โควิดจุฬาพบติดเชื้อเพิ่มเป็น 22 รายแล้ว ตรวจพบไวรัสที่เครื่องสแกนนิ้วมือ

โควิดจุฬาพบติดเชื้อเพิ่มเป็น 22 รายแล้ว ตรวจพบไวรัสที่เครื่องสแกนนิ้วมือ 
 
จากกรณีบุคลากรจุฬาฯที่พักอาศัยในจุฬานิวาสติด โควิด-19 และทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการสอบสวนโรคและเข้าควบคุมอย่างเป็นระบบนั้น
 
 
โดยส่งผู้ที่ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาฯ และทยอยตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 230 รายเสี่ยงต่ำ 389 ราย 
 
พบผลบวกเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนในปัจจุบันนี้รวมเป็น 22 รายแล้ว 
 
โดยผู้ที่พบผลการตรวจเป็นบวก เป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย พนักงานทำความสะอาดพนักงานส่งเอกสาร และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มคนดังกล่าว
 
 
ได้มีการเร่งเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในจุดสัมผัสต่างๆ ที่คาดว่าอาจจะเป็นจุดเสี่ยง 20 จุด
 
 
พบไวรัสหนึ่งจุด ได้แก่เครื่องสแกนนิ้วมือของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ซึ่งน่าจะมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อ เพราะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีผลตรวจไวรัสเป็นบวกหลายราย
 
 
ทางกรุงเทพมหานครร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้ปรับให้มีการเซ็นชื่อ แทนการใช้สแกนลายนิ้วมือ
 
 
เครื่องสแกนลายนิ้วมือ เป็นจุดเสี่ยงที่จะมีเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในทำนองเดียวกับลูกบิดประตูหรือปุ่มกดลิฟต์
 
 
แต่เครื่องสแกนลายนิ้วมือ จะมีความเสี่ยงสูงกว่า เนื่องจากบุคลากรที่อยู่ในที่ทำงานนั้นทุกคน จะต้องมาสแกนลายนิ้วมือที่จุดเดียวกันหมด( ในกรณีมีหนึ่งเครื่อง) อย่างน้อยวันละสองครั้ง คือก่อนเข้าทำงานและหลังออกจากงาน
 
 
และการสแกนลายนิ้วมือนั้น มักจะกระทำต่อเนื่องกัน เพราะจะเข้าแถวเรียงกันเพื่อสแกนลายนิ้วมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเลิกงาน จะพบคิวของผู้รอสแกนเป็นจำนวนมาก
 
 
โอกาสที่จะได้ทำความสะอาดเช็ดเครื่อง จึงมีได้น้อย เพราะทุกคนจะรีบกลับบ้าน การลดความเสี่ยงของการสัมผัสเครื่องสแกนลายนิ้วมือควรดำเนินการดังนี้
 
 
1) ในช่วงที่มีการระบาดมาก ควรเปลี่ยนการสแกนลายนิ้วมือ เป็นการเซ็นชื่อเข้าทำงานแทน โดยให้นำปากกาของตนเองมา และมีแอลกอฮอล์ทำความสะอาดรออยู่
 
 
2) ในกรณีที่มีความจำเป็น ยังต้องใช้เครื่องสแกนนิ้วมือ ควรมีเจ้าหน้าที่คอยทำความสะอาดเครื่องสแกนทุกครั้งทุกคน แม้จะต้องเสียเวลาบ้าง
 
 
3) ผู้ที่จะสแกนนิ้วมือ ควรทำความสะอาดนิ้วมือของตนเองก่อนสแกนและหลังสแกนทุกครั้ง
 
 
4) ต้องเคร่งครัดมีวินัย ไม่นำนิ้วมือดังกล่าวมาสัมผัสใบหน้า
 
 
5) ควรทำความสะอาดนิ้วมือหรือมือให้เรียบร้อยหลังสแกนทุกครั้ง เพราะหลังจากนั้นจะต้องไปกดปุ่มลิฟต์หรือไปจับลูกบิดประตูต่อไป
 
 
เครื่องสแกนลายนิ้วมือ สำหรับการลงเวลาเข้าทำงาน และออกจากที่ทำงาน จึงเป็นจุดเสี่ยงที่จะทำให้บุคลากรในที่ทำงานเดียวกันมีโอกาสสัมผัสไวรัสซึ่งกันและกัน นับเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง
 
 
นอกเหนือจากการทานอาหารร่วมกันในที่ทำงาน ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ของบุคลากรโรงพยาบาลศิริราชติดเชื้อร่วมกันมาแล้ว เครื่องสแกนลายนิ้วมือ ก็เป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้บุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยติดเชื้อเช่นกัน
 
 
 
 
ขอบคุณที่มา : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย 
 
Visitors: 1,427,740