Super Spreader ในตำนาน ไทฟอยด์แมรี่

Super Spreader ในตำนาน ไทฟอยด์แมรี่

1. ปีค.ศ. 1883 แมรี่ มาลอน (Mary Mallon) เดินทางขึ้นเรือออกจากท่าที่ประเทศไอร์แลนด์ ในวันนั้นเธอเป็นแค่เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งในชาวไอร์แลนด์นับล้านคนที่หนีความอดอยากและหวังว่าจะไปมีชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศอเมริกา

เธอไม่รู้ตัวเลยว่า สุดท้ายการเดินทางในครั้งนั้นเป็นก้าวแรกของการเดินทางไปถูกกักขังเป็นเวลาหลายปี เธอคงคิดไม่ถึงว่า สิ่งที่เธอกำลังจะทำ จะกลายเป็นเรื่องราวเล่าขานไปทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้ เรื่องราวของเธอจะถูกเขียนไว้ในหนังสือระบาดวิทยาเกือบทุกเล่ม เพราะในวันนั้นเธอไม่ได้ขึ้นเรือไปแต่เพียงลำพัง แต่ในร่างกายของแมรี่ ยังมีเชื้อโรคที่ดุร้ายแอบซ่อนอยู่ด้วย และนี่คือเรื่องราวของ แมรี่ มาลอน หรือที่ทุกวันนี้คนจดจำเธอในชื่อ ไทฟอย์ด แมรี่

 

2. พูดถึงคำว่า “โรคไทฟอยด์” ทุกวันนี้ผมเดาว่า คนส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินชื่อ แต่ถ้าไม่ใช่คนในวงการสาธารณสุข น้อยคนนักที่จะนึกภาพออกว่าโรคนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันโรคไทฟอยด์ไม่ใช่โรคที่ได้บ่อย และไม่ใช่โรคที่เรากลัวกันอีกต่อไป

ดังนั้น ผมจะขอใช้เวลาอธิบายเกี่ยวกับโรคนี้สั้นๆ พอให้เห็นภาพนะครับว่าโรคนี้มีหน้าตาเป็นอย่างไร 

โรคไทฟอยด์เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ซัลโมเมนลลา ไทฟี่ (Salmonella typhi)

ติดต่อจากคนสู่คน ผ่านการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อเข้าไป พอเชื้อเข้าไปในร่างกายแล้วจะยังไม่มีอาการ เพราะเชื้อมีระยะเวลาฟักตัวหลายวัน อาจจะ 1-2 สัปดาห์ หรือพูดง่ายๆว่า ผ่านไปครึ่งเดือนถึงเดือนนึงแล้วจึงจะเริ่มมีอาการ ช่วงนี้เชื้อจะค่อยๆแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในทางเดินอาหาร จากนั้นก็จะเข้าสู่ท่อน้ำเหลือง ก่อนจะไปถึงเลือดในที่สุด

 

สำหรับอาการก็มีได้หลากหลาย และไม่ค่อยจำเพาะ ตั้งแต่ไข้ที่หาสาเหตุไม่ได้ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลียอาจจะมีไอแห้งๆได้อาการอาจจะรุนแรงจนมีอาการทางสมองร่วมด้วยได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว เพ้อ หรือในบางคนก็อาจไม่มีอาการเลยก็ยังได้

โรคไทฟอยด์นี้ ก่อนที่จะมีการรักษาหรือวัคซีน ถือว่าเป็นโรคอันตรายและมีอัตราการตายสูงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เป็นโรคที่ผู้คนในสังคมหวาดกลัวกันมากโรคหนึ่งและเรื่องราวที่เราจะคุยถึงกันในวันนี้เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่ยังไม่มีวิธีการรักษาใครป่วยเป็นโรคไทฟอยด์ขึ้นมา ก็ต้องแล้วแต่ดวงว่าจะมีอาการรุนแรงแค่ไหน จะรอดหรือจะตายไม่มีใครบอกได้

 

