ศัลยแพทย์ในอังกฤษผ่าตัดผู้ป่วยโดยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก

ศัลยแพทย์ในอังกฤษผ่าตัดผู้ป่วยโดยบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’ ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก

เป้าหมาย ‘Net Zero’ ถือเป็นกลไกสำคัญต่อการแก้ไขวิกฤตโลกรวน ที่ตอนนี้หน่วยงานหลายๆ แห่งทั่วโลกกำลังหาหนทางของตนเพื่อบรรลุเป้าหมายข้อนี้กันอยู่
.
ท่ามกลางความพยายามมากมาย เราเพิ่งมีข่าวดีว่า ตอนนี้โรงพยาบาลโซลิฮัลล์ ( Solihull Hospital) ในเขตเวสต์มิดแลนด์ ประเทศอังกฤษ ค้นพบวิธีผ่าตัดผู้ป่วยมะเร็งไปพร้อมๆ กับบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’ ได้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นการจดบันทึกโรงพยาบาลแห่งแรกของโลกที่สามารถทำภารกิจนี้ได้สำเร็จ
.
แต่ที่เหนือความคาดหมาย กลับพบว่าความสำเร็จนี้ไม่ได้พึ่งพานวัตกรรมล้ำอนาคตแต่อย่างใด แต่มันเกิดจากวิธีการง่ายๆ ที่ทีมแพทย์จากทุกโรงพยาบาลสามารถลอกเลียนและนำไปลงมือปฏิบัติได้เลย (แต่ก็อาจมีเรื่องทางทักษะเข้ามาเกี่ยวข้อง)
.
โดยการบรรลุ ‘Net Zero’ ของเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยกิจวัตรประจำวันง่ายๆ ของศัลยแพทย์ 2 คนที่ทำการผ่าตัด - คนหนึ่งเดินทางไปทำงานด้วยการปั่นจักรยาน ส่วนอีกคนใช้วิธีวิ่งไปโรงพยาบาลแทนการขับรถยนต์
.
อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัด อะไรที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ ก็ไม่ต้องซื้อหรือสั่งมาใหม่ เช่น เสื้อคลุม หรือผ้าม่าน
.
การใช้ไฟในห้องผ่าตัดก็มีการปรับลด ไม่เปิดแอร์ทิ้งไว้ก่อนเวลาผ่าตัดนานเกินไป หรือไฟในห้องผ่าตัดก็ให้เปิดแต่ดวงที่จำเป็นและเหมาะสม รวมทั้งเปิดตอนที่ทุกอย่างพร้อมลงมือเท่านั้น
.
ระหว่างผ่าตัดก็ใช้วิธีฉีดยาบรรเทาอาการปวดเข้าไปทางหลอดเลือดดำ แทนการใช้ถังยาสลบ ซึ่งลดขั้นตอนการบรรจุก๊าซ และการผลิตถังที่สร้างก๊าซเรือนกระจกออกไป (ทีมแพทย์ยืนยันว่าวิธีนี้ไม่เป็นอันตราย และแพทย์ในบริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักรต่างคุ้นเคยกับวิธีนี้ดี)
.
ด้วยขั้นตอนต่างๆ ที่ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่เลย กลับสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ระหว่างการผ่าตัดได้มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
.
ส่วนที่เหลืออีกเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ทีมแพทย์ใช้วิธีการหักลบด้วยการพากันออกไปปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนฯ ที่เหลือจนเท่ากับ ‘ศูนย์’ ในที่สุด
.
ขั้นตอนทั้งหมดมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม (University of Birmingham) คอยติดตามและวัดผลให้

