อัตราเกิดต่ำ ประชากรทั่วโลกลดฮวบภายใน 80 ปี ไทยคนหายเกือบครึ่ง
อัตราเกิดต่ำ ประชากรทั่วโลกลดฮวบภายใน 80 ปี ไทยคนหายเกือบครึ่ง
ผลวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ ชี้ ประชากรทั่วโลกรวมทั้งไทยจะลดลงไปกว่าครึ่ง ในอีก 80 ปีข้างหน้า
ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ประชากรทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในอีก 44 ปี ข้างหน้า อยู่ที่ราว 9.7 พันล้านคน ก่อนที่จะลดฮวบลงมาราว 900 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2643 หรือราว 80 ปีข้างหน้า ทำให้ทั่วโลกเหลือประชากรเพียงประมาณ 8.8 พันล้านคน โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป และเอเชียตะวันออกที่ประชากรจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ผลพวงมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่อัตราการเกิดลดลง
ผลการวิจัยชี้ว่า การศึกษาที่สูงขึ้น และโอกาสทางสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นของเพศหญิง จะทำให้ผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้าน แทนที่จะรับหน้าที่เพียงแค่แม่บ้านที่คอยดูแลลูกๆ เท่านั้น นอกจากนี้ การเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งผลสำเร็จของการคุมกำเนิดก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อัตราการเกิดโดยไม่ตั้งใจลดลงมากเช่นกัน
ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
ในปัจจุบัน อัตราการเกิดของหลายประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอยู่แล้ว โดยเฉพาะในแถบยุโรป ทั้งรัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา บราซิล จีน และออสเตรเลีย และในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุในประเทศเหล่านี้จะเริ่มทยอยล้มตาย แต่กลับไม่มีประชากรเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมาทดแทน ส่งผลให้จำนวนประชากรแต่ละประเทศลดลงอย่างน่าใจหาย
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า มี 23 ประเทศทั่วโลกที่จะต้องเผชิญกับตัวเลขประชากรที่ลดลงราวร้อยละ 50 หรือมากกว่านั้นอย่างเช่น ญี่ปุ่น สเปน โปรตุเกส เกาหลีใต้ และประเทศไทย เป็นต้น
โดยประเทศญี่ปุ่น ประชากรจะลดลง 53 เปอร์เซ็นต์จาก 128 ล้านคนเมื่อปี 2560 เหลือเพียง 60 ล้านคนในปี 2643
สเปนประชากรจะลดลงจาก 46 ล้านคนเหลือ 23 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50
ขณะที่ไทยจะมีประชากรลดลงจาก 71 ล้านคน มาอยู่ที่ 35 ล้านคน ลดลงมาร้อยละ 51
นอกจากนี้ยังมีอีก 34 ประเทศ ที่จำนวนประชากรจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 25-50 ซึ่งรวมถึงจีน ที่ประชากรจะลดลงจาก 1.4 พันล้านคน มาอยู่ที่ 732 ล้านคน
คาดการณ์อนาคต
ทีมวิจัยมีการคาดการณ์ว่า ไนจีเรียจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ใหญ่ที่สุด และมั่งคั่งที่สุดในโลกในช่วงปลายศตวรรษนี้ ขณะที่สหรัฐฯจะยังคงเป็นมหาอำนาจของโลกต่อไป แต่จะถูกแซงหน้าด้วยจีนอยู่ราว 30 ปี ก่อนที่จีนจะลดอิทธิพลลงไป
ขณะที่อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกในปี 2643 ด้วยจำนวนประชากร 1.09 พันล้านคน ตามมาด้วยไนจีเรีย 791 ล้านคน จีน 732 ล้านคน สหรัฐฯ 336 ล้านคน ปากีสถาน 248 ล้านคน และคองโก 246 ล้านคน
ปัญหาที่ตามมาและแนวทางแก้ไข
ทีมวิจัยชี้ว่า เมื่ออัตราการเกิดต่ำ ย่อมจะทำให้ประชากรวัยทำงานลดน้อยลงจนไม่เพียงพอ ส่งผลให้อัตราการเติบโตของจีดีพีลดลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจโลก หลายประเทศจึงอาจจะต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยการเปิดรับชาวต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศ แต่วิธีการนี้จะไม่สามารถทำได้ ในสถานการณ์ที่ทุกประเทศต่างก็มีประชากรลดลง ดังนั้นทุกประเทศจึงควรเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งการรองรับกับสังคมผู้สูงอายุ และการให้ความสำคัญกับอัตราการเกิด เพื่อสร้างสมดุลให้แก่จำนวนประชากรในแต่ละช่วงวัยให้มีความเหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ถูกรวบรวมข้อมูลโดยนักวิทยาศาสตร์ 24 คน นำโดย ดร.คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ และศาสตราจารย์ สไตน์ วอลเส็ท จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในซีแอตเทิล และมีการตีพิมพ์เนื้อหาทั้งหมดในวารสารแลนเซ็ท วารสารการแพทย์ของอังกฤษด้วย
ที่มา : Thairath Online
|