร

 

ควายป่าล้นป่าออสเตรเลีย ทางการเปิดให้ล่าฟรี  มาจากจากไทยหรือไม่?

การกำจัด ควายป่า

การกำจัดพวกมันขึ้นในระหว่างปี 1980-1990 ซึ่งเรียกว่าโครงการ Brucellosis and Tuberculosis Eradivation Campaign (BTEC) ซึ่งทำให้ควายน้ำลดลงอย่างมาก แต่ท้ายที่สุดพวกมันก็เพิ่มจำนวนขึ้นอีก จากการสำรวจ

ในปี 2022 พบว่ามีควายน้ำที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 200,000 ตัวทั่วออสเตรเลียทางตอนเหนือ

โดยวิธีกำจัดที่ปลอดภัย คือการยิ่งปืนไรเฟิลลงมาจาก เฮลิคอปเตอร์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการโดนพวกมันจู่โจมบนพื้น แต่วิธีที่นักล่าสัตว์ทั่วไป ชอบทำคือ การออกล่าด้วยตัวเอง หรือไม่ก็จ้างนายพรานที่เชี่ยวชาญไปด้วย เพราะทางการออสเตรเลีย เปิดให้ล่าได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนช่วยกันลดจำนวนพวกมันอีกแรง

ทั้งนี้ การล่าควายน้ำ ถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะสามารถล่าได้ทุกฤดูกาล และบริษัทท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีแพ็กเกจล่าสัตว์ต่างๆ ล้วนโฆษณาไว้ในเว็บไซต์ว่าควายน้ำเป็นสัตว์ที่ ดุร้ายและอันตราย มักอยู่รวมกันเป็นฝูงอย่างน้อย 50 ตัว ตามพื้นที่ชื้นแฉะ หรือหนองบึง จึงเป็นการล่าที่มีความตื่นเต้น และท้าทายอย่างมาก และนอกจากการล่าแล้ว ควายน้ำในบางพื้นที่ยังคงถูกเลี้ยงเพื่อเอาเนื้อ และหนังอีกด้วย

ใช่ควายจากประเทศไทยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่า ควายน้ำในออสเตรเลีย นำเข้ามาจากไทยหรือไม่ มีแค่ระบุไว้กว้างๆ ว่า นำเข้ามาจากประเทศอื่นๆ ในเอเชีย แต่ ที่น่าสนใจคือ ทางการออสเตรเลีย ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกันคือ ‘Bubalus bubalis’ และหากเข้าไปดูตามเว็บไซต์ล่าสัตว์ของออสเตรเลีย จะพบว่าควายน้ำที่ถูกล่า มีความคล้ายควายในประเทศไทยอยู่บ้าง เช่น มีจุดสีขาวบนใบหน้า และบางตัวก็มีอุ้งเท้าขาว เหมือนถุงเท้า ตามลักษณะควายไทย

แต่ก็มีความเป็นไปได้ ที่อาจไม่ใช่สายพันธุ์ที่มาจากไทย เพราะประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ก็มีควาย ‘Bubalus bubalis’ เหมือนกันหมด และออสเตรเลียอาจนำมาจากประเทศเพื่อนบ้านของเรา

แต่ไม่ว่าจะเป็นควายที่นำเข้าจากประเทศอะไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า บทบาทของพวกมัน ช่างต่างแตกต่าง เพราะในประเทศไทยคือเพื่อนสัตว์ที่อยู่คู่กับเกษตรกรมาช้านาน และมีบุญคุณจนคนไทยไม่นิยมกินเท่าเนื้อวัว แต่ในต่างประเทศ บทบาทของพวกมันคือสัตว์รุกรานที่ล่าได้อย่างถูกกฎหมาย

 

ที่มา : AUSSIE ANIMALS / อีสานอินไซต์ /องค์ความรู้ควายไทย / HUNTING TRIPS AUSTRALIAN

https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/851432

 

Visitors: 1,327,127