โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือสลักเพชรจม นั่งทำงานนานๆ ต้องระวัง

โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือสลักเพชรจม นั่งทำงานนานๆ ต้องระวัง

 

โรค "กล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท" (Piriformis Syndrome) เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ จนมีอาการปวดบริเวณก้นร้าวไปยังขา ล่าสุด นักร้องดังออกมาเตือน นั่งไขว่ห้าง-ชันขานาน เสี่ยงเกิดโรคนี้

สิ่งที่ผู้ป่วยมักจะเข้าใจผิดว่าเวลาปวดบริเวณสะโพกหรือก้น แล้วร้าวลงขาจะเป็นโรคหมอนกระดูกทับเส้นประสาท ยังมีอีกหนึ่งโรคที่สามารถก่อให้เกิดอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน และหลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อมากนัก แต่ในความเป็นจริงมีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่ตรวจพบโรคนี้จากอาการที่กล่าวไปข้างต้น นั่นก็คือ “สลักเพชรจม” 

สลักเพชร (Piriformis) คืออะไร

สลักเพชร หรือกล้ามเนื้อสะโพก Piriformis Muscle เป็นกล้ามเนื้อขนาดเล็กที่อยู่บริเวณก้นกับสะโพก ลักษณะของกล้ามเนื้อจะแบนมีจุดเกาะเชื่อมระหว่างขอบกระดูกเชิงกรานกับกระเบนเหน็บ มีหน้าที่ช่วยให้ต้นขาสามารถเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่างๆ ได้ 

ปกติแล้วหลังสลักเพชรจะมีเส้นประสาท Sciatic ลากผ่านอยู่ด้านหลังโดยที่ไม่มีการกดทับกัน แต่เมื่อใดก็ตามที่กล้ามเนื้อสลักเพชรเกิดอาการตึง หดเกร็งมากเกินไป หรือมีอาการบาดเจ็บขึ้นก็อาจทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการปวดสะโพกร้าวลงขาได้

 

 

"สลักเพชรจม" สาเหตุและอาการ

สลักเพชรจม ชื่อทางการแพทย์ คือ ภาวะกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท‬ (Piriformis Syndrome) เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อที่ชื่อว่า Piriformis ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อบริเวณสะโพกเกิดภาวะตึงและไปกดทับเส้นประสาท Sciatic ซึ่งเส้นประสาทนี้จะลากผ่านตั้งแต่กระดูกสันหลังส่วนเอว ผ่านกล้ามเนื้อสะโพกและไปยังขา เพื่อส่งสัญญาณและควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนล่าง

เมื่อกล้ามเนื้อ Piriformis ไปกดทับเส้นประสาท Sciatic เข้าจึงทำให้การส่งสัญญาณไปส่วนขาเกิดผิดพลาด และทำให้เกิดอาการปวดบริเวณสะโพก ก้นชาและร้าวลงไปยังขาได้

อาการปวดสะโพกร้าวแล้วชาลงขานั้นเป็นอาการที่คล้ายกับอาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งเกิดจากเส้นประสาท Sciatic ถูกกดทับเช่นกัน แต่สาเหตุของการทำให้เกิดอาการปวดนั้นมีที่มาที่แตกต่างกัน 

โดยสลักเพชรจมเกิดจากกล้ามเนื้อสะโพกทับเส้นประสาท แต่ในขณะที่โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน ฉีกขาด เสื่อมสภาพจนทำให้แกนหมอนรองกระดูกหลุดออกมาทับเส้นประสาท

ปัจจัยเสี่ยงกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท

  • เคลื่อนไหวร่างกายส่วนล่างผิดท่า
  • ออกกำลังกายมากเกินไป
  • วิ่งหรือทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวขาอย่างต่อเนื่อง
  • นั่งเป็นเวลานาน
  • ยกของหนัก
  • เกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายส่วนล่าง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาทมาก่อน ควรออกกำลังกายหรือยืดกล้ามเนื้อตามที่แพทย์แนะนำเป็นประจำ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ยังคงมีการอาการปวด ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางฯ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุโดยละเอียด 

