NO นวัตกรรมสุดล้ำ ช่วยชีวิตผู้ป่วยหนักได้ โดยไม่พึ่งท่อช่วยหายใจ

NO นวัตกรรมสุดล้ำ ช่วยชีวิตผู้ป่วยหนักได้ โดยไม่พึ่งท่อช่วยหายใจ 
 
2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 นวัตกรรมทางการแพทย์ต่างมีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสแล้ว ในตอนนี้มีการศึกษายาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง ที่ถูกคาดว่าจะเป็นความหวังใหม่ ซึ่งจะช่วยรักษาผู้ป่วย ที่ถึงแม้จะติดเชื้อ และมีอาการ ก็ไม่ป่วยหนักหรือเสียชีวิตลง
 
แต่หากว่ามีใครบางคนที่ โชคไม่ดีนัก อาจด้วยเพราะโชคชะตา หรือเงื่อนไขทางร่างกาย “ป่วยหนัก” ถึงขั้นระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันล่ะคะ มีวิธีไหนบ้างที่จะช่วยคนเหล่านั้นได้ โดยไม่ทุกข์ทรมานจากการสอดท่อช่วยหายใจ
 
เราเคยมีการนำเสนอเรื่อง การให้ออกซิเจนผ่านทางทวารหนัก ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เชื่อว่าสามารถช่วยได้ แต่ยังคงต้องศึกษาต่อไป แต่วันนี้เราก็มีอีกวิธีหนึ่งที่น่าเหลือเชื่อ และน่าสนใจ มาเล่าให้คุณฟังกันค่ะ มาดูกันนะคะ ว่า “เทคโนโลยีทางการแพทย์” ของโลกเราก้าวกระโดดไปมากแค่ไหนแล้ว
 
มีงานวิจัยจากต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่า การรักษาโดยใช้ “NO (ไนตริกออกไซด์) ความเข้มข้นสูง” อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และมองข้ามไปไม่ได้ว่าสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดพ้นจากโควิดตัวร้ายได้
 
 
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เมื่อ NO (g) ความเข้มข้นสูง ใช้รักษาโควิดอาการหนักในคนท้องได้
 
จากงานวิจัย เรื่อง High Concentrations of Nitric Oxide Inhalation Therapy in Pregnant Patients With Severe Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) โดยโรงพยาบาลกลางของรัฐแมสซาซูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการใช้ไนตริกออกไซด์ (NO) ความเข้มข้นสูงอยู่ในช่วง 160-220 ppm ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยตั้งครรภ์ที่เกิดภาวะหายใจล้มเหลวจากระดับออกซิเจนในเลือดพร่อง (Hypoxic respiratory failure) โดยการสูดหายใจเข้า วันละ 2 ครั้ง พบว่า สามารถช่วยให้ผู้ป่วยทั้ง 6 คน มีการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ดีขึ้น และช่วยลดอาการหายใจเร็วกว่าปกติลง (Tachypnea) เมื่อเวลาผ่านไป 28 วัน ผู้ป่วยทุกคนสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย มีผู้ป่วยจาก 3 ใน 6 คน ที่กลับบ้านพร้อมกับลูกของพวกเขา และทุกคนมีผลตรวจเป็นลบ
 
หรืองานวิจัย เรื่อง Protocol for a randomized controlled trial testing inhaled nitric oxide therapy in spontaneously breathing patients with COVID-19 ได้ทำการศึกษาผลของการให้ NO ความเข้มข้นสูงที่ระดับ 140 - 180 ppm ผ่านการสูดหายใจ เพิ่มจากการรักษามาตรฐาน โดยเทียบกับการรักษาที่ให้เพียงการรักษาแบบมาตรฐานในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังสามารถหายใจเองได้ พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ NO ความเข้มข้นสูงมีเปอร์เซ็นต์การใส่ท่อช่วยหายใจผ่านหลอดลม และอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการรักษามาตรฐานเพียงอย่างเดียว
 
เมื่อ NO มีประโยชน์มากถึงขนาดนี้ มีใครอยากรู้จัก NO เพิ่มขึ้นไหมคะว่า NO คืออะไร? และมีกลไกการทำงานอย่างไร? เหตุไฉนถึงช่วยให้เรารอดจากระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้
 
NO ล้วนๆ ไม่มีตัวห้อย
 
“NO (g) = ไนตริกออกไซด์” เป็นก๊าซไม่มีสี มีอนุภาคอิสระที่ละลายในน้ำได้ (soluble free radical gas) ปกติร่างกายของเราผลิต NO ได้เองจากเซลล์บุผนังหลอดเลือด เซลล์กินสิ่งแปลกปลอม และเซลล์ประสาทในสมอง เพื่อเป็นสารเคมีสื่อสารในการทำงานระหว่างเซลล์ร่างกาย โดยจะทำให้เกิดการขยายหลอดเลือด (vasodilation) เนื่องจาก NO ไปเร่งปฏิกิริยา ทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณของ cGMP (cyclic guanosine monophosphate) เป็นผลทำให้เซลล์กล้ามเนื้อในหลอดเลือดผ่อนคลาย และเกิดการขยายหลอดเลือดขึ้นนั่นเองค่ะ นอกจากนั้นหากได้รับ NO จากภายนอกผ่านการสูดหายใจเข้า จะช่วยให้หายใจได้สะดวกมากขึ้นด้วยค่ะ
 
