เรื่องจริงหรือทฤษฎีสมคบคิด ? : เมื่อมีคนเปิดโปงว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว

เรื่องจริงหรือทฤษฎีสมคบคิด ? : เมื่อมีคนเปิดโปงว่ามนุษย์ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว
 
อาจจะเพราะข้อมูลจากตำราเรียนที่ฝังจำติดหัวมาตั้งแต่เด็ก ๆ จึงทำให้เราทุกคนคิดเหมือนกันว่า ปริมาณน้ำที่เพียงพอและสมควรดื่มใน
แต่ละวันคือ 8 แก้ว
 
แต่อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ข้อมูลจากตำราเรียนสมัยเด็กก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป ตรงกันข้ามบางข้อมูลอาจจะล้าสมัยจนกลายเป็นข้อมูลที่ผิดโดยสิ้นเชิงไปแล้ว เหตุการณ์ทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้ง
 
บทความนี้จึงเป็นการย้อนกลับไปสำรวจองค์ความรู้เหล่านั้นอีกครั้ง ว่ามันยังคงใช้ได้ หรือล้าสมัยไปแล้ว และคนเราควรดื่มน้ำวันละเท่าไร
กันแน่ ?
 
"ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วสิ" คำบอกเล่าที่ฝังหัว
 
น้ำหนักตัวของคนเราประกอบไปด้วยน้ำถึง 60 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่าครึ่ง แถมร่างกายอาจสูญเสียน้ำได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทางเหงื่อ ลมหายใจ หรือจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกาย การดื่มน้ำจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น น้ำยังจำเป็นต่อการทำงานของร่างกายแทบทุกระบบ ไม่ว่าจะระบบขับถ่าย ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหาร ระบบกล้ามเนื้อ เป็นต้น และยังมีประโยชน์อีกมากมายต่อร่างกาย ดังนี้
- มีส่วนช่วยให้อัตราการเผาผลาญพลังงานแคลอรี่เพิ่มสูงขึ้น
- บำรุงสุขภาพผิว
- เป็นส่วนประกอบของน้ำหล่อลื่นข้อต่อ
- ขับแบคทีเรียจากกระเพาะปัสสาวะ
- มีส่วนช่วยทำให้อัตราการเต้นของหัวใจปกติ
- ควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย
- ควบคุมความดันโลหิต
- ป้องกันอาการท้องผูก
- ป้องกันความเสียหายของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ
- รักษาสมดุลของอิเล็กโตรไลต์ (โซเดียม)
 
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่กลับไม่ใส่ใจกับการดื่มน้ำมากนัก บ้างก็ดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือมากเกินไป จนบางครั้งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมา อีกทั้งหากร่างกายขาดน้ำเพียง 5 วันถึง 1 สัปดาห์ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้
 
ทำให้หลายสิบปีที่ผ่านมา ได้มีการรณรงค์ให้ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม จนมีคำกล่าวที่ว่า "คนเราควรดื่ม 8 แก้วต่อวัน" โดยมีการโฆษณาแก่ประชาชนผ่านสื่อ หรือเว็บไซต์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
 
นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนในระดับสากล โรงเรียนในอังกฤษแนะนำให้นักเรียนพกขวดน้ำติดตัว และบอกว่านักเรียนควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ซึ่งแม้แต่ระบบบริการสาธารณสุขแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service) ยังได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ผ่านทางเว็บไซต์
"พยายามดื่มน้ำให้ได้ 8 แก้ว (หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ) เพื่อป้องกันภาวะการขาดน้ำ"
อย่างไรก็ดี คำกล่าวนี้ถูกต้องจริงหรือ ?
ความลับที่ถูกเปิดโปง ?
 
