เราจะเป็นแฟนแบบไหน อาจต้องย้อนไปดูที่วัยเด็ก แล้วคุณล่ะ? เป็นแบบไหน

เราจะเป็นแฟนแบบไหน อาจต้องย้อนไปดูที่วัยเด็ก แล้วคุณล่ะ? เป็นแบบไหน

ชวนสำรวจตัวเองรับวันแห่งความรัก มาดูกันว่าคุณมีแนวโน้มจะเป็นคนรักแบบไหน? จากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก

ซึ่งเปรียบเสมือน ‘จิ๊กซอว์’ ชิ้นสำคัญในการประกอบร่างความคิดความอ่านของตัวเราคนปัจจุบันขึ้นมา และสามารถบอกได้ว่าเรามีแนวโน้มที่จะเป็นคนรักแบบไหน

ดร.มิลาน เยอร์โควิช (Dr. Milan Yerkovich) และ ดร.เคย์ เยอร์โควิช (Dr. Kay Yerkovich) ผู้ให้คำปรึกษาด้านคู่สมรสและครอบครัวพบว่า การที่เราจะเป็นคนรักแบบไหนในความสัมพันธ์ อาจขึ้นอยู่กับว่าในวัยเด็กเราถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร โดยอาจจำแนกรูปแบบของคนรักออกเป็น 5 ประเภทหลัก ได้แก่

1. The Pleaser ‘ผู้ยอม’: คนกลุ่มนี้อาจเติบโตมาด้วยวิธีการเลี้ยงดูที่ประคบประหงมมากจนเกินไป หรือมักต้องเจอกับอารมณ์ฉุนเฉียวและคำติเตียนมากเกินจำเป็น และความมากที่เกินจำเป็นนี้แหละ ทำให้ชาว Pleaser เคยชินกับการ ‘ยอม’ ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ไม่ต้องเจอกับสิ่งที่ไม่อยากเจอ ยอมรับผิดในทุกเรื่อง ถึงแม้จะไม่ใช่ความผิดของตัวเองเลยก็ตาม (คือรู้สึกว่าการยอมมันง่ายกว่า)

ถ้ามีแฟนแล้วเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็มักจะโทษตัวเองว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์พังลง มองว่าตัวเองเป็นคนรักที่ไม่ดี และไม่เหมาะกับการมีใครเลยด้วยซ้ำ

สำหรับมนุษย์ใจดีสายยอมทั้งหลาย เราอาจจะต้องบอกว่า การใส่ใจความรู้สึกของคนรอบข้างเป็นเรื่องดี แต่อย่าลืมสร้างขอบเขตให้เหมาะสม และลอง ‘ยอม’ ต่อความรู้สึกลึกๆ และความต้องการของตัวเองบ้างนะ

2. The Controller ‘ผู้ชอบบงการ’: ลองนึกภาพเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมากับความวุ่นวาย ความรุนแรง เคยชินว่าการใช้อารมณ์โกรธและความหวาดกลัวเป็นวิธีที่ทำให้ได้สิ่งที่ต้องการ และจำเป็นต้องปกป้องตัวเองตลอดเวลา พอมีแฟน ก็มักจะใช้ความโกรธเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา และเป็นเหมือนเกราะป้องกันให้ตัวเองเวลารู้สึกไม่ปลอดภัย โดยยิ่งรู้สึกคุมได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสบายใจมากขึ้นเท่านั้น

ความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้ในหลายสถานะ และสถานะที่เราอยู่กับแฟนก็ไม่ต่าง แต่อย่าลืมว่า การใช้อารมณ์ควบคุมแฟนเราตลอดก็ไม่ใช่ทางออกที่ดี เราทุกคนก็มีทั้งช่วงเวลาที่เข้มแข็งและอ่อนแอเป็นธรรมดา การยอมรับว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ได้เข้มแข็งอะไร การยอมรับว่าตัวเองผิดบ้าง มันไม่ใช่เรื่องน่าอายหรือเสียหายอะไรเลย และที่สำคัญ มันอาจยิ่งทำให้เรารู้สึกสบายใจได้โดยที่ไม่ต้องคอยใช้พลังควบคุมใครก็ได้นะ

