Green First! นโยบายเกี่ยวกับพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสภาพอากาศ ของผู้นำคนใหม่

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ให้ความสำคัญกับนโยบาย ‘อเมริกา ต้องมาก่อน’ (America First) โดยเน้นการสร้างและจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าผลประโยชน์ดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น นโยบายสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการยกเลิกกฎระเบียบข้อบังคับด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จน

มาถึงวันนี้ สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ โจ ไบเดน ซึ่งชูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม (Green Recovery) ที่ให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน เป็นวาระแห่งชาติ เราเลยอยากชวนมาดูว่านโยบายของไบเดนนั้นมีอะไรกันบ้าง

การกลับเข้าร่วม ‘ความตกลงปารีส’

ความตกลงปารีส เป็นกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กว่า 200 ประเทศร่วมกันลงนาม เพื่อกำหนดเป้าหมายของแต่ละประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส

โดยเมื่อปี 2019 ในยุคของโดนัล ทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ประกาศถอนตัวออกจากความตกลงปารีส เนื่องจากทรัมป์มองว่า การใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ตัดโอกาสทางเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างมากมาย

 

ในมุมของโจ ไบเดนนั้น เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม คือ ‘เรื่องเดียวกัน’

โดยไบเดนมองว่าการปรับนโยบายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะเป็นโอกาสในการสร้างให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ พัฒนาไปสู่ ‘อุตสาหกรรมสมัยใหม่’ การพัฒนาเทคโนโลยี และการจ้างงานเพิ่มเติมในธุรกิจใหม่ โดยไบเดน คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการลงทุน และพัฒนาตามแนวทางของความตกลงปารีส โดยตั้งเป้าว่า สหรัฐฯ จะมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยแนวคิดหลักดังต่อไปนี้

 

พลังงานสะอาด 100%

หนึ่งในแนวทางหลักของโจ ไปเดน คือการสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด โดยจะมีการส่งเสริมให้แต่ละรัฐกระตุ้นผู้คนให้มาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ผ่านการสนับสนุนทางภาษีทั้งระดับโรงไฟฟ้า และระดับครัวเรือน มีการตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานสะอาดร้อยเปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2035 รวมไปถึงการสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electrical Vehicle) และโครงการสถานีอัดประจุไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยหนึ่งในนั้นคือการประกาศเปลี่ยนรถยนต์ของรัฐบาลกลางราว 650,000 คัน ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด

ไบเดนเชื่อว่าการผลักดันเรื่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่มากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง

และยังส่งผลให้สหรัฐฯ คงความเป็นผู้นำในเรื่องของเทคโนโลยีเอาไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของแบตเตอรี่ (ทั้งเทคโนโลยีการผลิตลิเทียมและโคบอลต์) เครื่องยนต์ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และอื่นๆ

นอกจากนี้ ไบเดนเองยังมีแผนยุติการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันในประเทศที่สร้างความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่น การไม่อนุมัติให้มีการผลิตน้ำมันและก๊าซจากบริษัทรายใหม่ๆ เพิ่มเติมในสหรัฐฯ เป็นต้น

การเก็บภาษีคาร์บอน

Carbon Footprint คือการที่เราคำนวณว่า ในกิจกรรมหรือผลิตภัณฑ์หนึ่งๆ นั้น มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไหร่ ซึ่งไบเดนมีแนวคิดที่จะออกนโยบายบังคับให้สินค้านำเข้าต้องติดฉลากคาร์บอนนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบรายละเอียดของก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์นั้นปล่อยออกมาตลอดการใช้งาน และมีการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Border Adjustment Mechanism) ตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้ ซึ่งก็เป็นนโยบายที่ทางสหภาพยุโรปกำลังพิจารณาบังคับใช้เช่นกัน โดยเน้นการใช้มาตรการทางภาษีกับสินค้านำเข้าที่มีการใช้พลังงานเข้มข้น และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิตในระดับสูง

โดยสหภาพยุโรปมีแนวคิดที่จะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอน และในอนาคตจะเพิ่มจนถึง 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอน แน่นอนว่ามาตราการนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เกิดการช่วยกันพัฒนาและนำไปใช้ของพลังงานสะอาดทั้งในประเทศเอง และประเทศอื่นๆ ที่มีการค้ากับสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน เพราะตลาดสหรัฐฯ นั้นเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ประเทศที่ต้องการส่งของเข้ามาขายที่สหรัฐฯ ก็จะเกิดการปรับตัวตามนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมที่สินค้าคาร์บอนสูงกำลังจะสูญหายไป และสินค้าคาร์บอนต่ำกำลังจะเข้ามา

นอกจากนโยบายหลักๆ นี้แล้ว ไบเดนยังให้คำมั่นว่าจะเสริมบทบาทให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เป็นผู้นำบนเวทีการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมไปถึงออกนโยบายสนับสนุนหรือช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนา ให้บรรลุเป้าหมายความตกลงด้านภูมิอากาศระดับโลกต่างๆ ร่วมกัน ผ่านทางเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยสร้างมาตรฐาน เช่น การช่วยเหลือทางด้านเงินทุน เงินกู้ราคาถูก เพื่อพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดหรือเทคโนโลยี เป็นต้น

สิ่งที่อยากชวนมองก็คือ แนวคิดของไบเดนที่ไม่ได้มองว่าการห่วงใยและสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหาสภาพอากาศนั้น ทำให้ประเทศหรือธุรกิจเสียเปรียบในการเติบโต หรือเสียโอกาสทางการค้า แต่เป็นโอกาสแห่งการพัฒนาไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่าทั้งสำหรับตัวเรา และรุ่นต่อไปต่างหาก ก็คงมาดูกันว่า หลังจากได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ แล้ว โจ ไบเดนจะทำตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ได้แค่ไหน และประเทศอื่นๆ อย่างพวกเรา จะเตรียมพร้อม รับมือ และวางแผน เพื่อพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ไปด้วยกันได้อย่างไรบ้าง

ข้อมูลจาก: Greenery

Visitors: 1,430,167