แม้ว่าน้ำจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย และต้องดื่มในปริมาณที่เหมาะสม แต่คำกล่าวที่ว่าคนเราต้องดื่มน้ำวันละ 8 แก้วต่อวัน อาจจะไม่ได้ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์แม้แต่ชิ้นเดียวที่ระบุอย่างเป็นทางการว่ามนุษย์ควรดื่มน้ำจำนวน
เท่านี้
 
อันที่จริง จุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้ ต้องย้อนกลับไปในปี 1945 เมื่อ Food and Nutrition Board of the National Academy of Sciences หรือองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำต่อสาธารณชนว่า "ทุกคนควรดื่มน้ำวันละ 2.5 ลิตร เป็นประจำทุกวัน"
2.5 ลิตรก็เท่ากับประมาณ 8-10 แก้ว อย่างไรก็ตามการประกาศในครั้งนั้นก็เป็นเพียงการประกาศเลื่อนลอย ไม่มีการอ้างอิงงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาประกอบแต่อย่างใด
 
"ไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์แม้แต่ชิ้นเดียวที่บอกว่าคนเราควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตำนานเล่าขานเท่านั้น" สแตนเลย์ โกลด์ฟาร์บ นักไตวิทยา (นักวิจัยด้านไต) จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย กล่าว
 
"น้ำมีความสำคัญต่อร่างกายก็จริง แต่การดื่มน้ำเปล่า 8 แก้วโดยไม่ได้คิดคำนวนถึงการได้รับน้ำจากอาหารและน้ำประเภทอื่น ๆ ก็ดูจะเป็นอะไรที่มากไปเสียหน่อย"
 
นอกจากนี้ ในปี 1974 แนวคิดการดื่มน้ำวันละ 8 แก้วก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้นไปอีก เมื่อ เฟดริก เจ สแตร์ นักโภชนาการ และประธานผู้ก่อตั้งภาควิชาโภชนาการที่ Harvard School of Public Health ได้ออกมาให้คำแนะนำว่า คนเราควรดื่มน้ำในแก้ว 1 ออนซ์ วันละ 6-8 แก้ว ทว่าก็ไม่ได้มีบทวิจัยใด ๆ มาอ้างอิงแต่อย่างใดเช่นกัน
 
แม้ว่าหลังจากนั้น การดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน จะเป็นปริมาณที่มากเกินไป แต่ก็ยังมีผู้คนมากมายสนับสนุนทฤษฎีนี้ รวมไปถึง ดร. เฟเรย์ดูน บัตมันเกลิดี อายุรแพทย์ในเวอร์จิเนีย ที่ระบุว่าการขาดน้ำเป็นสาเหตุของโรคที่ป้องกันได้
 
อย่างไรก็ดี แม้จะฟังดูสมเหตุสมผล และออกมาจากปากผู้เชี่ยวชาญ แต่การไม่มีงานวิจัยมารองรับ ทำให้ยุคหลัง มีคนจำนวนไม่น้อยที่กังขากับทฤษฎีนี้ และยกข้อมูลมาหักล้างในเวลาต่อมา
 
ในปี 2002 ไฮนซ์ วัลติน ศาตราจารย์ทางด้านสรีรวิทยาตีพิมพ์บทความลงในนิตยสาร American Journal of Physiology โต้แย้งแนวคิด "ต้องดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน" พร้อมกับระบุถึงอันตรายที่เกิดขึ้นจากทฤษฎีนี้
 
"ไม่เพียงแต่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเราต้องดื่มน้ำเป็นจำนวนมากขนาดนั้น แต่คำแนะนำนี้ยังเป็นโทษ ทั้งการเร่งให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำซึ่งเป็นอันตราย หรือความเสี่ยงในการสัมผัสกับมลพิษมากขึ้น แถมยังทำให้คนจำนวนมากรู้สึกผิดที่ดื่มน้ำไม่มากพอ" วัลติน สรุปในงานวิจัย
 
ในขณะเดียวกัน ในปี 2008 บทบรรณาธิการในนิตยสาร Journal of the American Society of Nephrolog ก็ได้ผลสรุปในแนวทางเดียวกัน
 
"ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนถึงประโยชน์ของการดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้น และก็ไม่มีหลักฐานด้วยว่าการดื่มน้ำเพิ่มขึ้นไม่มีประโยชน์ อันที่จริงคือ มันยังขาดหลักฐานโดยทั่วไปที่ชัดเจน"
 
