ทำไม ‘เฟรยา’ ถึงต้องตาย? เพราะวอลรัสเป็นภัย หรือแค่ทำให้มนุษย์อยู่ห่างออกไปไม่ได้จริงๆ?

ทำไม ‘เฟรยา’ ถึงต้องตาย? เพราะวอลรัสเป็นภัย หรือแค่ทำให้มนุษย์อยู่ห่างออกไปไม่ได้จริงๆ?


.
ข่าวคราวที่ทำให้คนรักสัตว์ทั่วโลกเสียใจในช่วงไม่กี่วันมานี้น่าจะมีข่าวการตายของ ‘เฟรยา’ (Freya) รวมอยู่ด้วย เพราะเฟรยาคือวอลรัสที่ไม่กลัวคน ชอบขึ้นมานอนอาบแดดบนเรือ แถมยังเคยไปเยือนประเทศแถบยุโรปมาแล้วหลายแห่ง แต่กลับถูกฆ่าตายที่นอร์เวย์เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่ผ่านมา
.
เฟรยาปรากฏตัวในสื่อตั้งแต่ปี 2021 หลังจากนักวิจัยของสำนักงานวิจัยทางทะเลแห่งชาติเนเธอร์แลนด์ หรือ NIOZ เผยแพร่ภาพเฟรยาขณะอาบแดดบนเรือในช่วงที่มีการประชุมสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงพอดี จึงเกิดการทวีตข้อความติดตลกว่าเฟรยาอาจจะมาปรากฏตัวเพราะอยากให้คนหันมาสนใจการแก้ปัญหานี้กันมากขึ้น
.
นอกจากนี้ยังมีผู้พบเห็นเฟรยาอีกหลายครั้งในน่านน้ำเดนมาร์ก เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และที่สุดท้ายคืออ่าวออสโลฟยอร์ดในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยมีคนเห็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2022 และเฟรยากลายเป็นขวัญใจชาวนอร์เวย์จำนวนมาก แต่ล่าสุดกลับถูกสั่งฆ่าโดยความเห็นชอบของรัฐบาล
.
โยนาส การ์ สเตอร์ (Jonas Gahr Støre) นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ยืนยันว่า การฆ่าเฟรยาคือ ‘การตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว’ แม้จะรู้ว่าต้องเกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากผู้คนส่วนใหญ่แน่ๆ แต่ก็ยืนยันว่าบางครั้งคนเราต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่คนไม่ชอบอยู่ดี
.
ก่อนหน้านี้ผู้บริหารสำนักงานประมงในกรุงออสโลก็ยืนยันเช่นกันว่า ได้ประเมินสถานการณ์ทุกอย่างแล้วจึงตัดสินใจ ‘การุณยฆาต’ เฟรยา ด้วยเหตุผลที่ว่าเฟรยา ‘อาจเป็นอันตรายต่อมนุษย์’
.
สำนักงานประมงฯ ยกตัวอย่างกรณีเฟรยาขึ้นมาอาบแดดบนท่าเรือ ดึงดูดให้คนจำนวนมากเข้าไปใกล้เพื่อถ่ายรูป และบางครอบครัวก็ไม่ฟังคำเตือนของเจ้าหน้าที่บริเวณอ่าว พาเด็กเล็กๆ เข้าไปใกล้ ทั้งยังมีกรณีที่เฟรยาแสดงพฤติกรรมคุกคามนักว่ายน้ำในอ่าวออสโลฟยอร์ด และเคยเป็นสาเหตุที่ทำให้เรือขนาดเล็กในอ่าวล่มมาก่อน

ซิรี มาร์ทินเซน (Siri Martinsen) นักอนุรักษ์สัตว์จากองค์กร NOAH ระบุกับ The Guardian ว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เฟรยาต้องตายเพียงเพราะมนุษย์ไม่รู้จักควบคุมตัวเองให้ดี ทั้งยังบอกด้วยว่าที่จริงวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ทำได้ไม่ยากเลย แค่เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการปรับเงินหรือหาบทลงโทษอื่นๆ เพื่อป้องกันคนเข้าไปใกล้เฟรยาจนเกินระยะที่เหมาะสม และถ้าดูจากพฤติกรรมแล้วเฟรยาก็ไม่น่าจะอยู่ที่น่านน้ำในกรุงออสโลนานเกินกว่าเดือนสิงหาคม-ตุลาคม และหลังจากนั้นน่าจะว่ายไปที่อื่น
.
แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่เห็นด้วยกับการฆ่าเฟรยาเช่นกัน บุคคลคนนั้นคือ เพอร์ เอสเพน ฟเยลด์ (Per Espen Fjeld) นักสัตววิทยาและที่ปรึกษาสำนักงานด้านสิ่งแวดล้อมของนอร์เวย์ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อ VG ยืนยันว่า เป็นเรื่องยากที่จะห้ามคนทำกิจกรรมในออสโลฟยอร์ดไม่ให้กระทบกับวอลรัสเฟรยา เพราะพื้นที่ตรงนั้นมีคนไปว่ายน้ำและทำกิจกรรมทางน้ำปีละราวๆ 1.6 ล้านคน การที่ว่ายน้ำอยู่ดีๆ แล้วต้องเจอกับวอลรัสหนักกว่า 600 กิโลกรัมพุ่งเข้ามาหา ก็ไม่น่าจะใช่สิ่งที่ปลอดภัยต่อคนส่วนใหญ่
.
นอกจากนี้ ฟเยลด์ยังบอกด้วยว่าการปกป้องแค่เฟรยาตัวเดียวไม่ได้ช่วยให้ประชากรวอลรัสทั้งหมด ‘ปลอดภัย’ เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โดยระบุว่า ปัจจุบันมีประชากรวอลรัสอีกราว 30,000 ตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ถ้ามนุษย์กลัวว่าสัตว์น้ำเหล่านี้จะสูญพันธุ์ไปจริงๆ ก็ควรจะเรียกร้องให้หยุดการขุดเจาะและการค้นหาน้ำมันในทะเลแถบนั้นมากกว่า เพราะสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้วอลรัสพลัดถิ่นมาไกลถึงขนาดนี้ เป็นเพราะที่อยู่อาศัยของมันตามธรรมชาติถูกมนุษย์รุกรานมาได้สักพักใหญ่แล้ว
.
อ้างอิง: Twitter. NIOZ. https://bit.ly/3PlFJla
BBC. Young Arctic walrus "Freya" spotted in Shetland. https://bbc.in/3PtB40q
The Guardian. Norway was right to put down Freya the walrus, prime minister says. https://bit.ly/3C6fJaz
.

#BrandThink
#CreateaBetterTomorrow

ที่มา : https://www.instagram.com/p/ChW5VU1vADh/

Visitors: 1,430,481