เราเสี่ยงติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากการขึ้นเครื่องบินแค่ไหน

โควิด-19 : เราเสี่ยงติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากการขึ้นเครื่องบินแค่ไหน

การบินเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ โดยตั้งแต่ต้นปีมานี้ จำนวนเที่ยวบินรายวันลดลงเป็นสัดส่วนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ บางสายการบินงดเที่ยวบินโดยสิ้นเชิง บางสายการบินหันไปให้บริการด้านขนส่งสินค้าเพื่อให้ยังพอมีรายได้บ้าง

 
A staff member of Japan Airlines wearing a protective face mask and gloves cleans the cabin of a plane after performing a domestic flight                       REUTERS - หลายคนคิดว่าการนั่งในที่ที่ดูไม่มีอากาศถ่ายเทอย่างเครื่องบินจะยิ่งทำให้ความเสี่ยงแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดี วันหนึ่งก็คงมีผู้โดยสารกลับมาใช้บริการเครื่องบินกันมากขึ้นอีกครั้ง แต่การขึ้นเครื่องบินจะทำให้เราเสี่ยงติดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่แค่ไหนกัน

เรายังไม่รู้จักไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ดีพอ แต่ก็มีงานวิจัยที่เคยพูดถึงโรคทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ มาแล้ว จากข้อมูลที่มีอยู่ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐฯ จะพยายามตามรอยผู้โดยสารสองแถวหน้าและหลังจากบริเวณผู้ที่ติดเชื้อรุนแรงนั่งอยู่

งานวิจัยในปี 2018 โดยมหาวิทยาลัยเอมมอรีในแอตแลนตา บอกว่า ละอองเสมหะมีแนวโน้มแพร่กระจายไม่เกิดหนึ่งเมตรจากผู้ติดเชื้อ ดังนั้นระยะการแพร่เชื้อจะอยู่แค่หนึ่งแถวหน้าและหลังของผู้ติดเชื้อเท่านั้น

อย่างไรก็ดี งานศึกษาก่อนหน้านั้นโดยกลุ่มนักวิจัยเดียวกันชี้ว่า ในชีวิตจริง ผู้เป็นโรคซาร์สหรือเป็นไข้หวัดใหญ่แพร่เชื้อเป็นวงกว้างกว่านั้น โดยมาจากการแพร่เชื้อขณะขึ้นและลงเครื่องบิน หรือการไปสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ บนเครื่อง

และด้วยความที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเดินไปมาและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้โดยสารทั่วเครื่องบิน กลุ่มนักวิจัยสรุปว่า พนักงานต้อนรับห้ามทำงานโดยเด็ดขาดหากว่ามีอาการ

ป่วย


Airbus widebody A350 XWB

                                                         หัวหน้าวิศวกรบริษัทแอร์บัสบอกว่า ในช่วงหนึ่งชั่วโมง มีการเปลี่ยนอากาศรอบตัวคุณโดยสิ้นเชิงยี่สิบถึงสามสิบครั้ง


อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขแคนาดากลับไม่พบผู้ป่วยเพิ่มจากกรณีที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่สองรายเดินทางจากเมืองกว่างโจวในจีนไปเมืองโตรอนโตของแคนาดา แม้ว่าบนเครื่องจะมีผู้โดยสารถึง 350 คน และเดินทางนานถึง 15 ชั่วโมง

หลายคนคิดว่าการนั่งในที่ที่ดูไม่มีอากาศถ่ายเทอย่างเครื่องบินจะยิ่งทำให้ความเสี่ยงแพร่เชื้อเพิ่มขึ้น ฌอง-บรีซ ดูมองต์ หัวหน้าวิศวกรบริษัทแอร์บัส บอกว่า เครื่องบินสมัยใหม่ออกแบบมาเพื่อให้อากาศในเครื่องสะอาดมาก

"ตามหลักคณิตศาสตร์แล้ว จะมีการถ่ายเทเปลี่ยนอากาศใหม่ทุก ๆ สองถึงสามนาที หมายความว่าในช่วงหนึ่งชั่วโมง มีการเปลี่ยนอากาศรอบตัวคุณโดยสิ้นเชิงยี่สิบถึงสามสิบครั้ง"

อธิบายง่าย ๆ คือ มีการเอาอากาศจากภายนอกตัวเครื่อง ผ่านเข้ามาทางเครื่องยนต์ และก็ผสมกับอากาศเก่าที่นำกลับมาใช้ใหม่