3. ปีค.ศ. 1906 นายธนาคารผู้ร่ำรวยชื่อ ชาร์ลส์ วอร์เรน (Charles Henry Warren) และครอบครัวของเขา เดินทางไปเช่าบ้านเพื่อพักผ่อนในช่วงหยุดฤดูร้อนที่ Oyster Bay เมืองลองไอส์แลนด์

หลังจากนั้นไม่นาน ครอบครัวของวอร์เรน ก็เริ่มป่วยเริ่มจากลูกสาว ตามด้วยสมาชิกคนอื่นๆในบ้าน รวมไปถึงคนงานและคนสวนอื่นๆที่มาทำงานที่บ้านในช่วงเวลานั้น

ความเดือดร้อนก็เลยตกไปที่ จอร์ช ธอมสัน (George Thompson) เจ้าของบ้านเช่าด้วย เพราะกลายเป็นว่าบ้านเช่าขนาดใหญ่ราคาแพงนี้ กลายเป็นบ้านที่ปนเปื้อนเชื้อไป โดยที่ไม่รู้ว่าแหล่งของการติดเชื้อเริ่มต้นขึ้นที่ไหน

ถ้าเขาไม่สามารถกำจัดแหล่งกำเนิดเชื้อไปได้ ธุรกิจบ้านเช่าซึ่งมีค่าดูแลมหาศาล ของเขาต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน

จอร์ช ธอมสัน จึงต้องไปจ้างจอร์ช โซเปอร์ (George Soper) ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบหาต้นตอของโรค และหวังว่าจะแก้ไขปัญหาได้

หลังจากที่โซเปอร์ ตรวจน้ำดื่ม ส้วม ถ้งขยะ บ่อน้ำทิ้ง เขาก็ไม่พบเชื้อที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคได้เลย จากนั้นเขาจึงตรวจสอบนมที่มาส่ง ตรวจตลาดขายอาหารทะเลที่แม่บ้านไปซื้อ แต่ก็ไม่พบแหล่งที่น่าจะเป็นต้นตอของเชื้อ

เขาจึงเริ่มสัมภาษณ์สมาชิกในบ้านแต่ละคน นัดสัมภาษณ์แขกที่มาเยี่ยมบ้านทุกคน ตรวจสอบรายชื่อผู้เช่าที่เคยมาเช่าบ้านหลังนี้ย้อนกลับไปหลายปี แต่ก็ยังไม่พบต้นตอที่น่าจะเป็นไปได้

ในที่สุดเขาก็พบว่ามีคนหนึ่งที่ตกสำรวจไป แมรี่ มาลอน แม่ครัวที่มารับจ้างทำอาหารให้กับครอบครัวในช่วงวันหยุด หายตัวไปโดยไม่ได้บอกใคร ประมาณ 3 สัปดาห์หลังอาการป่วยเริ่มต้นขึ้น

 

4. โรคไทฟอยด์ เป็นโรคที่เกิดในคนจน หรือระบาดในถิ่นที่อยู่อาศัยของคนจนที่อยู่ร่วมกันอย่างแออัด

การที่โรคนี้มาเกิดกับครอบครัวร่ำรวย ในบริเวณบ้านพักตากอากาศของเศรษฐี จึงเป็นเรื่องที่ผิดวิสัยอย่างมาก แม่ครัวซึ่งเป็นชนชั้นแรงงาน มาอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับคนรวย ทำอาหารให้กิน จึงเป็นคำอธิบายที่เป็นไปได้อย่างมาก

หลังจากโซเปอร์ ได้คำใบ้ว่าแม่ครัวที่เขาตามหามีลักษณะอย่างไร เขาก็เริ่มออกตามหาแม่ครัวคนนั้น โดยเริ่มแรกเขาไปที่เอเจนซี่จัดหาแม่ครัว เขาถามหา “หญิงสาววัยประมาณ 40 สูง ค่อนข้างท้วม ผมสีบลอนด์ ตาสีฟ้า ทำอาหารอร่อยแต่ไม่ค่อยสนใจเรื่องความสะอาดนัก”

