อวัยวะหมู’ สู่ ‘ร่างกายมนุษย์
‘อวัยวะหมู’ สู่ ‘ร่างกายมนุษย์’ : การปลูกถ่ายอวัยวะที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้
จากสถิติของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย บ่งบอกว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่รออวัยวะเพื่อการผ่าตัดประมาณ 6,400 คนในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 9.5% โดยเทรนด์ของผู้ป่วยที่รอเข้ารับการผ่าตัดมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องทุกปีตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่จำนวนผู้บริจาคกลับไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างที่คาดหวังเอาไว้ ในอเมริกามีตัวเลขที่น่าตกใจยิ่งกว่าบอกว่าทุกวันจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 17 คนต่อวันเนื่องจากขาดแคลนอวัยวะสำหรับการผ่าตัดให้กับผู้ป่วย บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพแห่งหนึ่งชื่อ United Therapeutics ในรัฐ Maryland พยายามหาทางแก้ไขปัญหานี้โดยการหันไปพึ่งพาแหล่งอวัยวะที่เราอาจจะไม่คาดคิดอย่าง ‘หมู’ ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมแล้วนำไปผ่าตัดให้กับมนุษย์ โดยโครงการนี้มีความคืบหน้าไปอย่างมาก และมีความเป็นไปได้ว่าอย่างเร็วที่สุดภายในปีนี้เราอาจจะได้เห็นการผ่าตัดเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว นายแพทย์ David Ayares ประธานฝ่ายวิทยาศาสตร์ของบริษัท Revivicor ในเครือของ United Therapeutics ที่ทำการทดลองกับหมูให้สัมภาษณ์กับสื่อ Future Human ว่า “เรากำลังใกล้ถึงจุดนั้นแล้ว กำลังมองหาวิธีที่จะผ่าตัดในมนุษย์ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เราคิดว่าเราจะได้หมูที่พร้อมจะสร้างอวัยวะให้กับมนุษย์ภายในปี 2021 หรือ 2022” ศัพท์ทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘Xenotransplantation’ หรือการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต่างสปีชีส์ที่ใช้อวัยวะจากสัตว์อื่นมาทดแทนอวัยวะที่ทำงานผิดปกติในร่างกายมนุษย์ เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พยายามศึกษาค้นคว้าและพยายามทำให้สำเร็จมานานหลายสิบปี การผ่าตัดอวัยวะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แม้แต่ในมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเองยังต้องทดลองมากมาย เพราะไม่ใช่แค่ตัดแปะจบแล้วออกไปใช้ชีวิตปกติ แต่ทุกอย่างต้องมีการตรวจสอบให้แน่ใจว่าร่างกายจะไม่ปฏิเสธอวัยวะใหม่ที่รับเข้ามา แล้วยิ่งเป็นการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต่างสปีชีส์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เนื้องอก ลูคีเมีย หรือการเสื่อมของระบบประสาทได้ ก็ยิ่งต้องตรวจสอบให้แน่ชัด ซึ่งเคสที่มีชื่อเสียงในปี 1984 ที่เด็กทารกแรกเกิดมีภาวะหัวใจด้านซ้ายทำงานบกพร่อง (hypoplastic left heart syndrome ) ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจโดยใช้หัวใจของลิงบาบูน แม้ว่าการผ่าตัดจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่สุดท้ายแล้วเด็กคนนั้นก็เสียชีวิตลงภายในเวลาประมาณหนึ่งเดือน เพราะร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ผ่าตัดใส่เข้าไป นักวิทยาศาสตร์ที่ Revivicor พยายามแก้ไขปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2003 พวกเขาพยายามเอายีนตัวหนึ่งในเซลล์ของหมูออกไป ยีนตัวนี้ทำหน้าที่ผลิตน้ำตาลที่ชื่อว่า ‘alpha-gal’ ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นต้นตอของการที่ร่างกายปฏิเสธอวัยวะที่ปลูกถ่ายเรียกว่า ‘hyperacute rejection’ ที่เกิดขึ้นจากระบบป้องกันของร่างกายไปทำปฏิกิริยากับเจ้าน้ำตาลตัวนี้ ต่อมาภายหลังพวกเขายังพบอีกว่าเจ้าน้ำตาลตัวเดียวกันนี้ (ซึ่งก็มีในสัตว์อื่นๆ ที่เราทานด้วย) เป็นสาเหตุของอาการแพ้เนื้อแดงที่เกิดขึ้นในมนุษย์ด้วย รู้จักกันว่า ‘alpha-gal syndrome’ โดยอาการเหล่านี้มักเริ่มต้นโดยการที่มนุษย์ไปเจอ ‘Lone Star Tick’ หรือเห็บดาวเดียวกัดแล้วถ่าย alpha-gal เข้าสู่ร่างกายของคน ซึ่งมันไปกระตุ้นระบบป้องกันที่สร้างอาการแพ้เนื้อแดงอย่างเนื้อวัว หมู หรือ แกะ ในคนคนนั้น ก้าวที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อต้นปี เมื่อองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ออกรายงานมาว่า หมูที่ถูกดัดแปลงโดย Revivicor นั้นปลอดภัยสำหรับคนที่แพ้เนื้อหมูเรียบร้อยแล้ว