Hospitel และ รพ.เอกชน กับราคาที่ต้องจ่าย 3-4 หมื่นบาท/คน
Hospitel และ รพ.เอกชน กับราคาที่ต้องจ่าย 3-4 หมื่นบาท/คน
เชื่อว่าเวลานี้หลายคนกำลังเดือดเนื้อร้อนใจ และไม่แน่ใจว่าตัวเองติด “โควิด-19” หรือไม่ ยิ่งช่วงนี้ฝนตกบ่อย อากาศเปลี่ยนแปลงทำให้คนป่วยกันมากมาย
บางคนยอมลงทุนไปตรวจที่แล็บเอกชนเพื่อสร้างความมั่นใจ ผลที่ตามมา คือ เมื่อรู้ผลว่าเป็นบวก ก็ต้องวิ่งหาโรงพยาบาลอีก ซึ่งเวลานี้รัฐบาลได้แถลงและแก้ปัญหานี้ ด้วยการให้แล็บที่รับตรวจต้องมีโคกับโรงพยาบาลด้วย
แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่คนกังวลมากที่สุดเวลานี้ นอกจากเรื่อง ติดหรือไม่ติดโควิดแล้ว สิ่งที่ต้องคิดมากไปกว่านั้น คือ จะมีที่ให้รักษาไหม เพราะหากติดแล้วก็กลัวที่จะส่งเชื้อโรคต่อให้คนที่รัก Hospitel จึงเป็นตัวเลือกหนึ่ง นอกจาก รพ.สนาม
ผู้เขียนได้มีโอกาสได้พูดคุยกับ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงแนวคิดการใช้โรงแรมเป็น Hospitel ว่า หลักการมาจากโรงพยาบาลมีเตียงรองรับไม่เพียงพอ จึงดัดแปลงโรงแรมให้กลายเป็น “หอผู้ป่วยใน”
ทพ.อาคม อธิบายว่า การขออนุญาต โรงพยาบาลจะต้องไปทำข้อตกลงกับโรงแรม จากนั้นต้องมายื่นขอตั้ง Hospitel ผ่าน สบส. ยกเว้น โรงพยาบาลของรัฐ ที่ไม่ต้องยื่นขอผ่าน สบส. สามารถทำได้เลย แต่ปัจจุบันยังไม่มีโรงพยาบาลรัฐทำ
เวลานี้มี 20 กว่าโรงพยาบาลเอกชน ขอตั้งเป็น Hospitel รวม 33 แห่ง ปัจจุบันมีประมาณ 7,300 เตียง ซึ่งปัจจุบัน ใช้ไปแล้วกว่า 3,000 เตียง ซึ่งห้องพักนั้นจะมี 2 แบบคือ เตียงเดี่ยว และเตียงคู่ ซึ่งจาก 7 พันเตียง ดังกล่าว ยังเปิดใช้ไม่หมด เพราะต้องตรวจสอบความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ ว่าเพียงพอหรือไม่ การดูแลรักษาห้องเหมาะสมแค่ไหน ระบบกำจัดขยะ ทำความสะอาดดีพร้อมไหม
“ทางโรงพยาบาลต้องประสานกับโรงแรม เรื่องความพร้อม เมื่อพร้อมก็อาจจะไล่เปิดให้บริการไปทีละชั้น ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ก็คล้ายโรงพยาบาลสนาม แต่อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีประจำห้อง เช่น เครื่องตรวจความเข้มข้นในกระแสเลือด หรือเครื่องเช็กอุณหภูมิ”
ค่าใช้จ่าย Hospitel เบิกกับประกันส่วนตัว ประกันสังคม หรือ บัตรทอง แต่รายหัว 30,000-40,000 บาท
สิ่งที่คนไทยล้วนกังวลคือเรื่องค่าใช้จ่าย
ผู้เขียนได้สอบถามกับ รอง อธิบดี สบส. ซึ่งท่านรองฯ ได้อธิบายว่า คนไทยที่ติดเชื้อและได้รับบริการที่ Hospitel จะไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะรายจ่ายดังกล่าว สามารถเข้าไปเบิกประกันสังคม หรือบัตรทอง ได้ ซึ่งครอบคลุมรวม 64 ล้านคน ส่วนใครที่มีประกันส่วนบุคคลก็สามารถใช้ได้ ถ้าไม่พอก็นำส่วนต่างไปเบิกกับประกันสังคมหรือบัตรทอง
คนไข้มีสิทธิ์เลือกไหมว่า จะขอรักษาตัว Hospitel ?