อย่าเพิ่งสับสนกันนะคะ เพราะ NO ก็คือ NO ไม่ใช่ N2O หรือ NO2 แต่อย่างใด
 
โดย N2O (g) = ไนตรัสออกไซด์ เป็นก๊าซที่ไม่ติดไฟ ไม่มีสี แต่มีกลิ่นหอม และมีรสชาติหวานเล็กน้อย หากเรียกชื่อ ไนตรัสออกไซด์ เราอาจไม่คุ้นกันมากนัก แต่มีใครคุ้นๆ กับชื่อ ก๊าซหัวเราะ ไหมคะ ใช่แล้วค่ะ มันคือตัวเดียวกัน ปัจจุบันในประเทศไทย ก๊าซชนิดนี้ถือเป็นสารต้องห้าม และให้ใช้ได้เฉพาะในทางการแพทย์ ทันตกรรมและสัตวแพทย์ เท่านั้นนะคะ โดยใช้ในการผ่าตัดทางทันตกรรมเพื่อให้เกิดอาการชา และเพื่อระงับความเจ็บปวด N2O นิยมใช้ในการผ่าตัดทางทันตกรรมสำหรับเด็กหรือผู้ใหญ่เพื่อลดความกังวลหรือความเครียดในการทำฟันค่ะ
 
ส่วน NO2 (g) = ไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซชนิดนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มก๊าซที่มีความไว ( highly reactive gases) ของไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) เมื่อ NO2 รวมตัวกับอนุภาคอื่นๆ ในอากาศ จะเห็นเป็นชั้นสีน้ำตาลแดง สาเหตุหลักของการเกิด NO2 มักมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่าง ๆ ในอุณหภูมิสูง เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงเครื่องยนต์ของรถยนต์ และ NO2 ยังถูกจัดเป็นอีกสารตั้งต้นอีกตัวหนึ่งที่ทำให้เกิด PM 2.5 อีกด้วยนะคะ
 
เอาล่ะค่ะ ตอนนี้เรารู้จัก “NO” กันแล้ว และเราก็รู้ว่า NO สามารถ “ช่วยชีวิต” ของผู้ป่วย จากระบบการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ โดยไม่ต้องสอดท่อ มีใครอยากรู้บ้างคะ ว่า NO ทำได้อย่างไร ถ้าพร้อมแล้ว สูดหายใจเข้าลึกๆ แล้วไปดูกันค่ะ
 
NO ทำงานอย่างไร? ไยจึงช่วยให้ผู้ป่วยโควิดอาการหนักอาการดีขึ้นได้
 
อย่างที่ได้มีการอธิบายไปข้างต้นนะคะ ว่า “NO” จัดเป็นอนุมูลอิสระ (free radical) ตัวหนึ่งที่ร่างกายของเราสามารถสร้างขึ้นได้ ซึ่งใช้เป็นตัวส่งสัญญาณตัวสำคัญที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างการทำงานของร่างกาย และอีกหนึ่งบทบาทที่ NO สามารถทำได้ คือ การกระตุ้นตัวรับมาตรฐาน (Canonical receptor) ที่พบมากในเซลล์กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด โดยเมื่อ NO จับกับส่วนหนึ่งของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงแล้ว จะทำให้ Guanylate cyclase ซึ่งเป็นเอนไซม์ (enzyme) ที่เปลี่ยน Guanosine triphosphate (GTP) เป็น cyclic Guanosine monophosphate (cGMP) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
 
เมื่อ enzyme เพิ่มขึ้น จะทำให้ cGMP ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้หลอดเลือดคลายตัว และทำให้มีการสร้างออกซิเจนในเลือดมากยิ่งขึ้น เมื่อ NO อยู่ในรูปก๊าซจะมีอีกหนึ่งคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา คือช่วยให้การหายใจสะดวกขึ้น เพราะจะช่วยขยายหลอดเลือดบริเวณปอด เมื่อการไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ปอดก็สามารถทำงานได้ดีขึ้นตามไปด้วย
 
นอกจากนั้น NO ยังมีผลทำให้หลอดลมขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และช่วยขัดขวางการสร้างอนุมูลอิสระตัวอื่นซึ่งจัดอยู่ในส่วนของ ROS (Reactive Oxygen Species) ที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวด้วย อีกทั้ง NO ที่ได้จากทั้งภายใน และภายนอกยังมีผลการวิจัยที่แสดงว่า สามารถขัดขวางการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัสได้ด้วยค่ะ
 
สรุปโดยย่อนะคะ เพราะ “NO” เป็นตัวกลางสำคัญ ที่จะช่วยให้ “cGMP” เพิ่มขึ้น โดยบทบาทของ cGMP จะทำให้หลอดเลือดเกิดการคลายตัว เมื่อหลอดเลือดคลายตัว เลือดจะไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ได้มากขึ้น และมีการเพิ่มกระบวนการทำงานเมตาบอลิซึมของเซลล์ เป็นผลให้มีการสร้างออกซิเจนมากขึ้น
 
เป็นอย่างไรบ้างคะ NO ไม่ธรรมดาเลยใช่ไหมคะ?
 