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เหมือนเป็นการเน้นย้ำให้เราทราบว่า จริงๆ แล้ววิธีบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’ สามารถทำได้เลยในระดับปัจเจกหรือในระดับองค์กร โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีกฎระเบียบหรือพระราชบัญญัติต่างๆ ออกมาบังคับ
.
ก็เหมือนกับที่ใครหลายคนเลือกใช้ถุงผ้าก่อนที่รัฐบาลจะออกกฎห้ามห้างสรรพสินค้าแจกถุงพลาสติกนั่นล่ะ
.
ตามข้อมูลของ Arup and Health Care Without Harm (HCWH) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ทำงานเพื่อให้การดูแลสุขภาพมีความยั่งยืนทางนิเวศวิทยา ระบุว่า โรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 4.4 เปอร์เซ็นต์ และมีส่วนรับผิดชอบต่อขยะมากกว่า 5 ล้านตันในแต่ละปี
.
หากทุกโรงพยาบาลสามารถบรรลุเป้าหมาย ‘Net Zero’ ได้ ก็จะหมายถึง การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ลง 2 กิกะตันต่อปี
.
ปัจจุบันโรงพยาบาลหลายแห่งได้เริ่มต้นหาหนทางสู่เป้าหมายนั้นแล้ว เช่น กรณีของสหราชอาณาจักร โรงพยาบาลภายใต้การสนับสนุนของรัฐก็เริ่มนำรถไฟฟ้ามาใช้รับส่งผู้ป่วย การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนดาดฟ้าอาคาร ความพยายามรีไซเคิลขยะให้ได้มากที่สุด ไปจนถึงการจัดหาวัตถุดิบจากท้องถิ่นมาปรุงอาหารให้ผู้ป่วย เพื่อลดการเกิดก๊าซคาร์บอนฯ จากการขนส่ง

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของแพทย์ต่อการแก้ไขปัญหาโลกรวน พวกเขาบอกว่า อีกหนทางที่สามารถช่วยโลกได้คือการรักษาสุขภาพของตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย ก็คือหนทางที่ช่วยโลกได้มากทีเดียว เพราะโรคภัยต่างๆ มีต้นทุนการรักษาที่แตกต่างกัน บางโรคขั้นตอนการรักษาอาจปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เป็นจำนวนมากอย่างเลี่ยงไม่ได้
.
เป็นต้นว่า แค่ผู้ป่วยเดินทางมาโรงพยาบาลก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพิ่มเติมให้กับโลกเรียบร้อยไปแล้ว
.
แต่ขณะเดียวกัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูแลสุขภาพในชั่วโมงที่โลกได้รวนไปแล้วบางส่วน ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ยากพอควร ไหนเลยจะฟ้าฝนที่คำรามนำพาพายุบ่อยขึ้น เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากภัยพิบัติได้มากขึ้น คลื่นความร้อนที่กินเวลายาวนานจนยากจะทานทน รวมถึงมลพิษในอากาศที่พรากชีวิตผู้คนเฉลี่ยต่อปีสูงกว่าการระบาดของโควิด-19 เสียอีก
.
เหล่านี้ล้วนแต่เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้จริงๆ
.
เว้นแต่ว่า เราอาจต้องย้อนกลับไปหาต้นเหตุของปัญหา หาหนทางลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลง ชะลอให้ผลกระทบเดินทางมาถึงเราน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้
.
เพราะเราต้องไม่ลืมว่า สุขภาพคน สุขภาพสิ่งแวดล้อม ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน ดังแนวคิดเรื่อง One Health
.
มนุษย์มิสามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว - เราเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่มหาศาล ที่ต่างล้วนมีหน้าที่ เชื่อมโยงถึงกัน และส่งผลกระทบต่อกัน
.
อ้างอิง: Euro News, These surgeons have performed the first ‘net-zero’ cancer operation, https://shorturl.asia/TDZ2X
AAMC, Hospitals race to save patients — and the planet, https://shorturl.asia/PCtHk
Pharmaceutical Journal, How will the NHS get to 'net zero'? https://shorturl.asia/4tkJf

 

ที่มา : BrandThink.me
https://www.instagram.com/p/CfAsOeIv2Gh/

 

 

Visitors: 1,405,426