รู้ไหม ในทางวิทยาศาสตร์ กรุ๊ปเลือดไม่ได้กำหนดบุคลิกภาพ แต่กำหนดว่าร่างกายจะ แพ้ หรือ ชนะ โรคอะไร

HEALTH: รู้ไหม ในทางวิทยาศาสตร์ กรุ๊ปเลือดไม่ได้กำหนดบุคลิกภาพ แต่กำหนดว่าร่างกายจะ “แพ้” หรือ “ชนะ” โรคอะไร
 
 
ในไทย เรารับ “ความเชื่อ” เรื่องกรุ๊ปเลือดสามารถกำหนดบุคลิกภาพมาจากญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นก็เชื่อเรื่องนี้จริงจังมานาน อย่างไรก็ดี สิ่งพวกนี้ก็ไม่ได้ผ่านการวิจัยมามากพอที่แวดวงวิทยาศาสตร์โลกจะเชื่อ และเรื่องนี้เลยถือว่าเป็น “วิทยาศาสตร์เทียม” (Pseudoscience)
 
แต่ถามว่าวิทยาศาสตร์ไม่เชื่อเลยเหรอว่ากรุ๊ปเลือดไม่ได้กำหนดอะไรคน คำตอบคือ “ไม่ใช่”
 
เพราะมันมีงานวิจัยพอสมควรที่ทำให้เราเห็นว่าคนมีเลือดบางกรุ๊ปจะเสี่ยงต่อบางโรคจริง หรือเป็นบางโรคจะหนักกว่ากรุ๊ปอื่น และในทำนองเดียวกัน เลือดบางกรุ๊ปก็เป็นเหมือนภูมิคุ้มกันบางโรคด้วย
 
แต่ก่อนจะไปตรงนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า ‘กรุ๊ปเลือด’ คืออะไร?
 
กำเนิดความเข้าใจเรื่องกรุ๊ปเลือด
 
เวลาเราพูดถึงกรุ๊ปเลือด เรากำลังพูดถึงสารที่แตกต่างกันบนผนังเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งบนเม็ดเลือดแดงนั้นมีสารมากมาย และเวลาแบ่งกรุ๊ปเลือดเขาเลยเน้นแค่สารที่มีผลเวลาถ่ายเลือดเท่านั้น ซึ่งจริงๆ มันมีการแบ่งเกือบสิบแบบ แต่ที่เราจะรู้จักกันดีคือระบบ ABO ซึ่ง Karl Landsteiner นักชีววิทยา “ค้นพบ” เมื่อปี 1900 และมันทรงอิทธิพลมาก เพราะมันสามารถทำให้มนุษย์ถ่ายเลือดกันได้อย่างปลอดภัยมานับแต่นั้น (ก่อนหน้านั้นคนก็ถ่ายเลือดกัน สำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไม)
 
การแบ่งแบบ ABO จะแบ่งตามสารที่อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง และตัวแอนติบอดีในพลาสมา เช่น คนกรุ๊ป A คือคนมีสาร A บนผิวเม็ดเลือดแดง และมีสารต้าน B ในพลาสมา คนกรุ๊ป B คือคนมีสาร B บนผิวเม็ดเลือดแดง และมีสารต้าน A ในพลาสมา คนกรุ๊ป AB คือมีสาร A และ B บนผิวเม็ดเลือดแดง และไม่มีสารต้านทั้ง A และ B ส่วนคนกรุ๊ป O คือไม่มีทั้งสาร A และ B บนผิวเม็ดเลือด แต่ในพลาสมา มีสารต้านทั้ง A และ B
 
พอรู้ดังนี้ เราก็เลยรู้ว่า นอกจากคนเลือดกรุ๊ปเดียวกันจะถ่ายเลือดให้กันได้อย่างปลอดภัยแล้ว คนกรุ๊ป AB ยังสามารถรับเลือดได้จากคนทุกกรุ๊ป และคนกรุ๊ป O ก็สามารถบริจาคให้คนได้ทุกกรุ๊ปด้วย
 
ตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมมันไม่เป็น A B C ทำไมต้องเป็น A B O คำตอบคือ ตอนแรกมันเป็น A B C ครับ แต่ตอนหลัง C เปลี่ยนเป็น O เพราะมันมาจากคำเยอรมันว่า Ohne แปลว่า “ไม่มี” ซึ่งก็คือกรุ๊ปเลือดที่ไม่มีสาร A และ B บนผนังเซลล์นั่นเอง
 
ปริศนาและสิ่งที่เรารู้จากกรุ๊ปเลือด
 
พอรู้ดังนี้แล้วในทางวิทยาศาสตร์ เขาก็ย่อมสงสัยต่อว่าแล้วสัตว์มีกรุ๊ปเลือดเหมือนคนไหม ซึ่งผลก็คือ เขาค้นพบว่าระบบเลือดแบบ ABO นี่เป็นเรื่องปกติมากๆ เลยในลิง ดังนั้นระบบเลือดแบบนี้มันเกิดก่อนมีมนุษย์ และเขาก็ค้นไปอีก เลยพบว่าวิวัฒนาการพวกนี้น่าจะเกิดขึ้นในสัตว์ตระกูลลิงประมาณ 5 ล้านปีก่อน
 
คำถามคือทำไม?
 