ด้วยเหตุนี้ ทำให้คนบางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า บางทีทฤษฎีดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวัน อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตลาดผู้บริษัทน้ำดื่ม และดูเหมือนจะมีมูล เมื่อในปี 2011 มาร์กาเร็ต แม็คคาร์ทนีย์ แพทย์หญิงชาวอังกฤษออกมาเปิดโปงในเรื่องนี้
 
เธอได้ตีพิมพ์บทความชื่อว่า Waterlogged? ลงใน British Medical Journal วารสารการแพทย์ชื่อดังของโลก โดยภายในบทความระบุว่า พบความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างมีนัยยะสำคัญ ระหว่าง Hydration for Health องค์กรสนับสนุนให้คนดื่มน้ำที่แพร่หลายในทวีปยุโรป กับ Danone บริษัทผลิตอาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ เจ้าของแบรนด์น้ำดื่ม Volvic, Evian และ Badoit
 
"มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่าบริษัท Danone กับกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Hydration for Health คือกลุ่มเดียวกัน" ส่วนหนึ่งจากบทความดังกล่าวระบุ
 
ถึงแม้หลักฐานจะไม่ได้ครอบคลุมไปถึงองค์กรหรือแบรนด์น้ำดื่มต่าง ๆ มากมายทั่วโลก แต่มันก็เป็นข้อยืนยันได้ว่าแผนการตลาดดังกล่าวมีอยู่จริง ไม่ใช่ทฤษฏีสมคบคิด หรือการปั้นน้ำเป็นตัวแต่อย่างใด
 
แล้วเอาเข้าจริง...มนุษย์ควรดื่มน้ำวันละกี่แก้ว ?
"ถ้าอยากรู้ว่าปริมาณน้ำที่เหมาะสมที่ร่างกายต้องการอยู่ที่เท่าไร ก็ให้เอา 43.5*น้ำหนักตัว=หน่วยเป็นมิลลิลิตร" นพ.สฤษฏ์ ถอสุวรรณ์ คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เจ้าของเพจ "หมอทีม Dr.Team นั่งเฉยๆ ก็ผอมได้" อธิบาย
 
นี่คือปริมาณน้ำที่เหมาะสมสำหรับมนุษย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ถ้าใครยังไม่เข้าใจ เราจะลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายขึ้น เช่นถ้าคุณน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ก็เอา 43.5*60 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 2,610 มิลลิลิตร หรือ 2.61 ลิตรนั่นเอง เป็นสูตรที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แถมยังถือว่าเที่ยงตรงที่สุดในปัจจุบัน
 
ถึงแม้ว่าปริมาณที่ออกมาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 2-2.5 ลิตร ซึ่งก็เท่ากับประมาณ 8 แก้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าน้ำที่ร่างกายได้รับในแต่ละวันนั้นไม่ได้มาจากการเทน้ำเปล่าใส่แก้วแล้วดื่มเพียงอย่างเดียว เพราะไม่ว่าจะในอาหาร, ชา, กาแฟ, ขนม, หรือน้ำอัดลม สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนมีน้ำเป็นองค์ประกอบอยู่ทั้งสิ้น และคุณค่าของมันก็ไม่ต่างจากน้ำเปล่าแต่อย่างใด
 
"น้ำเปล่าไม่ได้มีอะไรดีกว่าน้ำประเภทอื่น ๆ เลยในแง่ของการใช้งานในร่างกาย เนื่องจากไม่ว่าน้ำใด ๆ เมื่อเข้าสู่ร่างกายมันก็จะโดนแปลงสภาพให้เป็นน้ำบริสุทธิ์เหมือนกัน" ศาสตราจารย์ ซูซาน บาร์ จากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย และหนึ่งในคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศแคนาดากล่าว
 
"การดื่มกาแฟก็มีค่าเท่ากับการดื่มน้ำเปล่า" ดร. สแตนเลย์ โกลด์ฟาร์บ กล่าวเสริม
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าปริมาณน้ำที่เราได้รับในแต่ละวันนั้นเพียงพอแล้ว ... คำตอบคือไม่ต้องกังวล เพราะร่างกายของเรานั้นฉลาดกว่าที่คิด
 
