นักวิจัยฮ่องกงพบเคสผู้ป่วยโควิด-19 ป่วยซ้ำเป็นครั้งแรกของโลก ผลกระทบที่อาจสั่นคลอนการพัฒนาวัคซีน

นักวิจัยฮ่องกงพบเคสผู้ป่วยโควิด-19 ป่วยซ้ำเป็นครั้งแรกของโลก ผลกระทบที่อาจสั่นคลอนการพัฒนาวัคซีน
หรือโควิด-19 จะอยู่กับเราไปตลอดดังที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต...
 
นักวิจัยฮ่องกงพบเคสผู้ป่วยโควิด-19 ป่วยซ้ำเป็นครั้งแรกของโลก : nbcnews
 
นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงรายงานอ้างอิงจากหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า พบเคสผู้ป่วยซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ซ้ำสอง (reinfection) เป็นครั้งแรกซึ่งอาจช่วยยืนยันถึงระยะเวลาของภูมิคุ้มกันหลังหายจากโรคที่คงอยู่ได้ไม่นานมากนัก
จริงๆแล้วในก่อนหน้านี้เราอาจจะพอได้ยินมาบ้างเกี่ยวกับการติดเชื้อซ้ำสองในผู้ที่หายจากโรค แต่หลายต่อหลายเคสล้วนได้ข้อสรุปภายหลังว่าเป็นผลจากการทดสอบเชื้อที่คลาดเคลื่อนบ้างมีหลักฐานต่างๆไม่มากพอ
 
แต่สำหรับในเคสนี้ค่อนข้างน่าสนใจครับ เนื่องจากไปพบว่าผู้ป่วยรายนี้มีพันธุกรรมของไวรัสจากการได้รับเชื้อครั้งแรกและครั้งที่สองต่างกันอย่างชัดเจนโดยมีความแตกต่างของสารพันธุกรรมถึง 24 ตำแหน่ง
 
ซึ่งช่วยยืนยันได้ว่าผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อซ้ำสองจริง อ้างอิงจากสายพันธุ์ของไวรัสก่อโรคที่ต่างกันจึงมีโอกาสน้อยมากที่ผล positive ครั้งหลังจะเกิดจากความคลาดเคลื่อนของการทดสอบเพราะในบางรายก็พบว่าผู้ที่หายป่วยมีโอกาสตรวจเจอเชื้อได้เช่นกันซึ่งไม่ใช่การติดเชื้อซ้ำ
การติดเชื้อครั้งที่สองคาดว่าเกิดจากภายนอกประเทศ เพราะเคสนี้มีประวัติเดินทางไปที่สเปนและเมื่อกลับมายังฮ่องกงก็มีการตรวจหาเชื้อซึ่งพบว่าให้ผลบวกในวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาโดยที่เขาไม่มีอาการของโรคแม้แต่น้อย
 
ต่างจากตอนที่มีอาการป่วยครั้งแรกซึ่งมีอาการชัดเจนทั้งไอ ไข้สูง เจ็บคอและปวดศีรษะ
 
ทำให้ทีมวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าการติดเชื้อซ้ำอาจเกิดได้แต่อาการจะไม่ได้หนักเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันบางส่วนที่ทำงานได้ โดยที่ระยะเวลาที่เขาป่วยครั้งแรกและครั้งที่สองห่างกันประมาณ " 4 เดือนครึ่ง "
 
จึงเกิดคำถามว่าหรือแท้จริงแล้วภูมิคุ้มกันหลังจากติดเชื้อจะอยู่ได้ไม่ถึงครึ่งปี ? น้อยกว่าโรคจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ข้างเคียงที่ก่อโรค SARS หรือ MERS ที่ผู้ป่วยมักจะมีภูมิคุ้มกันอยู่อย่างน้อยก็ประมาณซักหนึ่งปีครับ
 
ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆอาจเปลี่ยนความเชื่อที่ว่าคนที่หายป่วยแล้วจะไม่ติดเชื้อซ้ำหรือแม้กระทั่งคนที่ได้รับวัคซีนแล้วจะไม่มีโอกาสติดเชื้อ
อย่างไรก็ตามนักวิจัยหลายคนก็บอกว่าข้อมูลของระยะเวลาที่ภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ต้องอาศัยจากการติดตามคนจำนวนมากๆจึงจะสามารถช่วยยืนยันได้ครับ ซึ่งจะตอบตรงนี้ได้ก็ต้องรอผลจากการทดสอบวัคซีน
 
และเราอาจไม่ต้องกังวลกับประเด็นการติดเชื้อซ้ำนี้มากมายครับ เพราะว่าสำหรับตระกูลไวรัสโคโรนาก็มักจะทำให้ติดเชื้อซ้ำได้และคล้ายกับในกรณีนี้ก็คือการติดเชื้อซ้ำมักจะไม่มีอาการหรือมีก็ไม่รุนแรงและร่างกายจะค่อยๆสร้างภูมิคุ้มกันมาจัดการกับเชื้อได้ในภายหลังนั่นเอง
 
 
References :
Visitors: 1,217,531