เชื่อว่าคำถามนี้หลายคนอยากรู้ ผู้เขียนจึงถามและ ทพ.อาคม ได้ไขคำตอบว่า คนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้ารักษาที่ Hospitel ถ้าเตียงว่าง ก็สามารถเข้าไปรักษาที่นั่นได้ แต่...เรื่องนี้เป็นเรื่องของ จรรยาบรรณของโรงพยาบาล ว่าจะจัดคนไข้ไปอยู่ที่ไหน
“ไม่ใช่ว่า มีประกันส่วนบุคคลเลยให้ไปอยู่ Hospitel แบบนี้ถือว่าไม่ได้ เราเองก็พยายามทำความเข้าใจผู้ประกอบการว่า ในนาทีนี้ไม่สามารถนำเรื่อง “ค่าใช้จ่าย” มาตัดสิน เพราะถือเป็นเวลาที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน”
หากมีการเลือกปฏิบัติก็จะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย และมีบทลงโทษ เพราะผู้ป่วยมีสิทธิเข้าถึงการใช้สถานบริการพยาบาล โดยที่โรงพยาบาลต้องให้บริการโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเหมือนการรักษาทั่วไป ซึ่งค่าเฉลี่ย คน/14 วัน จะอยู่ที่ประมาณ 30,000 - 40,000 บาท อาทิ ค่าห้องพัก, ชุด PPE, เจ้าหน้าที่พยาบาล-หมอ, อาหาร 3 มื้อ
เมื่อถามว่า ค่าอาหารมื้อเท่าไร ห้องเท่าไร ทพ.อาคม บอกราคาคร่าวๆ ว่า ค่าห้องพัก ประมาณ 650 บาท อาหาร 3 มื้อ ประมาณ 250 บาท แล้วแต่โรงแรม ซึ่งโรงแรมจะได้ค่าส่วนต่างตรงนี้
ปัจจุบัน Hospitel มีขาดแคลนอุปกรณ์หรือไม่ หมออาคม เผยว่า ตรงนี้คือความรับผิดชอบของโรงพยาบาลที่จะต้องจัดหามา เพราะเขาสามารถเบิกได้ และมันเป็นกลไกสำคัญในการคิดที่จะเปิด Hospitel หากโรงพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์ ก็จะค่อยๆ เปิดไปทีละชั้น ทีละห้อง
ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัน Hospitel ยังเพียงพอ
คุณหมออาคม เปิดเผยแผนรับมือว่า ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้า Hospitel แต่เรามีการแบ่งอาการป่วย เช่น ระดับสีแดง (กลุ่มฉุกเฉินอันตรายถึงชีวิต) หรือ สีเหลือง (ฉุกเฉินปานกลาง ต้องได้รับการรักษาภายใน 30 นาที) จะต้องไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล
สำหรับคนไข้ที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ จะต้องมารักษาตัวที่ Hospitel หรือ รพ.สนาม ที่หน่วยงานท้องถิ่นจัดไว้ให้...
การประเมินการเพิ่มลดจำนวนเตียงผู้ป่วยนั้น เราจะดูอัตรา Turnover Rate (การหมุนเวียนเข้า-ออก) เช่น คนป่วย หลักพันคนทุกวัน แต่..จะมีบางส่วนที่อาการดีและหมอให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านต่อได้
การรักษาในเบื้องต้น จะต้องดู 14 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการหรือไม่
ก็ต้องอยู่ให้ครบ โดยผู้ป่วยจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดหลายครั้ง ป่วยด้วยอาการอะไร ก็กินยาตามอาการ จนกระทั่งตรวจเลือด หรือ SWAB ตรวจผลโควิดว่ายังมีหลงเหลือหรือไม่ หรือมีภูมิคุ้มกันมากน้อยเพียงไร ถ้าหายป่วย เชื้อโควิดหมดไปแล้ว หมอก็จะให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่อ โดยต้องงดเว้นการทำกิจกรรมในครอบครัว
“เวลานี้มีแต่อัตราผู้ป่วยเข้า ยังไม่มีออก เพราะเป็นช่วงระบาดใหม่ๆ ถ้าหากครบ 14 วัน แล้วเชื่อว่าจะมีผู้ป่วยได้กลับบ้าน อัตราการ Turnover Rate ตรงนี้จะมีส่วนสำคัญในการบริหารจัดการเตียงต่อไป” รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าว
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Sriwan Singha
|