จากเอเยนซี่หนึ่งสู่อีกเอเยนซี่หนึ่ง จากการสัมภาษณ์ผู้ว่าจ้างคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง โซเปอร์ค่อยๆ สะสมข้อมูลมาปะติดปะต่อว่า แมรี่ มาลอน เคยทำอาหารให้กับใครมาบ้าง เขาได้ข้อมูลการทำงานของแมรี่ย้อนหลังไปเกือบ 10 ปี

และข้อเท็จจริงหนึ่งที่แอบเผยออกมาพร้อมๆกับข้อมูลนั้นคือ ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าแมรี่จะไปทำงานที่ไหน ก็จะมีโรคไทฟอยด์ ระบาดขึ้นที่บ้านนั้น โซเปอร์เชื่อว่า เขาได้คำตอบแล้วว่า ต้นตอของโรคมาจากไหน

แต่คำถามคือ เขาจะไปตามแมรี่เจอได้ที่ไหน ?

 

5. ประมาณครึ่งปีต่อมา มีรายงานการระบาดของโรคไทฟอยด์ในครอบครัวหนึ่งที่อาศัยอยู่ในย่าน Park Avenue

การระบาดของโรคไทฟอยด์ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การระบาดของโรคในถิ่นอาศัยของคนรวยเช่นนี้ทำให้โซเปอร์ สนใจ

แม้ว่าตอนนี้งานของโซเปอร์จะสิ้นสุดลงแล้ว เขาพิสูจน์แล้วว่าโรคไม่ได้มาจากตัวบ้าน แต่เขามองว่า การตามล่าแม่ครัวที่คอยแพร่เชื้อไปทั่วเป็นสิ่งที่เขาควรจะทำ เขานึกภาพแมรี่ว่าเป็น ผู้ร้ายที่เขาต้องตามล่าตัวให้พบ แต่อีกเหตุผลที่ทำให้โซเปอร์ สนใจที่จะตามเรื่องของแมรี่ต่อ คือ เขารู้ว่ากรณีนี้เป็นกรณีพิเศษที่ไม่เคยพบมาก่อนในอเมริกา เพราะจากข้อมูลที่เขาได้มานั้น ไม่มีใครเคยเห็นแมรี่ป่วยก่อนจะก่อให้เกิดการระบาดของโรคเลย

 

นั่นแปลว่า แมรี่ มีเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในตัว แต่ไม่มีอาการป่วย หรือที่ทุกวันนี้เราเรียกว่า การเป็นพาหะนำโรค

คอนเซปต์ที่เรียกว่า พาหะ หรือ carrier นั้นเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับทั่วไปว่า ภาวะนี้มีอยู่จริง แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน โรเบิรต์ ค็อค (Robert Koch) ที่คนนับถือทั่วยุโรป จะศึกษาเรื่องนี้และยืนยันว่าพาหะ มีอยู่จริงๆ

เพราะเขาพบคนที่เคยป่วยด้วยโรคไทฟอยด์แล้วรอดชีวิตกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติแต่ยังคงแพร่เชื้อให้คนอื่นป่วยต่อได้อีกผ่านการเข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือให้สะอาด การค้นพบนี้เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเคยได้อ่านหรือเห็นผ่านตามาบ้าง

แต่ไม่ทุกคนที่ยอมรับว่า ภาวะนี้จะมีอยู่จริง มันยากที่จะทำใจเชื่อว่า เชื้อโรคที่รุนแรงอย่างโรคไทฟอยด์จะไม่ก่อให้เกิดอาการเลยได้อย่างไร

โซเปอร์เองก็เคยอ่านเจอเรื่องนี้ และเขาคิดว่าแมรี่อาจจะพาหะของโรคคนแรกที่พบในอเมริกา

 

6. ในการที่โซเปอร์จะพิสูจน์ว่าแมรี่ เป็นพาหะของโรคจริงๆ เขาต้องนำสารคัดหลั่งจากร่างกายของเธอไปตรวจหาเชื้อ

จริงอยู่ว่าหลักฐานแวดล้อมต่างๆจะบ่งว่าแมรี่เป็นต้นตอของการระบาด แต่มันก็มีข้อแย้งอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น