อากาศเก่าที่นำมาใช้ใหม่นี้ ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เพื่อรักษาอุณหภูมิและความชื้นให้อยู่ในระดับที่ถูกต้อง ถูกนำไปผ่านเครื่องกรองอนุภาคอากาศประสิทธิภาพสูง หรือ HEPA (high-efficiency particulate air) ซึ่งคล้ายกับที่ใช้ในโรงพยาบาล

ไวรัสโรคโควิด-19 มีเส้นผ่าศูนย์กลางราว 125 นาโนเมตร หรือประมาณ 0.000000125 เมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงขนาดที่เครื่องกรองอนุภาคอากาศประสิทธิภาพสูงจับได้ ซึ่งคือ 10 นาโนเมตรหรือใหญ่กว่านั้น

นายดูมองต์ บอกว่า เครื่องกรองนี้กรอง 99.97 เปอร์เซ็นต์ของอนุภาคขนาดเท่าไวรัสโรคโควิด-19 ได้ เขายังบอกอีกด้วยว่า การไหลเวียนของอากาศเป็นแนวตั้งก็ช่วยลดความเสี่ยง โดยเครื่องบินจะปล่อยอากาศออกจากเหนือหัวและดูดอากาศออกไปทางพื้น แต่ความเสี่ยงก็ไม่ได้หมดไปเพราะผู้โดยสารไม่ได้นั่งอยู่กับที่เฉย ๆ


A Southwest Airlines Co. employee wears a protective mask while assisting a passenger at Los Angeles International Airport (LAX) on an unusually empty Memorial Day weekend during the outbreak of the coronavirus disease (COVID-19) in Los Angeles

ขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศเรียกร้องสายการบินให้ผู้โดยสารเช็กอินและปรินต์ตั๋วเครื่องบินและป้ายข้อมูลติดกระเป๋ามาจากบ้าน แล้วก็ใช้ระบบส่งกระเป๋าขึ้นเครื่องแบบอัตโนมัติ


ดร.จูเลียน แทง นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์และโรงพยาบาลเลสเตอร์รอยัล บอกว่า เครื่องกรอง HEPA ไม่สามารถจับละอองเสมหะที่มีเชื้อโรคโควิด-19 ได้หมด และแม้ว่าอยู่ไกลจากผู้ติดเชื้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงจะหมดไปเพราะละอองเสมหะขนาดเล็กสามารถลอยอยู่ในอากาศและเดินทางได้ไกลถึง 16 เมตร

นายดูมองต์มองว่า การป้องกันง่าย ๆ อย่างเช่นการใส่หน้ากากอนามัย และจามและไอใส่แขนตัวเองจะช่วยลดความเสี่ยงแพร่เชื้อได้ เขาเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องจัดที่นั่งบนเครื่องใหม่เพื่อรักษาระยะห่างระหว่างผู้โดยสาร

อย่างไรก็ดี ดร.แทง ไม่เห็นด้วย เขาบอกว่าหากคนนั่งติดกันแบบที่นั่งโดยสารชั้นประหยัด เมื่อมีคนไอหรือจามใกล้ ๆ เชื้อโรคจะมาถึงตัวเราก่อนที่ระบบกรองอากาศจะทำงานทัน

"หากผมขึ้นเครื่องบิน ผมจะใส่หน้ากากอนามัย" ดร.แทง กล่าว "มันกันไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็มีอะไรป้องกันบ้าง"

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association) เชื่อว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมบนเครื่องไม่จำเป็น และคนเสี่ยงติดเชื้อเวลาอยู่ในสนามบินมากกว่าอยู่บนเครื่อง

สมาคมเรียกร้องให้มีการจำกัดการใช้เวลาในสนามบิน มีการวัดอุณหภูมิผู้โดยสาร ให้ผู้โดยสารบอกข้อมูลด้านสุขภาพและเบอร์ติดต่อก่อนจะถึงที่หมายปลายทาง ให้ผู้โดยสารเช็กอินและปรินต์ตั๋วเครื่องบินและป้ายข้อมูลติดกระเป๋ามาจากบ้าน แล้วก็ใช้ระบบส่งกระเป๋าขึ้นเครื่องแบบอัตโนมัติ

 

 

Credit : https://www.bbc.com/thai/international-52861122

Visitors: 1,213,739