ไส้ติ่งอักเสบ จากโรคร้ายถึงตายสู่การผ่าตัดที่ฮิตที่สุดในโลก

ไส้ติ่งอักเสบ จากโรคร้ายถึงตายสู่การผ่าตัดที่ฮิตที่สุดในโลก
 
.
ถ้าจะพูดถึงการผ่าตัดที่พื้นๆ ที่สุดในโลก ไม่นับการผ่าคลอดลูกแล้ว การผ่าตัดที่ว่าก็คงจะเป็นการผ่าตัดไส้ติ่ง เพราะมนุษย์ประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ในโลกนี้มีโอกาสที่จะเป็นไส้ติ่งอักเสบสักครั้งในชีวิต
.
มันเบสิคขนาดนั้น และก็เรียกได้เลยว่าใครที่เติบโตมาสักครึ่งชีวิต ก็ยากที่จะไม่รู้จักใครสักคนที่ผ่านการผ่าตัดไส้ติ่ง เพราะตามมาตรฐานการแพทย์ทุกวันนี้ หากใครเป็นไส้ติ่งอักเสบก็มีวิธีรักษาที่ดีที่สุดคือการ ‘ตัดทิ้ง’ เพราะมันถือเป็นอวัยวะที่ไม่มีประโยชน์ระดับที่องค์การนาซา (NASA) แนะนำให้นักบินอวกาศผ่าออกก่อนจะเดินทางท่องอวกาศ เพราะถ้าเกิดไปไส้ติ่งแตกนอกโลกมันไม่คุ้ม
.
การผ่าตัดไส้ติ่งออกไม่ได้น่าสนใจอะไรนัก เพราะมันเป็นการผ่าตัดขั้นพื้นฐานที่อาจสำเร็จได้ในเวลาแค่ชั่วโมงเดียว และพักฟื้นเพียง 2-3 วันก็เดินออกจากโรงพยาบาลได้ แต่ถ้าเราสงสัยว่าแล้วในอดีตก่อนที่การแพทย์จะก้าวหน้า คนจัดการกับมันยังไงล่ะ?
.
ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ
.
ในอดีต จริงๆ หลักฐานทางโบราณคดีมันย้อนไปถึงยุคอียิปต์โบราณเลยว่าคนมีอาการไส้ติ่งอักเสบกันมานานแล้ว แต่ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับโรคนี้เลยในอดีต เพราะการแพทย์เพิ่งรู้จักโรคนี้มาไม่ถึง 200 ปี
.
และจริงๆ ไส้ติ่งเป็นอวัยวะที่มนุษย์ไม่เคยรู้เลยว่ามันดำรงอยู่มาตลอดประวัติศาสตร์ยุคโบราณ ภาพวาดกายวิภาคภายในของมนุษย์เพิ่งปรากฏไส้ติ่งตอนปลายศตวรรษที่ 15 ตอนที่เริ่มผ่ามนุษย์กันจริงๆ โดยก่อนหน้านั้นที่ผ่าลิง ไม่มีใครรู้ว่ามีอวัยวะนี้อยู่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งหลังจากรับรู้การดำรงอยู่ของไส้ติ่งแล้ว ก็ต้องใช้เวลาอีก 300-400 ปี กว่าจะมีคนสงสัยว่าอวัยวะนี้มัน ‘อักเสบ’ ได้
.
แต่ก็อย่างที่ว่า มนุษย์เจ็บป่วยด้วยอาการนี้มานานแล้ว ซึ่งแพทย์สมัยก่อนก็จะมีการบันทึกอาการปวดท้องน้อยทางด้านขวาอย่างรุนแรงเอาไว้เยอะ แต่เขาจะเข้าใจว่ามันคือการอักเสบของส่วนแรกของลำไส้ใหญ่ เพราะเขาไม่รู้ว่ามีไส้ติ่งอยู่ตรงนั้น ไม่ต้องพูดถึงการเข้าใจว่าปวดแล้วก็ควรจะตัดออกแบบทุกวันนี้
.
ที่จริงหมอในศตวรรษที่ 18 ก็เริ่มมีการผ่าตัดกันแล้ว แต่ประเด็นคือสมัยนั้นเขายังไม่ได้มีไอเดียว่าต้อง ‘ผ่าไส้ติ่ง’ แค่เขารู้ว่าปวดท้องรุนแรงมากๆ มันต้องมีอะไรผิดปกติ และเขาผ่าท้องเจออะไรผิดปกติก็ตัดออก สมัยก่อนมันดิบๆ อย่างนั้น
.
ซึ่งการผ่าตัดในสมัยแรกเริ่ม ถ้าไม่คอขาดบาดตายจริงๆ เขาไม่ผ่าตัดกัน เพราะคนที่ถูกผ่าตัดมีโอกาสตายสูงมาก และเราก็ต้องเข้าใจว่าห้องผ่าตัดสมัยนั้นมันสกปรกสุดๆ แทบไม่ต่างจากเขียงหมู เพราะในอดีต คนยังไม่ได้มีความเข้าใจว่าต้นเหตุของโรคภัยคือ ‘เชื้อโรค’
.
ความก้าวหน้าแรกๆ ที่นำมาสู่การผ่าตัดไส้ติ่งคือ ความเข้าใจเรื่องเชื้อโรค ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจว่าภาวะผ่าตัดต้อง ‘ปลอดเชื้อ’ คนไข้ถึงจะมีโอกาสรอดมากขึ้น ซึ่งในยุคเดียวกันมันก็มีการพัฒนาพวกยาสลบ (ก่อนหน้านั้นเขาใช้ฝิ่น) ทำให้การผ่าตัดเป็นไปง่ายขึ้น และนี่คือพัฒนาการทางการแพทย์ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่เปลี่ยนแปลงวงการแพทย์รวมๆ เลย ไม่ใช่แค่การผ่าตัดไส้ติ่งเท่านั้น
.
พัฒนาการพวกนี้ทำให้การผ่าตัดปลอดภัยขึ้น และทำให้แพทย์เริ่มพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผ่าตัดแบบสมัยใหม่ที่เรารู้จักกัน และสุดท้ายตอนปลายศตวรรษที่ 19 คนก็เริ่มเสนอจริงจังถึงการวินิจฉัยอาการไส้ติ่งอักเสบ และการผ่าตัดออก ซึ่งการผ่าตัดแบบจงใจจะตัดไส้ติ่งครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นในปี 1887 โดยศัลยแพทย์ชื่อ โธมัส มอร์ตัน (William Thomas Green Morton)