คำตอบคือมันยังมีปริศนาเยอะมาก เรียกได้ว่าเต็มไปด้วย “สมมติฐาน” หลายแบบเลยว่าทำไมกรุ๊ปเลือดถึงเกิดขึ้นมาในโลก เช่น สมัยก่อนโน้นเขาเชื่อว่า จริงๆ คนยุโรปจะมีกรุ๊ป A คนเอเชียจะกรุ๊ป B ส่วนคนอเมริกาใต้จะกรุ๊ป O แต่จริงๆ ทฤษฎีใหม่ๆ จะเชื่อกันว่าตอนแรกสุด ลิงที่เป็นบรรพบุรุษมนุษย์กรุ๊ปกัน O หมด และมันเกิดการกลายพันธุ์แยกมาเป็น A กับ B และพอ A กับ B มามีลูกหลานมันเลยเกิดเลือดกรุ๊ป AB ขึ้นภายหลัง
 
 
ทำไมถึงเป็นแบบนี้? คำตอบง่ายๆ คือยังเถียงกันไม่จบ คือตอนแรกในทางวิทยาศาสตร์ เขาเชื่อกันพอสมควรว่าคนเลือดกรุ๊ป O นั้นมักจะป่วยเป็นโรคต่างๆ น้อยกว่าเลือดกรุ๊ปอื่น และมีงานวิจัยบอกด้วยซ้ำว่าคนเลือดกรุ๊ป O นั้นเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดยันมะเร็งน้อยกว่ากรุ๊ปอื่น
 
แต่โรคหนึ่งที่พิสูจน์มามากพอสมควรแล้วว่าทำอะไรคนเลือดกรุ๊ป O ไม่ค่อยได้คือมาลาเรีย ซึ่งเป็นโรคร้ายคลาสสิคของเขตร้อนชื้น เพราะเลือดกรุ๊ป O นั้นมีสารต้านสิ่งแปลกปลอมเยอะที่สุดในพลาสมา นี่ทำให้ “ลิงสมัยก่อน” ไม่ตายจากมาลาเรีย
 
แต่ในทางกลับกัน โรคที่คนเลือดกรุ๊ป O จะมีอาการหนักกว่าชาวบ้านก็คืออหิวาตกโรค และนี่เป็นเหตุผลให้คนอินเดียแถบลุ่มแม่น้ำคงคาดั้งเดิมแทบจะไม่มีเลือดกรุ๊ป O เลย และก็ไม่ใช่กรุ๊ป O จะ “แพ้ทาง” แค่อหิวาตกโรค เพราะโรคอย่างกาฬโรคและวัณโรคก็มักจะไปหนักกับคนกรุ๊ป O มากกว่ากรุ๊ปอื่น
 
ดังนั้นจะบอกว่ากรุ๊ป O ชนะทุกอย่างก็ไม่ถูกซะทีเดียว และก็เป็นไปได้เช่นกันว่า เลือดกรุ๊ป A และ B นั้นอาจเกิดจากการกลายพันธุ์เพื่อต่อสู้กับโรคภัยบางอย่างในอดีต
 
ทั้งนี้ เขาพิสูจน์กันมาพอสมควรเลยว่าคนกรุ๊ป A จะป่วยเป็นฝีดาษได้ง่าย มีแนวโน้มจะเกิดลิ่มเลือดในระบบเลือดมากกว่ากรุ๊ปอื่น หรือพูดอีกแบบคือถ้ามีแผลจะหายเร็ว แต่ก็มีโอกาสในการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้มากกว่าชาวบ้าน
 
ส่วนคนกรุ๊ป B จะแพ้แบคทีเรียพื้นๆ อย่าง E. Coli มากกว่าคนเลือดกรุ๊ปอื่น เป็นต้น
 
ทั้งหมดที่เล่ามา เป็นเรื่องที่ศึกษาวิจัยกันอยู่ทั้งนั้น ซึ่งประเด็นคือ กรุ๊ปเลือดมันมี “ผลกับชีวิต” จริงๆ แต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่คนญี่ปุ่นเข้าใจว่ามันกำหนดบุคลิกภาพ เพราะ ที่พิสูจน์ได้ชัดๆ แล้วในทางวิทยาศาสตร์คือมันเป็นตัวกำหนดว่าร่างกายเราจะ “แพ้” หรือ “ชนะ” โรคไหนได้พอสมควรเลย
 
เราอาจรู้สึกว่า “แปลก” ที่เราไม่เคยได้ยินเรื่องพวกนี้ ซึ่งในความเป็นจริง ในทางการแพทย์ ไม่ว่าคุณจะเลือดกรุ๊ปอะไร การรักษามันไม่ต่าง คือเขาไม่ต้องเช็กกรุ๊ปเลือดก่อนรักษา มันกินยาตัวเดียวกันได้หมด
 
ดังนั้นกรุ๊ปเลือดมันไม่มีผลต่อทิศทางการรักษา แม้ว่ามันจะเป็นตัวกำหนดพอควรเลยว่าเราจะป่วยหนักกับบางโรคหรือไม่ก็ตาม
 
 
Visitors: 1,211,962