แม้ว่าแมรี่จะทำให้เชื้อปนเปื้อนอาหาร แต่การปรุงอาหารด้วยความร้อนจนสุกก็น่าจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

อย่างไรก็ตามมีเมนูเด็ดของแมรี่เมนูหนึ่ง ที่โซเปอร์เชื่อว่าอาจจะต้นตอของโรคระบาด

นั่นคือ ไอศครีมพีช ซึ่งเสริฟ์โดยไม่มีการผ่านความร้อนใดๆทั้งสิ้น

 

เขาจึงเดินทางไปหาแมรี่เพื่อขอปัสสาวะและอุจจาระมาตรวจ แต่ทันทีที่แมรี่ได้ยินว่าโซเปอร์ต้องการอะไร เธอก็คว้าส้อมแล้วเดินหน้าตรงเข้ามาหาโซเปอร์จึงต้องตัดสินใจวิ่งหนีออกมาในทันที อ่านมาถึงตรงนี้ ในมุมมองของคนยุคเราอาจจะมองว่าแมรี่เป็นผู้ร้ายของเรื่อง

เพราะเป็นคนที่แพร่เชื้อให้คนอื่นแล้วไม่ยอมให้ตรวจเชื้อในร่างกาย แต่ต้องเข้าใจว่าในยุคสมัยนั้น อย่างที่บอกไปก่อนหน้าว่า

การเป็นพาหะของเชื้อเป็นเรื่องใหม่ซึ่งแม้แต่ในวงการแพทย์ยังไม่คุ้นเคยดังนั้นสำหรับแมรี่ ที่เป็นคนนอกวงการ การมากล่าวหาว่าเธอแพร่เชื้อไทฟอยด์โดยที่เธอไม่ได้มีอาการป่วยเลย จึงเหมือนเป็นการมาใส่ร้ายป้ายสี นอกไปจากนี้ บรรยากาศในเมืองนิวยอร์คช่วงเวลานั้น

มีกลิ่นอายของการรังเกียจผู้อพยพชาวไอร์แลนด์กระจายไปทั่วทุกอณูของเมือง

 

 

ชาวเมืองนิวยอร์กมองว่าชาวไอร์แลนด์นับล้านที่อพยพมานี้ ทำให้เมืองเกิดชุมชมแออัด สกปรก ยากจนและเกิดโรคระบาด

เมื่อแมรี่โดนกล่าวหาว่าเป็นตัวทำให้โรคระบาด ทั้งๆที่เธอเองก็ไม่ได้ป่วย เธอจึงมองว่าโซเปอร์ เป็นพวกรังเกียจชาวไอร์แลนด์ที่เข้ามากลั่นแกล้งก็เป็นได้

 

หลังจากพลาดในรอบแรก โซเปอร์ก็พยายามเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ล้มเหลวอีกเช่นเคย สุดท้ายเขาจึงต้องไปขอความช่วยเหลือ จากสาธารณสุขเมืองนิวยอร์ก เพื่อให้เห็นว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ ทางหน่วยงานจึงส่งหมอผู้หญิงไปเจรจาแต่ก็โดนปฏิเสธ

สุดท้ายโซเปอร์จึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจเพื่อจับกุมแมรี่ส่งโรงพยาบาล หลังจากวิ่งไล่ตามอยู่หลายชั่วโมง สุดท้ายแมรี่ก็ถูกจับและส่งตัวไปคุมขังที่ เรือนจำ ขณะที่ถูกคุมขังในคุกแมรี่ก็ถูกบังคับให้นำอุจจาระและปัสสาวะมาตรวจหาเชื้อ ซึ่งปรากฎว่าตรวจไม่พบเชื้อก่อโรคไทฟอยด์ จึงมีการตรวจอีกรอบแต่ก็ยังไม่พบเชื้อ สุดท้ายในการตรวจรอบที่ 3 จึงจะพบว่าในร่างกายแมรี่มีเชื้อก่อโรคอยู่จริงๆและนี่ก็เป็นครั้งแรกที่หมอในประเทศอเมริกาได้เห็นคนที่เป็นพาหะของโรคไทฟอยด์

