เอกชนนำเข้า 'วัคซีน' เพิ่มโอกาสควบคุมโควิด

เอกชนนำเข้า "วัคซีน" เพิ่มโอกาสควบคุมโควิด
 
การเปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้า "วัคซีน" หรือการอนุญาตให้ผู้มีความสามารถทำตามเงื่อนไขการนำเข้าวัคซีนได้ให้มีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนให้กับคนไทย นับเป็นข้อเสนอที่ดีที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  

เอกชนนำเข้า 'วัคซีน' เพิ่มโอกาสควบคุมโควิด | บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ

การระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 8 มี.ค.2564 ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 71 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 26,441 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 23,580 คน ส่วนจำนวนผู้หายป่วยอยู่ที่ 25,777 คน อัตราการหายป่วย 97.49% และมีผู้เสียชีวิต 85 ราย ถึงแม้สัดส่วนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่มาก แต่เป็นความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และทุกฝ่ายควรร่วมมืออย่างเข้มแข็งเพื่อป้องกันการระบาดให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
 
 
ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2564 โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการวางแผนและบริหารจัดการการฉีดวัคซีนภายใต้นโยบายของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ซึ่งแม้ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยจะถูกโจมตีจากหลายฝ่ายว่าดำเนินการฉีดวัคซีนช้ากว่าหลายประเทศ แต่ก็สามารถผลักดันการนำเข้าและนำมาฉีดเริ่มต้นให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้
 
 
ที่ผ่านมามีภาคเอกชนได้ยื่นข้อเสนอให้กับภาครัฐเพื่อนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับพนักงานบริษัทของตัวเอง รวมถึงสถานพยาบาลเอกชนยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐเพื่อขอนำเข้าวัคซีนมาฉีดให้กับผู้มาใช้บริการสถานพยาบาลของตัวเอง แต่ดูเหมือนว่าการตอบรับข้อเสนอดังกล่าวจะไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐในทันที โดยเฉพาะข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ต้องการเปิดให้ภาคเอกชนนำเข้าแบบเสรี เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนให้ประชาชน
 
 
การฉีดวัคซีนจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาในบางประเทศมีข้อเสนอให้ทำวัคซีนพาสปอร์ตให้กับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้โอกาสที่การเดินทางจะกลับมาเป็นปกติได้ รวมทั้งจะทำให้อุตสาหกรรมการบินและธุรกิจท่องเที่ยวมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการยุติวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้
 
 
ถึงแม้ว่าภาครัฐจะมีงบประมาณสำหรับการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงการจัดซื้อวัคซีน และมีความสามารถในการกระจายวัคซีนในวงกว้างตามเครือข่ายสาธารณสุขที่มี แต่การที่มีผู้เสนอจัดซื้อวัคซีน รวมถึงการฉีดวัคซีน ย่อมเป็นข้อเสนอที่ดีหากมีการอนุญาตให้ผู้มีความสามารถ หรือทำตามเงื่อนไขการนำเข้าวัคซีนได้ให้มีส่วนร่วมในการฉีดวัคซีนให้กับคนไทย เพื่อให้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กระจายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น
 
บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ

Visitors: 1,380,180