3. The Victim ‘ผู้ถูกกระทำ’: สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง บรรยากาศที่ไร้ซึ่งความรู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้คนกลุ่มนี้ตกเป็นผู้ถูกกระทำ ที่ทำได้เพียงนิ่งเงียบและยอมทำตามไปเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันตั้งแต่เด็ก พอโตมาจึงอาจมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ยิ่งมีแฟน ก็ดันไปชอบคนประเภท ‘The Controller’ ที่เคยเจอในวัยเด็ก เลยต้องนิ่งเงียบพร้อมกับยอมทำตามไปเหมือนเดิมเพื่อเอาตัวรอด

ถ้าใครคิดว่าเราเหมือนกับคนในข้อนี้ อยากบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องฝืนทนอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้น ทุกคนคู่ควรกับความรักและคนรักที่ดี กลับมารักตัวเองให้มากๆ เพราะตัวเราคนนี้แหละที่จะอยู่กับเราตลอดไป หรือจะลองปรึกษาจิตแพทย์ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเหมือนกันนะ

4. The Vacillator ‘ผู้ไม่มั่นคงในความรู้สึก’: คนที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ บางครั้งก็สนใจ บางครั้งก็แทบจะไม่แคร์ เมื่อมีความรัก มนุษย์ผู้ไม่มั่นคงคนนี้เลยมักจะจินตนาการวาดฝันถึงความสัมพันธ์ในอุดมคติที่มีแต่สิ่งดีๆ ที่พวกเขาไม่เคยได้รับในวัยเด็ก พอมันไม่เป็นไปตามที่หวัง ถึงจะแค่นิดเดียวแต่ก็กลับทำให้รู้สึกผิดหวังอย่างแรง เกิดคำถามกับตัวเอง และเริ่มท้อแท้หมดแรงที่จะไปต่อในความสัมพันธ์

ความจริงที่เราต้องยอมรับคือ โลกไม่ได้สมบูรณ์แบบ ความรัก ตัวเรา และคนรักของเราก็เช่นกัน ความคาดหวังของเราคงไม่สามารถสมหวังได้ทุกครั้ง ลองเริ่มเรียนรู้ที่จะโอบกอดและยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบนี้ เราอาจจะเข้าใกล้ความสุขขึ้นอีกก้าว

5. The Avoider ‘ผู้ปิดกั้นตัวเอง’: คนที่เคยชินกับการต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก โดยไร้พ่อแม่เคียงข้าง ไม่มีคนคอยรับฟังหรือปลอบโยนความรู้สึก เมื่อโตขึ้นคนกลุ่มนี้จึงมักจะแยกตัวออกจากผู้อื่น และเก็บซ่อนอารมณ์ไว้ และเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์ คนกลุ่มนี้จึงหวงแหนพื้นที่ส่วนตัว และคิดว่าอีกฝ่ายก็ควรที่จะจัดการปัญหาและความรู้สึกของตัวเองให้ได้เช่นกัน

อยากให้รู้ว่าการแสดงออกทางความรู้สึกไม่ใช่เรื่องผิด การเปิดใจอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันอาจทำให้เราได้รู้ว่านอกจากตัวเราเองแล้ว ก็ยังมีคนอื่นๆ ที่พร้อมจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเรา และช่วยให้สิ่งที่อยู่ในใจเราคลี่คลายลงได้

เราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในอดีตได้ แต่สิ่งที่เราทำได้แน่นอนตอนนี้เลยก็คือ การหันกลับมาใส่ใจความสัมพันธ์ในปัจจุบันของเรา ให้เติบโตอย่างแข็งแรงและดีต่อใจทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง

ลองให้เวลาตัวเองได้สำรวจจิตใจของเราสักนิด และทำความเข้าใจสาเหตุของความคิดและการกระทำของตัวเรา เราจะมองเห็นสิ่งที่กำลังรบกวนจิตใจเราอยู่ได้ชัดเจนขึ้น และรับมือกับมันได้อย่างตรงจุด

อ้างอิง

ที่มา : https://www.brandthink.me/content/how-childhood-experiences-impact-love-styles

 

Visitors: 1,409,229