"ร่างกายมนุษย์จะส่งสัญญาณให้คุณรู้สึกกระหายเมื่อเริ่มขาดน้ำ และเมื่อนั้นคุณจะรู้สึกอยากดื่มน้ำเข้าไปเองโดยไม่ต้องมีใครบังคับ ไม่ต้องมีตารางการดื่มเป็นเวลาที่ซับซ้อนยุ่งยาก แค่ดื่มเมื่อตอนที่คุณรู้สึกกระหายก็เพียงพอแล้ว" กุมารแพทย์ แอรอน อี. คาร์โรลล์ กล่าวใน The New York Times
 
"แนวคิดการดื่มน้ำ 8 แก้วไม่สมเหตุสมผล ในร่างกายเรามีระบบ Homeostatic ดังนั้นเมื่อเราต้องการน้ำเราจึงรู้สึกกระหาย และเราจะหามาดื่มเองโดยอัตโนมัติ" สจ็วร์ต กัลลาเวย์ รองศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยาการออกกำลังกายและโภชนาการจากมหาวิทยาลัย Stirling กล่าวสนับสนุน
 
นอกจากนี้ การพยายามฝืนดื่มน้ำมาเกินไปอาจทำให้เป็นอันตรายร้ายแรงได้ เช่น ภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ (Hyponatremia) มักพบได้ในการแข่งขันดื่มน้ำ การแข่งวิ่งระยะไกลหรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก
 
ภาวะนี้เกิดขึ้นจากการดื่มน้ำปริมาณที่มากเกินไปภายในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น การดื่มน้ำรวดเดียวเป็นจำนวน 7 ลิตรหรือดื่มน้ำ 4 ลิตรภายใน 2 ชั่วโมง ผู้ป่วยอาจปรากฏอาการ ปวดหัว อาเจียน อ่อนเพลีย รวมไปถึงเวียนศีรษะ สับสน มือและเท้าบวม หากไม่รีบไปพบแพทย์ ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงขึ้น เช่น สมองบวม และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด
 
ส่วนน้ำที่เหมาะสมในการดื่มก็มักจะเป็นที่ถกเถียงกันว่า การดื่มน้ำเย็นนั้นไม่ดีต่อร่างกายเท่าการดื่มน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำอุ่น ความเชื่อนี้จริงหรือไม่ ?
 
จริง ๆ แล้วไม่อาจตัดสินได้ว่าน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นนั้นดีกว่ากัน เพราะทั้งคู่มีประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น น้ำอุ่นมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใน เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง เพิ่มความอบอุ่นให้กับร่างกายและเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต รวมไปถึงบรรเทาอาการคอแห้ง
แต่หากต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกาย ยกน้ำหนัก ปั่นจักรยานหรือวิ่งในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น การดื่มน้ำเย็นจะช่วยลดอุณหภูมิภายในร่างกายได้ดีกว่าน้ำอุ่น รวมไปถึงช่วยให้ทำกิจกรรมนั้น ๆ ได้นานขึ้นโดยไม่รู้สึกเหนื่อยอีกด้วย
 
ถึงตรงนี้เชื่อว่าคงได้ข้อสรุปกันแล้วว่า แนวคิดการดื่มน้ำ 8 แก้วต่อวันนั้นอาจจะเคยเป็นคำแนะนำที่ใช้ได้ในยุคที่เทคโนโลยีการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า แต่ในปัจจุบันทุกสื่อที่น่าเชื่อถือ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่จำเป็น"
 
การดื่มน้ำจึงควรดื่มแค่ตอนที่ร่างกายรู้สึกกระหายเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องพยายามฝืนดื่มในปริมาณมาก อย่างไรก็ดี การจะดื่มน้ำวันละ 8 แก้วก็ไม่ใช่เรื่องอันตรายแต่อย่างใด สามารถทำได้เช่นกัน ตราบใดที่ไม่ได้มากเกินไป
 
รู้แบบนี้แล้วเรามาดื่มน้ำอย่างพอเหมาะเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงกันดีกว่า
 
บทความโดย เพรียมพันธ์ แสนลาวัณย์ 
แหล่งอ้างอิง:
นพ.สฤษฏ์ ถอสุวรรณ์
Visitors: 1,198,938