 

7. เป็นเวลากว่า 3 ปีที่แมรี่ถูกกักกันในโรงพยาบาล Riverside บนเกาะ North Brother island

 

ตลอดช่วงเวลานั้น แมรี่ไม่เคยมีอาการป่วยของโรคไทฟอยด์ให้เห็นเลย เธอไม่เข้าใจว่าทำไมจึงโดนกักตัว และเธอปฏิเสธที่จะเชื่อว่าเธอเป็นพาหะของโรคซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะแม้แต่ในวงการแพทย์เอง หมอจำนวนไม่น้อยก็ไม่เชื่อว่า พาหะของโรคไทฟอยด์จะมีอยู่จริง

 

เมื่อภาวะพาหะของโรคเป็นสิ่งใหม่ในวงการแพทย์อเมริกาหมอจึงไม่รู้จะปฏิบัติต่อแมรี่อย่างไรบ้าง รู้แค่ว่าถ้าปล่อยออกไปเธอจะเป็นอันตรายต่อสังคมสุดท้ายเธอจึงโดนกักตัวเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แมรี่ได้เขียนจดหมายและทำเรื่องร้องขอให้ปล่อยตัวหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ

หนังสือพิมพ์หลายๆฉบับสนใจที่จะทำข่าวหรือเขียนบทความเกี่ยวกับแมรี่จนเธอได้รับสมญานามใหม่ว่า "ไทฟอยด์ แมรี่" (Typhoid Mary)

ในที่สุด เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการกักตัวผู้ป่วยที่เป็นพาหะศาลจึงตัดสินใจปล่อยตัวแมรี่ออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นๆในสังคมอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขที่ว่า แมรี่ต้องมารายงานตัวทุก 3 เดือนและต้องเลิกทำอาชีพแม่ครัว ซึ่งเธอก็ตกลงตามนั้น แมรี่ได้กลับออกมาใช้ชีวิตอย่างอิสระอีกครั้ง เธอเปลี่ยนไปทำงานซักรีด แต่อาจจะเพราะรายได้น้อยกว่าอาชีพแม่ครัวค่อนข้างมากไม่นานนัก แมรี่ก็ไม่กลับไปรายงานตัว หลังจากนั้นก็ไม่มีใครรู้ว่าแมรี่หายไปไหน จะป่วยตายหรือมีชีวิตอยู่ไม่มีใครรู้

 

8. 5 ปีต่อมา ....

มีโรคไทฟอยด์ระบาดเกิดขึ้น ที่โรงพยาบาล Sloane Maternity Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับสตรีตั้งครรภ์และโรคทางนรีเวชวิทยา เมื่อมีการไปสืบหาต้นตอของการระบาดจึงได้พบว่าแมรี่ได้มาทำงานเป็นแม่ครัวของโรงพยาบาลในชื่อใหม่ว่า แมรี่ บราวน์

หลังจากที่แมรี่ได้รับการปล่อยตัว เธอพยายามหางานทำอยู่หลายอย่างแต่เนื่องจากที่ผ่านมาเธอทำงานเป็นแม่ครัวมาตลอด

ทำให้เธอไม่ถนัดงานด้านอื่น ทำได้ไม่ดี รายได้น้อยเกิดกว่าจะอยู่ได้ สุดท้ายเธอจึงต้องหลบหนีไปเมืองอื่น เปลี่ยนชื่อ และกลับไปทำงานเป็นแม่ครัวอีกครั้ง

แมรี่ตระเวนสมัครงานเป็นแม่ครัวด้วยชื่อปลอม ตามสถานที่ต่างๆแต่ละที่ ทำงานเป็นระยะเวลาสั้นๆแล้วก็ย้ายเมืองหรือย้ายร้านไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้ถูกตามตัวได้ง่ายซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าเธอจะย้ายไปที่ไหน โรคไทฟอยด์ก็จะไประบาดที่นั่น เป็นการยากที่จะประเมินว่าสุดท้ายมีคนติดโรคจากแมรี่ไปทั้งหมดเท่าไหร่ แม่รี่ถูกจับแล้วนำไปกักขังที่ North Brother island อีกครั้ง และนั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่แมรี่จะได้ใช้ชีวิตอิสระในสังคม