โดยหมูที่ไร้สาร alpha-gal (เรียกว่า Galsafe Pigs) นั้นเป็นสัตว์ชนิดแรกที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมและได้รับการรับรองว่าปลอดภัยสำหรับการเป็นอาหารของมนุษย์ และใช้เพื่อเป็นแหล่งทางการรักษาโรคได้ด้วย Ayares บอกว่าสำหรับ United Therapeutics แล้วพวกเขาไม่ได้โฟกัสไปที่การดัดแปลงพันธุกรรมหมูเพื่อจะเป็นอาหารให้กับมนุษย์ แต่แสตมป์รับรองจาก FDA นั้นเป็นก้าวสำคัญที่บ่งบอกว่าพวกเขาเข้าใกล้วันที่จะสามารถผ่าตัดข้ามสปีชีส์ ใช้อวัยวะของหมูในร่างกายของมนุษย์แ ละอนาคตที่เราจะมีหมูเป็นผู้บริจาคอวัยวะใกล้เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว
“เป้าหมายสุดท้ายของพวกเราก็คือการมีแหล่งทรัพยากรของอวัยวะสำรองที่ไม่มีหมด” แม้ว่าจำนวนผู้บริจาคจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นในอเมริกาแต่ก็ไม่เพียงพอ และหลายต่อหลายคนที่อยู่ในลิสต์ก็ไม่ได้รับอวัยวะที่บริจาคจนเมื่อสายเกินไป แต่การเปลี่ยนแปลงแค่ alpha-gal นั้นยังไม่ใช่เครื่องการันตีว่าร่างกายของมนุษย์จะไม่ปฏิเสธอวัยวะที่มาจากหมูดัดแปลงพันธุกรรม ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Revivicor พยายามปรับเปลี่ยนยีนตัวอื่นๆ ที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านและก่อให้เกิดปัญหาอย่างเรื่องเส้นเลือดอุดตันภายหลังด้วย ตอนนี้หมูของ Rivivicor มีการตัดแต่งพันธุกรรมไปแล้ว 10 ยีน ซึ่งหมูเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองทางคลินิกที่จะมาถึงในอนาคต โดยน่าจะยังมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกเพื่อทำให้อวัยวะของมันเข้ากับมนุษย์ได้จริงๆ ข้อมูลหนึ่งที่ยังต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลต่อคือเรื่องระยะเวลาที่อวัยวะเหล่านี้จะทำงานได้ในร่างกายของมนุษย์ โดยล่าสุดนักวิจัยที่ทาง Revivicor ทำการทดลองเปลี่ยนถ่ายหัวใจหมูใส่เข้ากับลิงบาบูนในปี 2016 ซึ่งการผ่าตัดก็เป็นไปได้ด้วยดี หัวใจของหมูก็ทำงานต่อมาได้อีก 2 ปีครึ่ง โดยสิ่งที่พวกเขากำลังทำต่อไปคือพัฒนาให้อวัยวะทำงานยาวนานขึ้นจนถึงอายุขัยของตัวผู้ป่วยเอง หรืออย่างน้อยๆ ก็ทำหน้าที่เป็นตัวยืดเวลาไปจนกว่าคนป่วยจะสามารถหาอวัยวะที่บริจาคจากมนุษย์ด้วยกันเองที่ทำงานได้ดีกว่ามาทดแทน United Therapeutics และ Revivicor วางแผนเอาไว้ว่าจะเริ่มต้นจากการทดลองผ่าตัดไตหมูกับมนุษย์เป็นอันดับแรก หลังจากนั้นก็ต่อด้วยหัวใจ ซึ่งที่ทำแบบนี้ก็เพราะว่าผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดไตมีจำนวนมากที่สุด โดยปกติแล้วต้องรอนานกว่า 3-5 ปีในลิสต์ แต่การเลือกผู้ป่วยบนลิสต์นี้ก็ยังไม่ได้ถูกเจาะจงออกมา เพราะฉะนั้นเลยเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าใครจะเป็นคนแรกๆที่จะรับไตของหมูดัดแปลงพันธุกรรมจาก Revivicor เข้าสู่ร่างกาย แต่ Revivicor ก็ไม่ใช่บริษัทเดียวที่กำลังสนใจเรื่องการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของหมูที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ บริษัท eGenesis จากบอสตันร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Qihan Biotech จากจีนเพื่อใช้เครื่องมือตัดแต่งพันธุกรรมอย่าง CRISPR เพื่อดัดแปลงหมู โดยหวังว่าสักวันหนึ่งอวัยวะของมันจะถูกนำมาใช้ในมนุษย์ได้ หรืออย่าง XenoTherapeutics จากเมืองบอสตันก็กำลังทดลองทางคลินิกเกี่ยวกับการใช้ผิวหนังของหมูจาก Revivicor เพื่อรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกไฟไหม้ด้วย ซึ่งชิ้นส่วนของหนังหมูถูกใช้ชั่วคราวเพื่อรอให้ผิวหนังของคนไข้ค่อยๆ รักษาตัว ส่วนลิ้นหัวใจของหมูมีการใช้เพื่อรักษาและทดแทนลิ้นหัวใจที่เสียหรือทำงานบกพร่องในมนุษย์อยู่ในขณะนี้ แต่เนื้อเยื่อของมันก็ต้องผ่านขั้นตอนทางเคมีเพื่อฆ่าเซลล์ทั้งหลายก่อน นี่เป็นข่าวดีที่น่าสนใจทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ เป็นก้าวสำคัญที่แน่นอนว่าความเสี่ยงยังคงสูงในการปลูกถ่ายอวัยวะของหมูเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แต่ถ้าทำได้สำเร็จ นอกจากไม่ต้องมานั่งรอปีแล้วปีเล่าว่าเมื่อไหร่จะมีอวัยะบริจาคที่เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังสามารถช่วยชีวิตคนได้อีกหลายล้านคนในแต่ละปีอีกด้วย ========
อ้างอิงจาก : www.the101.world
โสภณ ศุภมั่งมี เขียนถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากสัตว์ไปสู่คน ซึ่งอาจเห็นความสำเร็จได้ใน 1-2 ปีนี้
|