ภาษีดิจิทัล

ภาษีดิจิทัล...

คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้าและบริการที่เป็นดิจิทัล โดยคาดกันว่าจะเริ่มต้นจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ก่อน

ทำให้ไทยกลายเป็นชาติล่าสุดที่เรียกเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเข้ามาทำธุรกิจในประเทศ ซึ่งไม่เคยเสียภาษีใดๆ มาก่อน ตามความตกลงขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)ในปี 1998 ซึ่งต้องทบทวนกันทุกปี

 

ก่อนหน้านี้มีหลายประเทศมากที่เรียกเก็บภาษีทำนองนี้ตัวอย่างใกล้ๆ ในเอเชียเราก็อย่างเช่น บังกลาเทศ เรียกเก็บแวต 15 เปอร์เซ็นต์ โดยหักจากยอดเงินที่จ่ายให้บริษัทเหล่านี้อาทิ กูเกิล เฟซบุ๊ก แอปเปิล เน็ตฟลิกซ์ และอเมซอนเรื่อยไปจนถึงผู้ให้บริการเกมออนไลน์ เป็นต้น เรียกเก็บมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

ที่สิงคโปร์ เรียกเก็บภาษีในทำนองเดียวกัน แต่เรียกว่าภาษีการค้าและบริการ (จีเอสที) เก็บมาตั้งแต่ต้นปี อินโดนีเซีย เรียกเก็บแวต 10 เปอร์เซ็นต์ จากบริการเชิงดิจิทัลทั้งหมดที่ดำเนินการโดยบริษัทต่างชาติ

ฟิลิปปินส์ ร่างกฎหมายว่าด้วยภาษีดิจิทัล นำเสนอต่อรัฐสภาเมื่อราวกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา

การเรียกเก็บ แวต หรือจีเอสที ทำกันอยู่ในหลายสิบประเทศ คำถามก็คือ แล้วภาษีอย่างอื่นๆ ล่ะ? บริษัทเหล่านี้ควรเสียภาษีอื่นๆ เหมือนอย่างบริษัทในท้องถิ่น ในประเทศนั้นต้องจ่ายให้กับรัฐบาลไม่ใช่หรือ

มีหลายประเทศพยายามเรียกเก็บภาษี "เงินได้" นิติบุคคลจากบริษัทเหล่านี้เหมือนกัน โดยเริ่มต้นจากการขอยกเลิกไม่ใช้บทบัญญัติห้ามเก็บภาษีของดับเบิลยูทีโอ เป็นลำดับแรก ตัวอย่างเช่น ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ อังกฤษ หรือฝรั่งเศส เป็นต้น

ล่าสุด ประเทศอย่าง อินเดียและแอฟริกาใต้ ก็ยื่นคำร้องขอยกเลิกแล้วเหมือนกัน แสดงว่าเตรียมการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติเหล่านี้

การเก็บภาษีทำนองนี้มีการหยิบมาพูดถึงกันอย่างเป็นทางการในที่ประชุมระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกในระหว่างการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่เรียกตัวเองว่า จี20

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องเรียกเก็บนั้น นอกจากเหตุผลในเชิงผลประโยชน์ของแต่ละชาติแล้ว ยังมีเหตุผลตรงที่ว่า เอาเข้าจริงๆ กิจการเหล่านี้อาศัยความเป็นบริษัทที่มีกิจการครอบคลุมทั่วโลกมาใช้ประโยชน์ทำให้จ่ายภาษีแต่ละปีน้อยเหลือเกิน

โดยใช้วิธีการ โยกผลกำไรไปลงบัญชีไว้ในประเทศที่เก็บภาษีต่ำมากๆ (เพื่อดึงดูดให้บริษัททั้งหลายไปลงทุน) อย่างเช่น ไอร์แลนด์ เป็นต้น เพื่อให้เสียภาษีน้อยที่สุด

แต่การเรียกเก็บภาษีดิจิทัลที่ไม่ใช่แวตนี้ ค่อนข้างมีปัญหาในทางปฏิบัติครับ

ปัญหาแรกสุดคือ เราไม่รู้ว่า จริงๆ แล้วกิจการเหล่านี้ทำรายได้จากประเทศของเราไปเท่าใดกันแน่ ตัวอย่างเช่น ถ้าเฟซบุ๊กแจ้งต่อทางการไทยว่า มีผู้เข้าใช้งานประจำ 17 ล้านคน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทแจ้งถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่? หรือกูเกิล ที่มีรายได้สูงมากจากโฆษณาผ่านการสืบค้น คำถามก็คือ ที่ว่าสูงมากนั่นน่ะเป็นเท่าไหร่ เป็นเงินจากการทำธุรกิจในไทยเท่าใดกันแน่

ถัดมาคือ การเรียกเก็บภาษีอาจทำให้ประเทศของเราไม่น่าลงทุนสำหรับกิจการดิจิทัลเหล่านี้

ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ ด้วยการกำหนดขนาดของบริษัทที่จะเรียกเก็บ อย่างเช่นในฝรั่งเศส จะเรียกเก็บ 3 เปอร์เซ็นต์ จากบริษัทที่มียอดรายได้ทั่วโลกเกิน 750 ล้านยูโร และมีรายได้จากในฝรั่งเศสตั้งแต่ 25 ล้านยูโรขึ้นไป ในไนจีเรีย กำหนดให้บริษัทเหล่านี้ขึ้นทะเบียนกับทางการ ซึ่งจะมีหน่วยงานเฉพาะพิจารณาว่า ควรเรียกเก็บภาษีจากบริษัทไหน โดยหลักการก็คล้ายๆ กับฝรั่งเศส

วิธีนี้ช่วยให้บริษัทไม่ใหญ่โตมากนักยังคงมาลงทุนได้ ไม่เสียภาษี จนกว่าจะเติบใหญ่มีรายได้ตามกำหนด

แต่ปัญหาใหญ่มากกว่าก็คือ บริษัททั้งหลายเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บภาษีเช่นนี้ ตัวอย่างเช่น กูเกิล กับเฟซบุ๊ก แย้งว่า นี่เป็นการเลือกปฏิบัติ เจาะจงมาที่พวกตนโดยเฉพาะ

หรือ อเมซอน เองก็แย้งว่า ภาษีที่เรียกเก็บเป็นการเรียกเก็บซ้ำซ้อน เพราะอเมซอนจ่ายไปชั้นหนึ่งแล้วให้กับประเทศต่างๆ ตั้งแต่เมื่อตอนที่ซื้อสินค้าเหล่านั้นมาขาย

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยืนกรานเช่นกันว่าจะไม่ให้ใครเรียกเก็บภาษีเหล่านี้จากบริษัทอเมริกันเด็ดขาด ที่ฮือฮามากก็คือ การเดินหน้าชนกับประธานาธิบดี เอ็มมานูแอล มาครง ของฝรั่งเศสในเรื่องนี้ด้วยการขู่จะขึ้นภาษีสินค้าเข้าจากฝรั่งเศส 100 เปอร์เซ็นต์เป็นการตอบโต้

ทั้ง 2 ประเทศกำหนดเจรจาเรื่องนี้ให้ได้ข้อยุติภายในปีนี้ครับ น่าติดตามมากว่าจะลงเอยอย่างไร

เรื่องภาษีดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่คิดกันได้ แต่ในทางปฏิบัติยังคงยากเย็นอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

 

 

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ Matichon

Visitors: 1,199,197