9. เรื่องราวของแมรี่ มาลอน นี้ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนที่เรียนทางระบาดวิทยาและถูกเขียนถึงในหนังสือระบาดวิทยาเกือบทุกเล่ม

เรื่องราวของแมรี่ทำให้เราเห็นความยากลำบากในการตัดสินใจของหมอและศาลว่าจะทำยังไงกับกรณีของแมรี่ดี ทุกคนรู้ว่าแมรี่เป็นภัยต่อสังคม ที่ต้องกักตัวไว้แต่ขณะเดียวกัน เธอก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะจะว่าไปแล้วแมรี่เองก็เป็นเหยื่อของโรคเช่นเดียวกัน มองในมุมของแมรี่

เธอเองไม่เข้าใจว่าเธอจะเป็นตัวแพร่โรคร้ายได้อย่างไรในเมื่อเธอไม่เคยมีอาการของโรคไทฟอยด์เลยแม้แต่น้อย แม้แต่ในวงการหมออเมริกาเอง ก็ยังมีผู้สงสัยว่าภาวะ พาหะนำโรค ที่รุนแรงอย่างไทฟอยด์จะเป็นไปได้จริงหรือ ยิ่งในยุคสมัยที่ผู้อพยพชาวไอร์แลนด์ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม มีอะไรไม่ดีเกิดขึ้นในสังคมก็จะโทษผู้อพยพไว้ก่อน

 

เธอจึงอาจมองว่านี่เป็นอีกรูปแบบของการเหยียดผู้อพยพชาวไอร์แลนด์ ในทัศนคติของวงการแพทย์ปัจจุบัน เราก็ไม่ได้มองว่าแมรี่เป็นผู้ร้ายของเรื่องซะทีเดียว แต่มองว่าเป็นข้อจำกัดของยุคสมัย ที่ทำให้เราได้เรียนหลายๆอย่าง

อย่างแรกคือ ความจำเป็นของการมีระบบที่จะคอยให้ความรู้แก่ผู้ป่วยอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าใจวิธีการปฏิบัติตัว และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้อื่น ถ้าเธอไม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ และด้วยความรู้ที่จำกัดของยุคสมัย ทำให้หมอได้แต่กักตัวแมรี่ไปเรื่อยๆ โดยที่แมรี่ก็ไม่เข้าใจนักว่าเธอจะเป็นอันตรายต่อสังคมได้อย่างไร

อย่างที่สองคือ ความจำเป็นของการให้การช่วยเหลือด้านอาชีพหรือเยียวยาด้านการเงินแก่ผู้เคราะห์ร้ายจากความเจ็บป่วย เพราะเมื่อแมรี่ได้รับอิสรภาพออกมา เธอก็พบว่า ถ้าไม่ประกอบอาชีพเดิมที่เธอถนัด เธอก็ไม่สามารถจะหาเลี้ยงตัวเองได้เพียงพอ สุดท้ายเมื่อจนตรอก เธอจึงหลบหนีและหันกลับไปประกอบอาชีพที่อันตรายต่อสังคมอีกครั้ง

ปัจจุบันนี้ผู้ป่วยที่เป็นพาหะของโรคไทฟอยด์ สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาปฏิชีวนะ ไม่มีใครที่ต้องถูกคุมขังเพียงแค่เพราะป่วยเป็นโรคติดเชื้ออีกต่อไป แมรี่โดนกักขังรอบหลังอยู่นานกว่า 15 ปี ก่อนจะป่วยจนเป็นอัมพาต อีก 6 ปีต่อมาแมรี่ มาลอน ในวัย 69 ปีก็จากโลกนี้ไปด้วย โรคปอดบวม ขณะที่โดนคุมขังตลอดชีวิตอยู่บนเกาะ

Visitors: 1,217,098