"โบกี้ไออ้อน" เตือนนั่งไขว่ห้าง-ชันขานาน เสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหนีบเส้นประสาท

กลายเป็นกระแสที่ชาวโซเชียลมีเดียให้ความสนใจ กรณีนักร้องสาว “โบกี้ไลอ้อน” ได้ออกมาโพสต์สตอรี่ในอินสตาแกรมว่า เธอนั้นกำลังรักษาโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท และเตือนทุกคนให้ระวังพฤติกรรมที่เสี่ยงเกิดโรคนี้ โดยได้ระบุข้อความว่า

“จากสตอรี่ก่อนหน้านี้ โบกำลังรักษาโรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท ชื่อโรคว่า Piriformis syndrome ค่ะ อาการแรกเริ่มคือปวดก้นกบร้าวลงมายันปลายขา ก็ยังทำงานอยู่ปกติจนเริ่มมีไข้ เริ่มมีชาครึ่งซีกกลายเป็นเดินไม่ได้ เจ็บทุกอิริยาบถ ร้าวไปหมดจะเดินจะนอนจะยืน ไม่สามารถลงน้ำหนักตรงขาได้

ซึ่งน่าจะเกิดจากการที่โบทำเพลงแล้วนั่งเก้าอี้นานเดินทางตลอดเวลา ชอบนั่งไขว่ห้าง/ชันขาจนเป็นนิสัย พอเริ่มปวดก็คิดว่าคงไม่มีอะไร จนอาการมันเรื้อรังและมีผลต่อการใช้ชีวิตค่ะ อยากแนะนำทุกคนที่ชอบนั่งไขว่ห้าง/ชันขา อิริยาบถแปลกๆที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นประสาท เลิกได้เลิกเถอะนะคะ พอมาเป็นจริงๆแล้วทรมานมาก ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็มีสิทธิ์เป็นได้ทั้งหมดเลยค่ะ ดูแลสุขภาพนะคะทั้งนี้ขอบคุณทุกท่านสำหรับความห่วงใย”

"หมอแล็บ" เผยพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ถึง 6 เท่า

ล่าสุด ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของแฟนเพจ "หมอแล็บแพนด้า" ได้ออกมาโพสต์ประเด็น โรคกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท หรือ Pirformis syndrome โดยระบุว่า 

เกิดจากกล้ามเนื้อ Piriformis ที่อยู่แถวๆแก้มก้นไปกดทับเส้นประสาท Sciatic nerve ที่อยู่ใกล้ๆกัน ทำให้รู้สึก

“ปวดบริเวณก้น ชาร้าวลงขา” และอาการจะมากขึ้นๆตอนเรานั่ง ยืนและเดินนาน ๆ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ถึง 6 เท่า

มักจะเจอในคนที่มีการนั่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ บางทีอาจจะเกิดจากกล้ามเนื้อ Piriformis อักเสบ หรือมีความตึงตัวมากเกินไป จากการใช้งานหนักหรือถูกกระแทก

โรคนี้จะมีอาการคล้ายๆกับหลายโรค อย่างเช่น โรคปวดหลัง โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคเยื่อหุ้มข้อสะโพกอักเสบ ฯลฯ ต้องวินิจฉัยแยกโรคให้ขาด

การรักษามีหลายวิธี ลองไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะครับ เค้าจะมียากิน ยาฉีด ผ่าตัด ร่วมกับการรักษากับนักกายภาพบำบัด จะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ครับ

เอ้า! ใครชอบนั่งท่าเดิมนานๆ ลุกขยับร่างกาย เปลี่ยนอิริยาบทบ้าง

 

ที่มา : โรงพยาบาลสมิติเวช , S spine and nerve hospital , หมอแล็บแพนด้า

 

Visitors: 1,410,120