รักษาด้วย NO เตรียมบอกลาโควิด-19
 
มีความเป็นไปได้อย่างมากค่ะว่า การให้ NO (g) จะรักษาโควิด-19 ได้ ไม่ใช่เพียงในตอนที่ระบบหายใจเกิดการล้มเหลวเฉียบพลันเท่านั้นนะคะ แต่รวมไปถึงการฆ่าเชื้อไวรัสด้วย
 
ทำไมเราจึงเชื่อแบบนี้ ก็เพราะว่า การศึกษาเรื่อง Nitric oxide and the common cold ได้พบผลการศึกษาว่า NO สามารถขัดขวางกระบวนการที่ Rhinovirus ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคหวัด จะกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุเกิดการอักเสบที่รุนแรง และสามารถยับยั้งการจำลองตัวเองของเชื้อไวรัสได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยปรับปรุงตัวส่งสัญญาณที่มีผลต่อการส่งทอดสัญญาณที่จะทำให้เกิดการสร้างไซโตไคน์ (Cytokine) ซึ่งเป็นสารตัวสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับอวัยวะในร่างกายได้
 
นี่จึงอาจเป็นข้อสันนิษฐานที่เชื่อได้ว่า หากเรามองว่า “โควิด-19” คล้ายกับ “โรคหวัด” แม้ว่าจะเป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ แต่ก็คือ “ไวรัส” เมื่อ “NO” ยับยั้งการจำลองตัวเองของ Rhinovirus ได้ ก็อาจเป็นไปได้ว่า “NO” สามารถยับยั้งเชื้อโควิดได้เช่นกัน
 
และจากการศึกษาของ ดร. Zamanian และทีมงาน เรื่อง Home Nitric Oxide Therapy for COVID-19 โดยศึกษาอาการของผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะความดันหลอดเลือดแดงสูง (Pulmonary Arterial Hypertension; PAH) และมีอาการหอบเหนื่อยอย่างหนัก มีความจำเป็นต้องรักษาตัวเองที่บ้าน จึงทำการรักษา และติดตามอาการ ควบคู่ไปกับการให้ NO ด้วยการสูดหายใจ ผ่านการควบคุมระยะไกลของทีมแพทย์ พบว่า เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแข็งแรงพอที่จะมารักษาตัวในโรงพยาบาลต่อได้ เคสตัวอย่างนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการจะนำ NO มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด และมีโรคทางระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคประจำตัว ให้มีอาการดีขึ้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งคุณประโยชน์ที่พวกเราได้รับจาก “NO” กันค่ะ
 
แม้ว่า ในตอนนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์สุดล้ำ ที่ชื่อ “inhaled Nitric oxide” (iNO) ยังมีการศึกษาทางคลินิกอยู่ แต่ก็ไม่แน่นะคะว่า
 
หาก...โควิดตัวร้ายวิวัฒน์ตัวเองอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความร้ายกาจของตัวเองมากขึ้น
 
หาก...การแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นจนเกินรับไหว
 
หาก...เตียงในโรงพยาบาลเต็ม และผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มจำนวนมากขึ้น
 
เราอาจจะได้ยินการรักษาโดยใช้นวัตกรรม NO มากขึ้นก็เป็นได้ค่ะ
 
เพราะเวลาทุกวินาทีนั้นมีค่า และไม่มีใครย้อนเวลากลับไปได้ ดังนั้น “มาทำวันนี้ให้ดีที่สุด” กันเถอะค่ะ ด้วยการปกป้องตนเองอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ และต้องก้าวเข้าไปสู่ทางเลือกในการรักษาที่หลากหลาย
 
การป้องกันการติดเชื้อที่ว่าก็ง่ายแสนง่ายค่ะ คือ เมื่อเวลาออกไปข้างนอก อย่าลืมสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่มีคุณภาพสูงกว่า อย่างมิดชิด หากไปพื้นที่เสี่ยงก็หมั่นตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK อย่างน้อย 3 ครั้ง/สัปดาห์ และพยายามอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี หรือพื้นที่เปิด มากกว่าพื้นที่ปิดกันนะคะ
 
 
 
 
อ้างอิง:
High Concentrations of Nitric Oxide Inhalation Therapy in Pregnant Patients With Severe Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7673637/
 
Protocol for a randomized controlled trial testing inhaled nitric oxide therapy in spontaneously breathing patients with COVID-19
 
 

 

Visitors: 1,380,178