.
อย่างไรก็ดี ดังเช่นวิธีการรักษาใหม่ๆ ทั่วไปที่คนไม่ยอมรับกันในตอนแรก และเอาจริงๆ การผ่าตัดในยุคนั้นก็ยังอันตรายอยู่มาก ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดยังเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นแม้การผ่าตัดเล็กๆ อย่างไส้ติ่งก็ยังเสี่ยงมาก และถ้าไม่คอขาดบาดตายจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากผ่าตัด และใครเป็นไส้ติ่งอักเสบปกติก็คือจะไปลุ้นแบบในอดีตว่าสุดท้ายอาการอักเสบจะหายไปเอง และไส้ติ่งจะไม่แตก เพราะถ้าแตกเมื่อไร โอกาสตายจะสูงมาก
.
อย่างไรก็ดี เคสความสำเร็จของการผ่าตัดไส้ติ่งที่เป็นตำนานให้โลกรู้ก็คือ การผ่าตัดพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในปี 1902 คือในตอนนั้นพระราชินีวิคตอเรียเพิ่งสวรรคต รัชทายาทอย่างพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็เตรียมจะขึ้นครองราชย์ต่อ แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านนั้นเอง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็ดันเป็นไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งตอนแรกพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่อยากเลื่อนพิธีราชาภิเษกออกไป แต่สุดท้ายอาการก็แย่ลงจนแพทย์หลวงกล่าวว่า “ถ้าพระองค์ไม่ผ่า พระองค์ก็คงเป็นศพในงานพิธี” และสุดท้ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็ยอมผ่า และการผ่าตัดก็ผ่านไปด้วยดี และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษในที่สุด
.
ความสำเร็จของการผ่าตัดไส้ติ่งให้กับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ทำให้คนรู้จักกระบวนการนี้กว้างขวางขึ้นมาก อย่างในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ไม่จำเป็นใครก็ไม่อยากเข้าผ่าตัด เพราะ ‘อาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด’ ที่อาจจะทำให้ถึงตายมันยังคงอยู่ และก็ต้องรอให้ล่วงเลยไปถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ ‘ยาปฏิชีวนะ’ แพร่หลายนั่นแหละ การผ่าตัดจึงปลอดภัยขึ้นอีกระดับ และทำให้คนเข้ารับการผ่าตัดรวมๆ มากขึ้นในเวลาต่อมา
.
ในบรรดาการผ่าตัดที่เพิ่มขึ้นเพราะมันปลอดภัยขึ้น การผ่าตัดระดับท็อปที่พบได้ทั่วโลกก็คือ การผ่าตัดเอาไส้ติ่งออก เนื่องจากมันเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะจัดการปัญหาอันเกิดจากอวัยวะอันไร้ประโยชน์นี้ได้อย่างคงทนถาวร
.
สุดท้าย แม้ว่าการผ่าตัดไส้ติ่งจะเป็นการผ่าตัดพื้นๆ และในประเทศที่มีสวัสดิการการแพทย์ถ้วนหน้าจะสนับสนุนงบประมาณตรงนี้ แต่ในประเทศที่การแพทย์อยู่ภายใต้โรงพยาบาลเอกชน ในปัจจุบันค่าผ่าตัดไส้ติ่งก็โหดอยู่ เช่น สหรัฐอเมริกา ค่าผ่าตัดสตาร์ทที่ประมาณ 500,000 บาท และค่าเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 2 ล้านบาท ส่วนในไทยปัจจุบันยุคหลังโควิด ถ้าจะผ่าตัดไส้ติ่งแบบไม่มีประกันใดๆ กับโรงพยาบาลเอกชน ก็อาจต้องเตรียมเงินไว้ประมาณ 100,000 บาทเลยทีเดียว
.
อ้างอิง: Annals of Surgery. Presidential Address: A History of Appendicitis. https://bit.ly/3RTfnZ5
The American Surgeon. A Brief History of Appendicitis: Familiar Names and Interesting Patients. https://bit.ly/3evR2L4
Wikipedia. Appendicitis. https://bit.ly/3yy3a50
กรมการค้าภายใน. ระบบค้นหาและเปรียบเทียบราคาค่ารักษาพยาบาลและบริการทางการแพทย์. https://hospitals.dit.go.th/app/service_price_list.php
.
ที่มา :  #BrandThink
 
Visitors: 1,217,478